พม.ชี้ขนพม่า54ศพไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์22 .. 51 กรุงเทพธุรกิจ พม.ชี้กรณีขนพม่า 54 ศพ ไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์ เผยคุ้มครองแรงงานรอดชีวิต กันเป็นพยานสอบหาหลักฐานสาวถึงแก๊งค้ามนุษย์ พมจ. ขณะที่เครือข่ายแรงงาน 21 องค์กรรวมตัวใหญ่หน้าทำเนียบยื่น 5 ข้อเรียกร้องถึง "สมัคร" นายชาญยุทธ โฆศิรินนท์ รักษาการปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือเรื่องการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้าเมือง "กรณีแรงงานพม่า 54 คนเสียชีวิตบนรถที่เป็นตู้แช่เย็นระหว่างขนย้ายเข้าเมือง" ว่า ล่าสุดทางพัฒนาสังคม จ.ระนอง รายงานถึงผลสอบสวนเบื้องต้นพบว่าสถานการณ์ยังไม่เข้าข่ายกฎหมายค้ามนุษย์และกฎหมายแรงงานต่างด้าว แต่เกี่ยวกับกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง กฎหมายอาญาในการหลบหนีเข้าเมืองจนทำให้คนตายโดยประมาท "ที่ประชุมได้ข้อสรุปให้มีการดำเนินคดีกับผู้ทำผิดให้ชัดเจนอย่างเฉียบขาด ส่วนแรงงานต่างด้าวชาวพม่าต้องให้ความคุ้มครองให้ความเป็นธรรมตามมนุษยธรรม แต่ก็ไม่ละเว้นการลงโทษฐานหลบหนีเข้าเมือง จากนั้น สตม.จะพิจารณาส่งกลับภูมิลำเนา ทั้งนี้หากมีการสืบสวนขยายผลเข้าข่ายการค้ามนุษย์ก็สามารถดำเนินการเอาผิดทันที" นายชาญยุทธ กล่าว ด้าน พล.ต.ท.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร ผบช.สตม.กล่าวว่า การดำเนินคดีหลักๆ คือ ทางอาญาข้อหาประมาททำให้มีคนตาย โดยเฉพาะคนที่นำพามา เจ้าของยานพาหนะ ผู้ให้ที่พักพิง โดยคนขับรถเย็นเบื้องต้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ส่วนคนต่างด้าวมีความผิดหลบหนีเข้าเมือง แต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน ส่วนวันนี้เราเน้นดำเนินคดีกับผู้นำพา ส่วนคนต่างด้าวถือเป็นพยานสำคัญในการให้ข้อมูล แต่กรณีแรงงานพม่าถือว่าอยู่ระหว่างนำพาเข้าเมือง จากการให้ปากคำพยานก็ยังไม่รู้จุดหมายปลายทางว่าจะไปทำอะไร รู้แต่ว่าจะมาหางานทำ หากสอบสวนต่อพบแก๊งนี้เคยอยู่กับแก๊งค้ามนุษย์ มีการติดต่อนัดหมายค้ามนุษย์มีหลักฐานเพียงพอ ก็อาจนำไปสู่ความผิดค้ามนุษย์ซึ่งมีโทษหนักมากได้" ผบช.สตม.กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (22 เม.ย.) ผู้แทนเครือข่ายองค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ 21 องค์กรประมาณ 100 คน จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องรัฐบาลดังนี้ 1.ให้รัฐสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้ามนุษย์ของบริษัทที่พาแรงงานไป จ.ภูเก็ต รวมทั้งตรวจสอบถึงการมีส่วนรู้เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.ต้องระงับการส่งกลับแรงงานที่รอดชีวิต เพื่อให้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ จนกว่ากระบวนการเสร็จสมบูรณ์ตามกระบวนการยุติธรรม 3.รัฐบาลไทยจะต้องให้การดูแลและปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติรวมถึงครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ 4.รัฐบาลควรยุติการอ้างถึงความมั่นคง และละเลยการแก้ปัญหาที่แท้จริงของการย้ายถิ่น 5.รัฐบาลต้องเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องตามข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ |