ฉันทนาครวญค่าครองชีพสูง ค่าแรงถูกร้องรัฐปรับค่าจ้างดำรงศ์พันธ์ ใจห้าว 14 .. 51 กรุงเทพธุรกิจ "ใจจะขาดแล้วโว้ย...!!!" ยามนี้ใครไปไหนมาไหน ก็ต้องได้ยินเสียงบ่นทำนองเดียวกัน เนื่องจากเมืองไทยกำลังอยู่กับ "ยุคข้าวยาก หมากแพง" สินค้าอุปโภค บริโภคต่างพาเหรดกันขึ้นราคาสูงทุกรายการ ทั้งสบู่ ยาสีฟัน น้ำปลา น้ำตาลทราย บะหมี่ กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร น้ำมัน น้ำมันพืช หมู ปลา ไก่ ใครรู้บ้างว่า ผัดกะเพราหมูราดข้าวจานละ 40 บาท ถ้าสั่งพิเศษใส่ไข่ดาวเข้าไปด้วยตกแล้ว 45 บาท ความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำวันละไม่ถึง 200 บาท รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ทำให้ลูกจ้างหลายคนถึงกับบ่นว่า "ปีนี้จะเอาชีวิตรอดหรือเปล่า" ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อลงบัญชีรายรับรายจ่ายจะพบว่า รายจ่ายประจำวันสูงขึ้นมาก นับจากค่าอาหารสามมื้อไม่ต่ำกว่า 120 บาท ค่ารถเมล์ไปกลับวันละไม่ต่ำกว่า 50 บาท ไหนจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรหลาน ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าน้ำ ค่าไฟ สารพัด สรุปค่าใช้จ่ายมากกว่าค่าแรงที่จ่ายเพียงวันละ 195 บาท ปัญหาค่าครองชีพที่นับวันยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล ปรับเพิ่มค่าแรงให้เพื่อสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่สูง ถ้ายังมีรายได้เดือนละประมาณ 5,000 บาท คงไม่รอดแน่ๆ รติพร จันทรศรี คนงานบริษัทตัดเย็บชุดชั้นในแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ สะท้อนให้ฟังว่า ตอนนี้พวกเราเหล่าคนงานรู้สึกเครียดมาก เพราะข้าวของทุกอย่างแพงขึ้นไม่เว้นแม้แต่ข้าวสารอย่างต่ำสุดข้าวเก่ากิโลกรัมละ 25 บาท หุงมื้อเดียวก็หมดแล้ว วันหนึ่งต้องหุงอย่างน้อย 2 กิโลกรัม คิดดูว่าต้องใช้จ่ายวันหนึ่งเท่าไร "ค่าจ้างขั้นต่ำกลับได้ไม่ถึง 200 บาท ทั้งๆ ที่คนงานต่างมีภาระท่วมหัว อย่างดิฉันแม้สามีจะช่วยหาเงินด้วยการขับรถ แต่ก็มีลูก 2 คนที่กำลังเรียนหนังสือ แถมยังต้องส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่อีก ค่าจ้างที่ได้จึงไม่มีทางพอใช้ เพื่อนๆ บางคนหาทางออกด้วยการไปกู้เงินนอกระบบมาใช้ก่อน แต่ไม่มีเงินไปจ่ายถูกยึดของ เครื่องใช้ เป็นหนี้กันหลายคน น่าเป็นห่วง อยากให้รัฐบาลรีบเข้ามาแก้ไข" ไม่เพียงลูกจ้างหากอนุกรรมการฝ่ายลูกจ้างอย่าง บุญสม ทาวิกฤต อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดสระบุรี ฝ่ายลูกจ้างก็เห็นด้วยเช่นกันว่า ควรจะต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเขาบอกว่า ไม่ขึ้นค่าแรง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำสระบุรีได้เพียงวันละ 170 บาท ซึ่งเดือนหนึ่งทำงาน 22 วัน ตกแล้วได้ค่าจ้างเพียงเดือนละกว่า 5 พันบาท ซึ่งไม่พอใช้แน่ ถ้าไม่ทำงานนอกเวลา ตอนนี้ทั้งค่าข้าว ค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถโดยสารปรับเพิ่มขึ้นหมดตามค่าน้ำมัน "ทุกวันนี้ มีปัญหามาก อย่างผมอยู่สระบุรีได้วันละ 170 บาท แต่ที่ลพบุรีซึ่งอยู่ติดๆ กัน ใช้ถนนเส้นเดียวกัน ราคาสินค้าเหมือนกัน แต่เขาได้เพียงวันละ 150 บาท ผมคิดว่าคณะกรรมการค่าจ้างต้องรีบส่งสัญญาณมายังอนุจังหวัดโดยเร็ว เพื่อให้มีการปรับค่าจ้างโดยด่วน" ขณะที่ มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย บอกเช่นกันว่า ขณะนี้ ลูกจ้างแรงงานเดือดร้อนอย่างยิ่ง เพราะสินค้าอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะข้าวสาร เกลือ น้ำตาลยันน้ำปลา น้ำมันแพง ตลอดถึงค่ารถเมล์ก็ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนงานอย่างมาก ลูกจ้างทั้ง 7 สภาต้องการและเรียกร้องให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 9 บาท ไม่เช่นนั้น อยู่ไม่ได้จริงๆ "แม้แต่ข้าวสารก็ยังแย่งกันซื้อ ลูกจ้างจะอยู่ได้อย่างไร รัฐบาลเองก็พูดแค่เพียงเรื่องสินค้าแพง แต่ไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของคน ว่า จะอยู่อย่างไรเมื่อสินค้าแพง และการที่มาอ้างถึงข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่ไม่เท่ากัน 9 บาท และ 233 บาท ไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสม เมื่อดูจากเงินเฟ้อที่สูงถึง 5% ซึ่งการปรับขึ้นอีก 9 บาทนั้น เป็นตัวเลขที่เหมาะสมไม่มากเกินไป อยู่ในอัตราที่นายจ้างน่าจะรับได้" มนัส ยังยืนยันอีกว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 9 บาทเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ และต้องปรับขึ้นให้ทันเดือน พ.ค.นี้ เนื่องจากเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิจารณาเพราะทุกคนเดือดร้อนมากสินค้าทุกอย่างแพง แบกรับภาระไม่ไหวกันแล้ว แม้ว่าคณะกรรมการไตรภาคีค่าจ้างเห็นว่าไม่ควรพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ควรจะพิจารณา เพราะว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชน แม้เสียงโอดครวญจากลูกจ้างที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ท่าทีของรัฐต่อการเพิ่มค่าจ้างยังคงไม่สงบนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ซึ่งในประเด็นนี้ จุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ระบุว่า ไม่สามารถไปสั่งการได้ว่า ควรมีการปรับค่าจ้างหรือไม่ และเท่าไร เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีตัวแทนทั้งนายจ้าง และลูกจ้างร่วมกันพิจารณา "ขอให้รับรู้ว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่การมาด่าว่าเราไม่จริงใจเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ลองใช้สมองคิดดูเอาก็ได้ ว่าเราตัดสินใจเองโดยลำพังได้หรือไม่ ผมขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการดีกว่า ใครจะมาขู่อย่างไรผมไม่สน เพราะไม่เคยขอใครกิน จะมาบอกให้ขึ้นในทันทีเลยมันคงไม่ได้ ถ้านายจ้างเขาเกิดไม่พอใจบ้าง แล้วย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น ไม่ยิ่งยุ่งยากกว่าหรือ" ท่าทีของ จุฑาธวัช จะยังไม่ชัดเจน แต่โดยสรุปจากการประชุมของคณะกรรมการเห็นควรให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง เพียงแต่ยังไม่สรุปตัวเลขชัดเจนว่า จะปรับขึ้นในอัตราเท่าไร ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นเดือนมิ.ย.จะมีคำตอบ จุฑาธวัช บอกว่า ขณะนี้ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปตัวเลขอัตราการปรับเพิ่มของค่าจ้างได้ เนื่องจากขณะนี้ สถานการณ์ค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง จะเป็นฐานข้อมูลที่ต้องนำมาพิจารณาให้สอดคล้องกับความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานอย่างรีบด่วน โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ คือนางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาระบบรายได้และค่าจ้างขั้นต่ำไปหาข้อสรุปที่ชัดเจน "อยากให้ใจเย็นๆ เรื่องอย่างนี้มันมากดดันกันไม่ได้ เพราะต้องคิดให้รอบคอบ มันกระทบหลายส่วนไม่ว่าระบบเศรษฐกิจหรือนายจ้างเองก็ต้องเดือดร้อนกับการพิจารณา นอกจากนี้ ยังไม่อยากให้มาเรียกร้องเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียว เพราะขณะนี้ กระทรวงแรงงานก็กำลังประสานกับนายจ้างในเรื่องปรับสวัสดิการอื่น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการช่วยเหลือเรื่องราคาสินค้าอยู่แล้ว" ผู้ใช้แรงงานคงต้องติดตามว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ คณะกรรมการค่าจ้างกลาง จะมีการเคาะตัวเลขปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ หรือถ้าปรับขึ้น ปรับในอัตราเท่าใด ซึ่งสิ่งที่จะต้องจับตามองเป็นพิเศษคือ การอ้างข้อมูลไม่ครบถ้วนจากอนุกรรมการระดับจังหวัด จนต้องขอเลื่อนการประชุมออกไป นั่นเท่ากับการเตะถ่วง ยืดเวลาการปรับค่าจ้างขึ้นไปอีกอย่างน้อยอาจมากกว่า 1 เดือน 2 เดือน หรือ 3 เดือน ขณะที่ลูกจ้างต้องปากกัดตีนถีบ แบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน |