Thai / English

สมยศ พฤกษาเกษมสุข : วิพากษ์พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับสมน้ำหน้ากรรมกร



23 .. 51
ประชาไท

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551 กลุ่มสหพันธ์แรงงานนานาชาติกิจการเคมีภัณฑ์ พลังงาน ( ICEM Thailand ) ร่วมกับพันธมิตรสหภาพแรงงานเพื่อประชาธิปไตย (พสป.) ได้จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ที่ผ่าน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 19 ธันวาคม 2550 โดยมีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธาน พสป.เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 เป็นกฏหมายอีกหนึ่งฉบับที่คลอดออกมาในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน2549 ฉะนั้นแล้ว กฎหมายที่ไม่ได้มาจากสภาที่อ้างอิงฐานจากประชาชนก็ควรต้องถูกหยิบมาทบทวนอยู่แล้วในทางหนึ่ง อีกทางหนึ่ง มีไม่น้อยที่กฎหมายฉบับดังกล่าวถูกกล่าวขานว่า พ.ร.บ. แรงงานฉบับใหม่นี้ ดีจริง กินได้

ประชาไทจึงอยากเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้แลกเปลี่ยนทัศนะกับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและแรงงาน มาปลอกเปลือก พ.ร.บ.แรงงานฉบับใหม่ ที่ถูกกระซิบมาว่าดีจริงกินได้ ว่าเนื้อในของมันเป็นอย่างไร ในทัศนะของเขา

000

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

คงต้องถือว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 เป็นมรดกอุบาทว์จากรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นกฎหมายที่ผ่านโดยไม่มีใครรู้เรื่องเลย คนงานไม่มีส่วนร่วมรับรู้ด้วย เจ้าหน้าที่แรงงานก็ไม่รู้เรื่อง แม้กระทั่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ผมโทรไปถามว่าออกมาได้อย่างไร เขาบอกว่า “ตอนที่เขาเอากฎหมายมาพิจารณาผมเข้าห้องน้ำ พอผมกลับเข้าสู่ห้องประชุมมันโหวตผ่านแล้ว” ก็ดูเอาก็แล้วกันว่าเนื้อหามันจะเป็นอย่างไร อันนี้เป็นบทเรียนรอบที่สองใหญ่ๆ ของพวกเราที่ไม่เข็ดไม่จำกัน

ปี 2534 สุจินดา คราประยูร รัฐประหารปุ๊บก็แก้กฎหมายทันทีทันใดเลย คือเรื่องมาตรา 54 ให้ที่ปรึกษาไปจดทะเบียนที่กรมแรงงานฯ ก่อนที่จะไปช่วยกรรมกรได้ ใครไม่จดทะเบียนอยู่ๆ โผล่ไปช่วยสนับสนุน เช่น คนงานขุดเจาะเกิดว่าคุณหมอเหวงอยากไปเยี่ยม ไปให้กำลังใจ เขาก็ดำเนินคดีกับหมอเหวงได้ ติดคุก 2 ปี แต่ในทางปฏิบัติไม่เคยเกิด มีอยู่ 2-3 ราย นี่เป็นกฎหมายเผด็จการ อันที่ 2 ที่เผด็จการสุจินดา ทำไว้คือ เลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ แล้วก็แยกมา คือแยกออกจากภาคเอกชน ทำให้พวกเราอ่อนแอ สมัยสุจินดา ทนง โพธิ์อ่าน เสียชีวิต แล้วก็เป็นกรรมกรคนเดียวที่เสียชีวิตโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ จากรัฐบาล วีรชนคนอื่นที่ตายไปในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเขามีค่าชดเชยให้ แต่คุณทนงนี้ไม่ได้เพราะหายสาบสูญ และก็หายไปในปี 2534 เห็นไหมครับ แต่ว่ามีใครได้หน้าได้ตาในวันนี้และไปเหยียบศพวีรชน

กฎหมายฉบับนี้มันน่าจะชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับสมน้ำหน้าพวกกรรมกร ที่ผมอยากจะบอกว่าสมน้ำหน้าก็เพราะว่าตอนรัฐประหารครั้งแรกคนที่ผ่านประวัติศาสตร์จะรู้เรื่องความเสียหายจากการรัฐประหาร แต่แล้วหลายคนในขบวนการของเราที่วางเฉยและยินดีกับการรัฐประหารแล้วก็ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมอีกครั้งหนึ่ง ผมไปประชุมสัมมนาที่สมุทรปราการและก็เถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน แกนนำจำนวนมากบอกว่าต้องผ่าน มีผมคนเดียวในที่นั้นบอกว่าไม่ผ่าน ผมบอกไว้เลยว่าท่านผู้นำสหภาพแรงงานที่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 นี้ผมยังมีชีวิตอยู่ ผมจะดูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ผู้นำแรงงานไปเห็นชอบ และพวกเราต้องรับผิดชอบ และวันนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานหน้าตาเป็นอย่างนี้ มันเป็นมรดกตกทอดมา ไปตรวจสอบดูใครที่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ และความเสียหายในวันนี้คุณไปชี้หน้าด่าได้เลย คนพวกนี้ทำลายกรรมกรทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้นำกรรมกร ผมบอกว่าพี่ต้องรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์ และใครบ้างที่ได้ดิบได้ดีจากการรัฐประหาร ได้ดิบได้ดีคือไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ คนหนึ่งคือมนัส โกศล ได้ดิบได้ดีคือเสนอตัวเองเข้าไปเป็นวุฒิสภาคือสมศักดิ์ โกศัยสุข วันเวลามันผ่านไปมันจะบอก

แต่ทีนี้ฉบับสมน้ำหน้ากรรมกร ที่ต้องพูดแบบนี้ เพราะว่าไม่ได้ทำให้สถานการณ์แรงงานดีขึ้น ตัวอย่างเรื่องรับเหมาค่าแรงไปตัดลง 3 มาตรา มันสำคัญครับ มาตรา 5 คือนิยามของคำว่านายจ้าง[1] ถ้าคุณตัดนิยามตรงนี้ออกไป แปลว่าความเป็นนายจ้างของผู้ประกอบการนั้นไม่ต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้าง เพราะว่าพอในภาคปฏิบัติ ผมปฏิบัติผิดกฎหมายหรืออะไรก็แล้วแต่ต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงคนหนึ่ง คุณต้องไปดูก่อนว่านิยามของคำว่านายจ้างคืออะไรในเมื่อนิยามของคำว่านายจ้างถูกตัดออกไป แต่เดิมมันผูกกันไว้คำว่าลูกจ้างรับเหมาค่าแรงงานกับผู้ประกอบการเป็นนายจ้างด้วย เพราะฉะนั้น นายจ้างที่หนึ่งคือนายจ้างตัวจริงก็ต้องรับผิดชอบด้วยเพราะเขาเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่พอตัดไปปุ๊บความรับผิดชอบความเป็นนายจ้างหายไปแล้วถามว่าช่วยเหลือใคร พ.ร.บ.ฉบับนี้

สอง ต้นเดิมให้ปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันอันนี้เป็นผลจากการต่อสู้สมัยรัฐบาลพลเรือนก็คือสมัยที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรี พวกเราไปเจรจากันอย่างขะมักเขม้น กระทุ้งกระแทกหลายครั้งหลายคราเคลื่อนไหวจนกระทั่งตั้งคณะทำงานแล้วก็ได้ข้อสรุปเป็นคำพูดออกมาว่า ถ้าทำงานในลักษณะเดียวกันจริงๆ ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงโดยเท่าเทียมกันทั้งในแง่สภาพการจ้าง ระเบียบข้อบังคับ ข้อตกลงสภาพการจ้างตามกระทรวงแรงงานฯ เห็นไหมครับมันก็หมดปัญหาคือมันเท่าเทียมกันทั้งในเรื่องสภาพการจ้าง ข้อบังคับเท่ากัน และข้อตกลงก็เท่ากันชัดเจน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่กระทรวงแรงงานฯยกร่างออกมาใหม่ว่า ต้องทำงานในลักษณะเดียวกันจะได้รับการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน แต่พอไปในชั้นแปรญัตติเปลี่ยนไปอีก เป็นอันว่าปฏิบัติโดยได้รับความเป็นธรรม [2] เขียนไว้ทำไมก็ไม่รู้ เพราะในทางปฏิบัตินายจ้างบอกเป็นธรรมอยู่แล้วจบ

เพราะฉะนั้น ข้อนี้ไม่มีอะไรดีขึ้นแย่กว่าเดิม ความผิดทางอาญาของนายจ้างหายไป ความรับผิดชอบต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีต่อพนักงานเหมาค่าแรงหายไป อันเนื่องมาจากการนิยาม เพราะฉะนั้น เล่ห์เหลี่ยมของเขานักกฎหมายฝ่ายนายจ้างเขาสูงส่งสุดยอด และเราก็ตั้งตัวช้ากว่าเขา กฎหมายผ่านแล้วเราถึงมานั่งคุยกัน นายจ้างกฎหมายยังไม่ผ่านเขาก็คุยกันแล้ว ผ่านหมาดๆ เขาก็คุยกันว่าจะตั้งตัวยังไง นี่ชี้ให้เห็นง่ายๆ ถึงแง่มุมของกฏหมาย เพราะฉะนั้น เขาเอาใจนายจ้างสุดๆ บางคนดีใจตัดวงเล็บ 3 ตัดวงเล็บ 3 คือช่วยนายจ้างตัวจริง ไปโผล่มาตรา 11/1 ไม่มีความหมายเพราะมันไปช่วยให้เกิดปัญหาตามมา ต่อไปนี้โรงงานก็จะซอยเป็นแผนกเพื่อตัดตอนให้ชัดเจน เช่น แผนกสโตร์เอาไปเลยเหมาค่าแรงทั้งแผนก ถ้าเป็นประจำค่อยบี้มันออก เขาก็บอกว่าลักษณะงานเดียวกัน ต้องปฏิบัติเท่ากัน ที่นี้นายจ้างเขาก็บอกว่าต้องบีบพนักงานประจำออกแล้วเอาพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามา เพราะฉะนั้น จบครับพนักงานประจำรอวันสิ้นลมหายใจ ตายแน่นอน แล้วถ้าเกิดว่ามันซอยป็นแผนกๆ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ยิ่งไปกันใหญ่ นี่คือเรื่องรับเหมาค่าแรง

พนักงานเซลล์แมนเมื่อก่อนถ้าทำงานล่วงเวลาจะได้รับค่าล่วงเวลา ไปตัดเขาแล้วการเปลี่ยนแปลง พนักงานเซลล์แมนไม่ใช่พนักงานไม่ได้รับค่าชดเชย นี่ก็เห็นได้ชัดว่ามีการกีดกัน

ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์ กลุ่มสตรีเคยเรียกร้องว่าเนื่องจากการตั้งครรภ์ไม่ต้องทำงานล่วงเวลานี้ดี [3] เพราะดูแลสุขภาพการตั้งครรภ์มีเจตนาที่ดีมาก แต่ปัญหาคือค่าจ้างต่ำก็ไม่พอกิน ก็ไปกระทบลูกในท้องกระทบสุขภาพผู้หญิงอยู่ดี กฎหมายดีแต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เพราะค่าจ้างต่ำมาก เพราะฉะนั้นก็เลยแอบทำงานล่วงเวลา กระทรวงแรงงานใจดีกับผู้หญิงมากแต่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย แต่เราก็เห็นด้วยกับสุขภาพของผู้หญิงตั้งครรภ์ว่าไม่ควรทำงาน เราเคยเสนอและก็ยังอยากจะเสนออย่างนี้อีกก็คือว่า ขอรายได้พิเศษ เรามีการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานของเราเสนอว่า ระหว่างที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ให้รายได้พิเศษอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น สมมุติว่าคุณตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณจะมีรายได้พิเศษอีกครึ่งหนึ่งของรายได้ปกติ โดยไม่ต้องทำ โอที ซึ่งก็จะคุ้มครองรายได้ระหว่างตั้งครรภ์

เพราะฉะนั้น หญิงที่ตั้งครรภ์ก็จะมีการคุ้มครองพิเศษไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนแต่จะมีการคุ้มครองพิเศษในแง่รายได้ ข้อเสนอนี้กระทรวงไม่รับเข้าไปทั้งๆ ที่เป็นทางออกสำหรับการคุ้มครองผู้หญิงตั้งครรภ์

การละเมิดสิทธิทางเพศ คุ้มครองดีขึ้นคือไม่ก่อให้เกิดการเดือดร้อนรำคาญ[4] คือต่อไปนี้คุณไปแซวเขาก็ไม่ได้ หัวหน้างานเราเกิดความรำคาญเราฟ้องได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีความเป็นจริงเลย ไม่มีความหมายไม่มีการคุ้มครองอะไรมาก การคุกคามทางเพศมันบอกได้ชัดเลยว่าผู้ที่มีเป็นผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไป แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นข้อดีที่เห็นในเรื่องการคุ้มครองการละเมิดสิทธิทางเพศ

ที่ดีอีกอันแต่ก็ไม่ดีอะไรมากมาตรา 75 [5] เพิ่มจาก 50 เปอร์เซ็นต์ เป็น 75 เปอร์เซ็นต์แต่ปัญหามันไม่ได้ไปแก้ที่รากฐานว่าเหตุสุดวิสัยคืออะไรปัญหานี้เกิดขึ้นเหมือนเดิมอีกก็คือว่าถ้าช่วงฤดูกาลผลิตตกต่ำเขาก็ใช้มาตรา 75 ได้ แต่ที่ดีขึ้นมาคือได้จาก 50% เป็น 75% ก็ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลต่อไป แต่เดิมก่อนจะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2540 เราได้ 100% เพราะเขาถือว่าเป็นความผิดทางแพ่งของฝ่ายนายจ้างเนื่องจากว่าคุณยังจ้างงานเขาอยู่แต่คุณไม่มีงานให้เขาทำคุณต้องรับผิดชอบค่าจ้างเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ปี 2540 เห็นใจนายจ้างลดเหลือ 50% แล้ววันนี้ก็เห็นใจลูกจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 75% เป็นความเมตตาที่น่าทึ่งจริงๆ แต่ก็ดีกว่าเดิม

ส่วนเรื่องการย้ายสถานประกอบการได้ 100 เปอร์เซ็นต์นี่ก็ดีขึ้นกว่าเดิม[6] แต่ปัญหาอยู่ตรงนี้ครับคุณจะต้องไปนั่งพูดอีกว่าคุณไม่ไปสถานประกอบการแห่งใหม่เพราะเหตุว่าได้รับผลกระทบทางด้านชีวิต ความเป็นอยู่ นึกออกไหมครับคุณจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เกิดคุณเป็นโสดคุณไม่มีครอบครัวคุณพิสูจน์ไม่ได้ว่าคุณได้รับผลกระทบทางด้านครอบครัวอย่างไร เพราะฉะนั้น คุณต้องย้ายตามเขาไป แต่ถ้าเกิดคุณไม่อยากย้ายไป จะทำอย่างไร คุณต้องพิสูจน์ว่าการที่คุณไม่ย้ายไปตามบริษัท เพราะคุณได้รับผลกระทบ คุณจึงจะได้สิทธิ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามกฎหมายฉบับใหม่ แต่ถ้าเกิดคุณพิสูจน์ไม่ได้ก็ไม่ได้ มันไม่ใช่อยู่ดีๆ ได้เลย และต้องไปยื่นคำร้องต่อพนักงานสวัสดิการแรงงาน เป็นปัญหามาก เจ้าหน้าที่จะต้องมานั่งตรวจสอบว่าแต่ละคนได้รับผลกระทบอย่างไร จริงหรือไม่ สมมุติว่านายจ้างจัดรถรับส่งให้เขาบอกว่าไม่เห็นได้รับผลกระทบเลย ซึ่งมันก็มีปัญหาต้องไปนั่งตีความ คุณไม่ย้ายไปคุณก็ถูกเลิกจ้างไม่ได้รับค่าชดเชย เพราะฉะนั้น ปัญหานี้ไม่ได้ดีขึ้น แต่อาจจะดีขึ้นสำหรับคนที่เห็นชัดๆ ว่าได้รับผลกระทบ เช่นสามีทำงานอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการเหมือนกัน แต่ถ้าที่ทำงานเดียวกันก็ไปด้วยกันทั้งคู่ ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าสามีทำงานอยู่จังหวัดสมุทรปราการ แต่ตัวเองทำงานนี้และโรงงานนี้ย้ายไปปทุมแล้วลูกก็เรียนอยู่สมุทรปราการด้วยอย่างนี้อาจจะไปได้ แต่ก็ไม่ง่าย

นอกนั้นประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือปฏิบัติตามคำสั่ง แล้วก็ระงับคดีอาญา [7] ก็ไปเพิ่มช่วยให้มีความกระจ่างมากขึ้นทำให้นายจ้างมีความสบายใจขึ้น สมมุติว่าคุณก็ไปฟ้องศาลแรงงานบอกว่านายจ้างทำผิดกฎหมายแรงงาน ไม่จ่ายค่าล่วงเวลา แล้วนายจ้างบอกผมปฏิบัติแล้ว จบครับความผิดที่ผ่านมาหายไปเลย ไม่ต้องโดนดำเนินคดีอาญา แต่ถ้าเป็นของเดิม เป็นเทคนิคของพวกผมที่ใช้ในวงการแรงงาน ผมไม่เอาแพ่งผมเอาอาญาฟาดเลย ซึ่งในทางปฏิบัติก็ทำยาก คุณต้องมีทนายเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่งานนี้สมมุติว่าคุณจะไปฟ้องอาญา นายจ้างบอกกฎหมายใหม่เขาบอกว่าคุณต้องสู้ทางแพ่งก่อน พอคุณสู้ทางแพ่งปุ๊บผมปฏิบัติตามแต่สิ่งที่ผมผิดมาก็ไม่ต้องโดนคดีอาญา คุณไปใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาคุณฟ้องไม่ได้

นี่ก็เป็นภาพรวมๆ โดยทั่วไป เพราะมันผ่านออกมาเป็นกฎหมายแล้ว เว้นเสียแต่ว่า มันมีหลักคิดต่อต้านรัฐประหารแบบหมอเหวง เห็นว่าการรัฐประหารมันผิด ผิดกฎหมายอาญาด้วย ทุกวันนี้กฎหมายอาญาก็ยังมีอยู่ แต่เขาออกกฎหมายใหญ่ออกมาอีก คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 309 ให้การคุ้มครองการกระทำของพวกรัฐประหาร ก็คือโจรออกกฎหมายยกโทษให้ตัวเอง ซึ่งเราถือว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายก็ดีถือว่าเป็นผลผลิตของโจร ดังนั้น กฎหมายที่ออกมาฉบับนี้จึงเป็นกฏหมายของพวกโจร พวกเราเป็นวิญญูชน สาธุชนเราจึงไม่ยอมรับการปฏิบัติของกฎหมาย ซึ่งในทางปฏิบัติทำไม่ได้เพราะมันถูกนำมาบังคับใช้อยู่เสมอ ยกเว้นเสียแต่ว่าเราท่านทั้งหลายลุกขึ้นมาปฏิเสธ และต่อไปนี้ช่องทางกฎหมายมันจะแย่ลง และก็คับแคบ และก็เอื้อประโยชน์ให้กับนายจ้าง มันเหลือทางเดียวที่พวกเราทำได้ก็คือ ใช้กฎหมู่เท่านั้น ผมยืนยันอย่างนี้

แนวทางกฎหมู่คือทางออกที่ดี เพราะการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานในอนาคตพึ่งพาไม่ได้อีกแล้ว นี่คือตัวกฎหมายที่แย่ที่สุด กลไกรัฐยิ่งแย่ใหญ่เลย ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ตอนนี้เขาปวดหัวกับการร้องทุกข์ร้องเรียนมาก เขาจะปัดไปที่ศาลทันที เราเสียภาษีอากรเปลืองข้าวสุกต้องไปเลี้ยงพวกข้าราชการให้นั่งกินนอนกิน แล้วก็มานั่งด่าเราอีกด้วย นี่คือข้าราชการกระทรวงแรงงาน ในยุคของอำมาตยาธิปไตย

เราคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งน่าจะเสียงแข็งควบคุมการบริหารงานของข้าราชการได้ แต่ถ้าได้คุณอุไรวรรณ ( เทียนทอง ) ไม่ใช่นักการเมืองที่เสียงแข็ง นี่ก็มีปัญหาและจะสร้างความลำบากให้กับพวกเราในอนาคต แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไงก็ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการลากตั้ง หรือมาจากการรัฐประหาร

ที่ต้องเกาะติดให้ดี คือ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ซึ่งตอนนี้อยู่ที่กฎษฎีกา และสองประกันการว่างงาน ควรจะพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาการว่างงาน เรามีจริงกองทุน สี่แสนล้านบาท กลายเป็นว่าเวลาเราตกงานไปใช้สิทธิประกันการว่างงานกว่าจะได้แค่ 50 % เจ้าหน้าที่ประกันสังคมก็จะบอกว่าถ้าอยากได้เร็วก็เอา 30 % คือลาออก เพราะอะไรรู้ไหม คุณจะได้ประกันการว่างงาน 50 % คุณต้องถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้ทำความผิด เพราะฉะนั้น ปัญหาก็คือว่านายจ้างเลิกจ้างโดยมีความผิดไว้ก่อน เพราะฉะนั้น กว่าจะได้ประกันการว่างงานคดีสิ้นสุดในศาลแรงงานปีหนึ่ง คุณไปได้งานใหม่ทำเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้น กองทุนนี้ไม่มีความหมายก็คือว่ามันใช้ไม่ได้ ต้องไปแก้ไขระเบียบจาก 50% เพิ่มเป็น 80% หรือเป็น 100% 100 % มันได้แค่ค่าจ้างไม่พอยาไส้เลย ถ้า 50 % ถือเป็นการประกันการว่างงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานความเป็นคน ดำรงชีพไม่ได้ ตรงนี้ไม่ต้องรอกฎหมายเลยเป็นระเบียบแก้ไขออกมาให้ได้

ผมคิดว่ารัฐบาลใหม่น่าจะยินดีกับกระแสเรียกร้อง เพราะเขาต้องเอาใจคนจน และเขาได้รับบทเรียน การที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกก็เพราะนโยบายเอาใจคนจน ถูกผิดเป็นอีกเรื่องเราไม่เถียงกัน แต่ว่าเขามีนโยบายที่เอาใจคนรากหญ้าเพราะฉะนั้นเขาก็ได้เสียงกลับมา วันนี้เขารู้แล้วว่าในเมืองเขาขาดเสียง ถ้าวันนี้เราส่งเสียงขึ้นไปและชัดเจน ผมคิดว่าเขาจะรีบทำ เพื่อสร้างการยอมรับในหมู่ผู้ใช้แรงงาน

และอีกข้อที่น่าเรียกร้องคือค่าจ้าง คุณใช้ทฤษฎีพอเพียงมาใช้ก็ได้ ตอนนี้ทฤษฎีพอเพียงมันนำมาใช้เพื่อมอมเมาคนยากคนจน เป็นคนจนแล้วก็ขอให้พอเพียงถ้าตีความแบบนั้น หมายความว่าพวกจนเพราะใช้สุรุ่ยสุร่าย คุณลองเอาความพอเพียงมาตีความใหม่ ว่าพอเพียงหมายถึงค่าจ้างซึ่งทำให้เราดำรงชีพได้อย่างพอเพียงสำหรับตนเองและครอบครัว คุณต้องบอกว่าถ้าอยากเดินตามพระราชดำริก็ควรปฏิบัติตามทฤษฎีพอเพียงด้วยการเพิ่มค่าจ้าง ถ้าค่าจ้างวันละ 194 บาท มันไม่พอกินสำหรับตนเองและครอบครัวคุณก็ต้องเอาสองคูณร้อยเก้าสิบสี่ถึงจะเรียกว่าพอเพียงสำหรับตนเองและครอบครัว ใครที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างหรือค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราพอเพียงถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะไม่ปฏิบัติตามทฤษฎีพอเพียง หรือถ้าบางคนมองว่าไม่ดีเพราะไปอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็อ้างสิทธิความเป็นมนุษย์ของเราอย่างน้อยเป็นต้นทุนที่สำคัญของกรรมกร เวลานายทุนบอกว่าอย่าขึ้นค่าจ้างเพราะต้นทุนฉันจะสูงขึ้น พวกกรรมกรก็ต้องพูดว่าต้นทุนค่าจ้างของฉันคิดแล้ววันหนึ่งกิน 3 มื้อ มีเสื้อผ้าใส่ มีบ้านอยู่ มีครอบครัวด้วย รวมแล้วมันน่าจะ 350 บาท ถ้าต่ำกว่านี้ฉันขาดทุน ฉันจะไม่ทำงานให้พวกคุณ แต่ไม่ใช่แย่งกันไปเพื่อขอกินค่าจ้างขั้นต่ำต่ำกว่าความเป็นคน เนื่องจากเรามีต้นทุนที่แน่นอนสำหรับชีวิตของเรา ก็ลองเสนอก็น่าจะเป็นข้อเรียกร้อง ซึ่งกฎหมายใหม่ทำให้ทุเรศลงไปอีก เพราะต้องสอบถึงจะได้ค่าจ้าง เขาเรียกว่ายกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานเขาจะจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เป็นอุตสาหกรรมใหม่แล้วแต่ละอุตสาหกรรมนั้น คุณจะต้องไปสอบ[8] ผมไม่รู้ว่ากฎหมายนี้จะใช้เมื่อไหร่ แต่คิดว่าคงพร้อมกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งก็สมน้ำหน้ากรรมกรตามเคย เพราะใครที่จะกินแบบไม่ต้องมีฝีมือ คือค่าจ้างขั้นต่ำ เดิมมันคิดแค่ว่าเป็นโสดคนเดียวก็อยู่รอดไม่ต้องใช้ฝีมือเพราะเขาเอาความเป็นคนของคุณมาเป็นที่ตั้ง แต่วันนี้คุณเอาฝีมือของคุณไปวัดอีก ความเป็นคนก็ตกต่ำโดยทันที เพราะความเป็นคนถูกวัดที่ฝีมือ ไม่ได้ถูกวัดด้วยการมีชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

[1] พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง

(1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง

(2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย

(3) ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรง โดยมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานก็ดี โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย

ดูเพิ่มเติมที่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 http://www.cpd.go.th/web/coop_data/law/prb/prb01.htm

[2] พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 6 ให้เพิ่มมาตรา 11/1 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว

ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ดูเพิ่มเติมที่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 http://www.hrcenter.co.th/hrknow/พรบ270251(2).pdf

[3] พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 11 ให้เพิ่มมาตรา 39/1 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด

[4]พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 16 เดิมและให้ใช้ข้อความว่า ห้ามมิให้นายจ้างหรือผู้ซึ่งเป็นหัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง

[5]พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 15 ให้ยกเลิกความในมาตรา 75 เดิม และให้ใช้ความว่า ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

[6]พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 18 ให้ยกเลิกความในมาตรา 120 เดิม และให้ใช้ความว่า ในกรณีที่นายจ้างจะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ ในการนี้ ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่า

อัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118

[7] พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 20 ให้เพิ่มมาตรา 1241/1 ในกรณีที่นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 124 ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแล้ว การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างให้เป็นอันระงับไป

[8]ดูพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 http://www.labour.go.th/law/document/labour_protection_2551_release_3.pdf