ฉายหนังซ้ำปัญหาแรงงานข้ามชาติ กระทรวงแรงงานโชว๋วิสัยทัศน์ เดินหน้านโยบายความมั่นคง22 .. 51 ประชาไท เมื่อวันที่ 21 มี.ค. มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรภาคี ภายใต้โครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์แรงงานข้ามชาติประเทศไทย หรือโครงการฟ้ามิตร จัด การประชุมระดับชาติ: ความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สุขภาพ เรื่อง นโยบายแรงงานข้ามชาติและความเป็นอยู่ที่ดี นางวรรณา บุทเสน ผู้จัดการโครงการอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเข้ามาทดแทนแรงงานในธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งคนไทยไม่ทำ อาทิ การประมงทะเล ภาคเกษตรกรรรม อุตสาหกรรมก่อสร้าง และโรงงาน และความต้องการแรงงานก็มีมากขึ้นทุกปี ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า ในปี 2547 นายจ้างมีความต้องการแรงงานข้ามชาติกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านคนในปี 2548 และเป็น 2.3 ล้านคนในปี 2549 นอกจากนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยคาดการณ์ว่าความต้องการแรงงานไร้ฝีมือจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ระหว่างปี 2550-2555 นางวรรณา กล่าวต่อว่า ตัวเลขประมาณการของจำนวนของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่อยู่ในประเทศไทย มีมากกว่า 2 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยและได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยชั่วคราว แต่ที่ผ่านมา แนวโน้มของแรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่การจดทะเบียนนี้ลดลงเรื่อยๆ จากกว่า 849,000 คน ในปี 2547 เหลือเพียง 535,732 คน ในปี 2550 ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยังมีแรงงานจำนวนมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้มีการจดทะเบียนให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังเกิดช่องว่างในการจัดระบบแรงงาน การจ้างงาน และการบริการต่างๆ สำหรับแรงงานข้ามชาติก็ยังคงมีอยู่ แรงงานยังถูกจำกัดสิทธิ ทำให้เข้าไม่ถึงการดูแลสุขภาพ นโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาในภาวะเศรษฐกิจและความมั่นคง จนกระทั้งขาดความสมดุลในการจัดการที่สอดคล้องกันในด้านสุขภาพ วัฒนธรรม และสังคม ทำให้แรงงานข้ามชาติถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากทัศนคติ และแนวนโยบายที่เกิดขึ้น นางวรรณากล่าว รองปลัดกระทรวงแรงงานโชว์ เดินหน้านโยบายด้านความมั่นคง รับมือแรงงานข้ามชาติ ด้านนายพรชัย อยู่ประยงค์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ได้แถลงต่อรับสภาเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ในระยะ 4 ปี จะดำเนินนโยบายด้านความมั่นคง จะให้พัฒนาระบบการจัดการเพื่อแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และบุคคลที่ยังไม่มีสถานะชัดเจน โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับขบวนการลักลอบเข้าเมืองที่มีอิทธิพลสนับสนุน ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่ไม่มีสถานภาพชัดเจน ภายใต้ความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของชาติกับการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้เพื่อให้นโยบายนำไปสู่การปฏิบัติจะต้องเร่งดำเนินการให้มีระบบการจัดจ้างแรงงานข้ามชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว นอกจากนี้นายพรชัยยังได้กล่าวถึง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 4 ประการ คือ 1.กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการชำระค่าธรรมเนียมการจ้าง (Levy) เพื่อเป็นการจำกัดจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ใช่ช่างฝีมือ โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นรายคน ในอัตรา 200-600 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ซึ่งจะมีผลเป็นการจ้างงานต้องดูความจำเป็นในการใช้แรงงานเป็นหลัก 2.เพิ่มมาตรการรองรับการพัฒนาในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน โดกฎหมายเอื้อให้แรงงานต่างด้าวในรูปแบบมาทำงานแบบไปกลับ หรือเข้ามาทำงานตามฤดูกาล มาทำงานได้สะดวกมากขึ้น โดยการใช้เอกสารแทนหนังสือเดินทาง 3.กำหนดโทษให้เหมาะสมเพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีระบบจับและมีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับกับนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย อีกทั้งมีรางวัลนำจับให้ผู้แจ้งเบาะแสและเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม นอกจากนี้ในส่วนของการกำหนดห้ามคนต่างด้าวทำงานใน 39 อาชีพ จะปรับเปลี่ยนเป็นกำหนดอาชีพที่แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ ซึ่งจะยืดหยุ่นมากกว่าโดยการออกกฎกระทรวงระบุอาชีพที่ต้องการใช้แรงงานต่างด้าว 4.ตั้งกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร โดยเรียกเก็บจากแรงงานและเจ้าของสถานประกอบการเพื่อเป็นการสำรองเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศของแรงงาน แต่หากแรงงานคนใดสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้โดยออกค่าใช้จ่ายเองก็มีสิทธิของเงินที่หักเข้ากองทุนคืนได้ ทั้งนี้รายละเอียดในขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทีดีอาร์ไอชี้ ต้องปฏิบัติต่อแรงงานโดยเท่าเทียม โดยเฉพาะกับแรงงานถูกกฎหมาย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีอภิปราย เรื่อง นโยบายแรงงานข้ามชาติ : ความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ว่าการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวยึดแนวคิด 3 หลัก คือ ผสมผสานแนวคิดจากความมั่นคงของชาติ มาเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อความอยู่ดีกินดี และท้ายที่สุดที่ตามมาคือความมั่นคงตามสิทธิของมนุษย์ในด้านสังคมและสุขอนามัย ทั่งนี้การแก้ปัญหาต้องผสานทั้งสามส่วนอย่างครบถ้วน รศ.ดร.ยงยุทธกล่าวถึงแนวทางปฏิบัติในการจ้างแรงงานต่างด้าวว่า ต้องดูแลแรงงานต่างด้าวในสถานภาพเดียวกับแรงงานไทย อาทิ การคุ้มครองแรงงาน การประกันสังคม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในกลุ่มของแรงงานที่มีการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายเองต้องมีความโปร่งใส ไร้อคติ กำหนดกติกาสำหรับแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับสภาพของกิจการและสภาพแรงงาน มีการสร้างความร่วมมือกับประเทศต้นทาง เพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการจ้างงาน กำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน การจ้างแรงงานต่างด้าวต้องคำนึงถึงแนวทางของความเป็นพลเมืองซึ่งเป็นผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว หากมีความกลมกลืนและการผสมผสานจนในที่สุดอาจมีการให้สัญชาติ นอกจากนี้ การที่เรานำแรงงานมาใช้ในเชิงธุรกิจจะพิจารณาแยกจากความมั่นคงของชาติ และมองข้ามหลักสิทธิ์มนุษยชนไปไม่ได้ ทั้งนี้ในการพัฒนาคนงานต่างด้าวต้องมีแนวทางที่ชัดเจนการได้รับสิทธิทางการศึกษา การฝึกอบรม สำหรับตัวคนงาน ผู้ติดตาม หรือสมาชิกในครอบครัว ด้านนายสุทิน ชาวปากน้ำ รองประธานภาคกลาง สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานในภาคธุรกิจประมง เป็นแรงงานข้ามชาติกว่าร้อยละ 90 และมั่นใจว่าแต่ละโรงงานต้องมีการจ้างงานแรงงานผิดกฎหมาย เพื่อให้กิจการขับเคลื่อนไปได้ และในสถานะของผู้ประกอบการเองก็อยากมีแรงงานที่ถูกกฎหมาย อยากให้รัฐเปิดให้มีการทำบัตรใหม่ เพราะที่ผ่านมามีเจ้าของกิจการบางรายโดนแจ้งจับในกรณีเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวนับสิบข้อหาจนเครียดถึงขั้นฆ่าตัวตาย อีกทั้งการขึ้นทะเบียนจะเป็นการจัดการด้านความมั่นคง ควบคุมแรงงานได้ เพราะรู้ที่อาศัย สามารถติดตามตัวได้ ส่วนนายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาปลายน้ำ ซึ่งเกิดจากความไม่นิ่งของนโยบายรัฐในการจัดการแรงงานต่างด้าว และมีหลายส่วนที่เข้ามารับผิดชอบ อาทิ สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งอยู่ในส่วนภูมิภาค และสำหรับกรุงเทพฯ เองก็มี หน่วยบริการสาธารณสุข มีสภากาชาด และโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งถือว่ามีความหลากหลายมากที่สุดในระบบประกันสุขภาพ นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อมาถึงปัญหาหลักประกันสุขภาพว่า เกิดจากการที่เรามีอัตราการประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างคนไทยได้ประมาณสองพันเศษต่อคนซึ่งมากกว่าที่แรงงานต่างด้าวได้รับ แต่ก็น้อยกว่าข้าราชการ และคนที่ซื้อประกันของเอกชนที่ต้องจ่ายมากกว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถดูแลให้เท่ากันได้ ด้วยต้นทุนทางสุขภาพที่ต่างกันเหมือนนิ้วมือคนเรา และสิ่งที่สาธารณสุขทำให้ได้คือการดูแลเท่าที่ควรจะเป็น โดยดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชน เขากล่าวถึงหลักประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย และผู้ติดตาม รวมถึงกลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มคนไร้รัฐ ว่า เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมาก และต้องแก้ไขการจัดการระบบประกันสุขภาพอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะต้องรับภาระปลายน้ำเหมือนเดิม เพราะไม่มีเจ้าภาพรับไปจัดการ ด้านนายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทยกล่าวว่า ระหว่าง ความมั่นคง และ เศรษฐกิจ เป็นการยื้อกันทางนโยบายในการบริหารประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพด้วย และการเป็นนโยบายปีต่อปีเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติทำให้มองเห็นความโน้มเอียงและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างราว 2-3 ปีที่ผ่านมาในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายแรงงานข้ามชาติที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจ และเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินไปข้างหน้าทำให้มีการยอมรับว่ามีแรงงานต่างด้าว และพยายามให้มีการจดทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้ความมั่นคงเป็นตัวนำ ทำให้เกิดผลกระทบมากมายกับแรงงานข้ามชาติ เช่นในกรณีของประกาศจังหวัดต่างๆ การกวดขันจับกุม แรงงานก็ไม่ได้ต้องการที่จะไม่จดทะเบียน หรือต้องการไม่มีหลักประกันสุขภาพ แต่ต้องดูว่าสถานการณ์เอื้อแต่ไหน นายพร้อมบุญกล่าว พร้อมเสริมว่า การที่แรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยไม่ใช่การเลือกที่จะเชิญแรงงานเข้ามาหรือไม่ แต่เป็นเรื่องจำเป็นของประเทศไทย ดังนั้นจึงต้องทำให้การคุ้มครองสิทธิเกิดขึ้นกับทุกคน ส่วนในเรื่องการถูกครอบงำทางวัฒนธรรมโดยแรงงานต่างด้าวนั้น นายพร้อมบุญกล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่การจัดงานทางวัฒนธรรมของแรงงานข้ามชาติจะสามารถครอบความคิดได้ เมื่อเทียบกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น หรือเกาหลีที่เข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นจึงควรยกย่องเชิดชู ไม่ใช่ทำลายวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายไป แรงงานกว่า 2 ล้านคน ณ วันนี้ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ และด้วย พ.ร.บ. แรงงานฯ ใหม่ให้ทุกคนเข้ามาทำงานด้วยความเต็มใจ อยู่อย่างสามัคคี ไม่ใช่สร้างภัยต่อกันด้วยความหวาดระแวง นายพร้อมบุญกล่าว |