บทความ : จากไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ถึงสเต็ปสโตนส์ ลำพูน : ประชาธิปไตยของแรงงานประชา ธรรมดา 15 .. 51 ประชาไท ท่ามกลางการพัฒนาทุนนิยมไทยที่เกี่ยวพันกับระบบทุนนิยมโลกภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่ นายทุนไร้พรมแดนไม่มีสัญชาติ พร้อมที่จะขยายทุนขนย้ายทุนไปทั่วทุกแห่งหนในโลกได้อย่างเสรีเพื่อการแสวงหากำไรสูงสุด การลุกขึ้นสู้เพื่อชีวิตพื้นฐานของคนงาน ทั้งมีสหภาพแรงงานและไม่มีสหภาพแรงงานในหลายพื้นที่ของประทศไทยก็มีให้เห็นทุกหนแห่งเช่นกัน ปัจจุบัน เราเห็นการลุกขึ้นสู้ของ สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ภาคตะวันออก บริษัทอินดัสเตรียลแก๊สมีนายทุนหลักอยู่ที่เยอรมัน หรือที่รู้จักกันดีในนามของลินเด้กรุ๊ป ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกในกิจการประเภทแก๊สอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคเหนือ เขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน นั้น ก็มีการชุมนุมของ คนงานบริษัทสเต็ปสโตนส์ เป็นบริษัทประเภทกิจการด้านเจียระไนและตัดเพชร พนักงานบริษัทดังกล่าวจัดชุมนุมเพื่อชี้แจงการยื่นข้อเรียกร้องให้กับบริษัท ปรากฏการณ์การชุมนุมของคนงานในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมบางประการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมการเมืองไทย 1. การประกาศชักธงรบชุมนุมของ พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปีกหนึ่งของระบอบอำมาตยาธิปไตยกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็อ้างว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งสองฝ่ายต้องการยึดกุมผูกขาดนิยามประชาธิปไตย รัฐบาลสมัครมักอ้างว่าได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นเสียงส่วนใหญ่ให้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อนำนโยบายที่หาเสียงมาเป็นนโยบายของรัฐบาล ขณะที่พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย มักมองว่าเสียงที่ได้มาเกิดจากการซื้อเสียง คนจนถูกซื้อ คนจนโง่ ยังไม่มีความรู้ อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของนักการเมือง แน่นอนว่าในเชิงเปรียบเทียบ ความชอบธรรมในการอธิบาย ประชาธิปไตย ของรัฐบาลสมัครย่อมชอบธรรมกว่าอย่างยากที่จะปฏิเสธได้ในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสมัครก็ไม่ต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ที่มักให้ความหมายกับประชาธิปไตยเพียงการเลือกตั้งที่คับแคบ มุมมองของคนงาน ประชาธิปไตยต้องกินได้และเกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจด้วย นอกจากการมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรแล้ว และ ประชาธิปไตยของคนงาน ย่อมหมายถึงการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของคนงานด้วย เหมือนเช่นข้อเรียกร้องของคนงานบริษัทสเต็ปสโตนส์ที่ว่า ให้บริษัทฯ ปรับสภาพการจ้างงานและสภาพของการทำงาน ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เช่น ให้บริษัทปรับอัตราค่าจ้างขึ้นให้กับพนักงานทุกคน ตามส่วนต่างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศ ให้บริษัทปรับเพิ่มค่าน้ำมันจากเดิมวันละ 25 บาทเป็นวันละ 40 บาท ให้บริษัทเปลี่ยนวันหยุดจากเดิมที่หยุดในวันเสาร์ เป็นหยุดในวันอาทิตย์ เป็นต้น 2. ประชาธิปไตยของคนงาน นั้น เป็นการต้องการ มีส่วนร่วม ในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับการผลิต คนงานไม่ต้องการเป็นเพียงหุ่นยนต์ เป็นเพียงกลจักรหนึ่งของสายพานการผลิต คนงานเป็นมนุษย์ และจากการที่ บริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ได้แจ้งว่า พนักงานจะต้องเซ็นต์สัญญาจ้างใหม่โอนย้ายไปเป็นคนงานของบริษัท เอสสตรีม คอเปอร์เรชั่น มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้าง แต่คนงานกลุ่มหนึ่งไม่ยอมเซ็นเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อเขาเหล่านั้น และเห็นว่าพวกเขาควรจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ไม่ใช่ถูกผลักใสไล่ส่งไปเป็นคนงานจ้างเหมา โดยที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจแต่อย่างใด เช่นเดียวกันคนงานบริษัท สเต็ปสโตนส์ ก็มีข้อเรียกร้องการกำหนดเป้าเพชรและโบนัสเพชรก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงต้องมีการปรึกษาพูดคุยกับคณะกรรมการลูกจ้างก่อน และห้ามมิให้นายจ้างรังแก/เปลี่ยนแปลงหน้าที่ หรือ เลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้ 3. อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากรัฐประหาร จากอำนาจทหาร อำนาจอำมาตยาธิปไตย หรือมาจากการเลือกตั้ง จากนักการเมือง จากพรรคการเมือง รัฐไทยมักมีนโยบาย กฎหมายต่างๆ ที่ลำเอียง เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักเอื้อให้คนงานมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมกดดันต่อรองของคนงานได้มากกว่าในเชิงเปรียบเทียบ และรัฐบาลก็ไม่ได้คิดว่า คนงานเป็นฐานเสียงที่สำคัญ เนื่องจากคนงานไม่มีสิทธิเลือกตั้งในถิ่นฐานที่อยู่ปัจจุบัน ต้องกลับไปเลือกตั้งต่างจังหวัดบ้านเกิด นักเลือกตั้งในพื้นที่เขตคนงานจึงไม่สนใจใยดีเท่าที่ควร กระนั้น ก็ตาม แต่มิได้หมายความว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเข้ามาแก้ไขปัญหาคนงานอย่างมีความสำนึกรับผิดชอบ ขณะที่บทเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยบ่งบอกว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารนั้น ได้ออกกฎหมายอย่างรวบรัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนงานอย่างที่รับรู้กัน 4. นอกจากนี้แล้ว สื่อมวลชนไทย มักไม่ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของคนงาน อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีความรู้เรื่องคนงานไม่มากนัก ตกอยู่ภายใต้วาทกรรมของรัฐไทยที่ว่า จะเสียบรรยากาศการลงทุน หรือกลัวนายทุนไม่สนับสนุนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็ตามแต่ เช่นเดียวกับคนชั้นกลางในเมืองไทย ที่เห็นดีเห็นงามกับการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้อำมาตยาธิปไตยครองเมือง และไม่ชอบการชุมนุมของคนงานคนจน เพราะจะทำให้จราจรติดขัด ทั้งๆ ที่คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยแม้จะมีเงินเดือนสูงแต่เขาไม่มีอำนาจใดๆในการทำงานอย่างมีชีวิตจิตใจเลย คนงานจึงต้องสร้างพลังคนงานจัดตั้งกันเองเพื่อชีวิตที่ดีกว่าและอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มิใช่เป็นเพียงปัจจัยการผลิตย่างที่นายทุนกำหนดให้ |