Thai / English

แรงงานพบป้าอุ เสนอการบ้านที่รัฐบาลควรทำ



05 .. 51
ประชาไท

วานนี้ (4 มี.ค.) เวลา 15.00น. ที่กระทรวงแรงงาน วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยแรงงานจากเครือข่ายต่างๆ กว่า 50 คน เข้าพบ อุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของแรงงานกลุ่มต่างๆ

ดัน ‘เลือกตั้ง บอร์ด สปส.’

วิไลวรรณ ได้เรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม โดยให้กรรมการไตรภาคีมาจากการเลือกตั้ง โดยใช้อัตราส่วนสมาชิกสหภาพแรงงาน 50 คน ต่อ 1 เสียง และต้องเปิดโอกาสให้กรรมการของสหภาพแรงงานทุกแห่งมีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง รวมทั้งต้องคำนึงถึงสัดส่วนหญิงชายในคณะกรรมการแต่ละคณะด้วย

นอกจากนี้ วิไลวรรณ ได้กล่าวถึงการตรวจสอบการใช้เงินกองทุนประกันสังคมในการจัดทำระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงแรงงาน เป็นเงิน 2800 ล้านบาท ว่า ที่ผ่านมา กฤษฎีกาได้มีมติ ห้ามใช้เงินของ สปส. ในการดำเนินการ แต่หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการ ก็ควรเปิดประมูลอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

ขอแพทย์คนกลางวินิจฉัยโรคเจ็บป่วยจากการทำงาน

สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานว่า ล่าสุด ทางกระแรงงานได้ให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น แต่ยังไม่มีการพูดคุยกัน ว่าจะมีรูปแบบอย่างไร

สอง สืบเนื่องจากสถาบันความปลอดภัยฯ ยังไม่เกิดขึ้น จึงมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของคนงานเยอะมาก และเนื่องจากกองทุนเงินทดแทนมีคณะกรรมการแพทย์คอยวินิจฉัยโรคจากการทำงาน เมื่อแรงงานบางคนไปโรงพยาบาล และแพทย์ได้วินิจฉัยว่า เป็นโรคจากการทำงาน แต่เมื่อมาพบคณะกรรมการแพทย์ คณะกรรมการแพทย์กลับบอกว่าไม่ใช่ ทำให้แรงงานต้องอุทธรณ์ ซึ่งใช้เวลาหลายเดือน ถ้าคณะกรรมการแพทย์ยังยืนยันว่าไม่ได้เป็นโรคจากการทำงาน ต้องเข้าสู่กระบวนของศาล ดังนั้นจึงเสนอว่า การวินิจฉัยโรคควรใช้มาตรฐานเดียวกัน ให้การวินิจฉัยเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข โดยควรมีคณะกรรมการแพทย์กลางมาเป็นคนวินิจฉัยโรค เพราะหากให้คณะกรรมการแพทย์ของกองทุนฯ วินิจฉัยจะเป็นการรวบอำนาจที่ไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังขอให้กระทรวงแรงงานสนับสนุนงบวินิจฉัยโรคแก่แรงงาน เนื่องจากที่ผ่านมา แม้จะมีการออกประกาศเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพคนงานแบบอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบัน คนงานยังไม่ได้รับตรวจแบบอาชีวศาสตร์ เพราะไม่มีเงินวินิจฉัยโรค

จี้เร่งแก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เหตุขัด รธน. 50

ชาลี ลอยสูง สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ กล่าวถึงพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ว่าใช้มาตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งใช้มา 33 ปีแล้ว ยังมีเป็นบทบัญญัติ หลักเกณฑ์และแนวทางปฎิบัติที่ไม่ทันสมัย และไม่รัดกุม ทำให้ถูกแทรกแซงจากรัฐและนายจ้าง ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงาน อีกทั้งกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไม่สอดคล้องกับมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงานและสหกรณ์ มาตรา 84 (7) การส่งเสริมให้ประชากรในวัยทำงานมีงานทำ แรงงานเด็กและสตรีได้รับการคุ้มครอง และไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) มาตรา 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว

เขา กล่าวว่า อยากให้มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เพียงฉบับเดียว โดยไม่แบ่งแยกระหว่างเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เปิดโอกาสให้จัดตั้งสหภาพได้ทุกสาขาอาชีพเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งนี้ล่าสุด กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวน พ.ร.บ. ขึ้น เมื่อ ม.ค. 50 แต่มีประชุมเพียง 2 ครั้ง หลังจากนั้นไม่มีการประชุม จึงอยากให้กำหนดระยะเวลาพิจารณา เพื่อนำร่างที่แก้ไขเข้าสภาให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้

เรียกร้องขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ

สุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผลักดันกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ผ่าน โดยที่ผ่านมา ได้ปรับให้เข้ากับของกระทรวงแรงงาน แต่ก็มีความแตกต่าง เช่น ประเด็นค่าแรงที่เป็นธรรม การดูแลเรื่องอาชีวอนามัย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบ เข้าถึงหลักประกันสังคมอย่างเดียวคือ 30 บาทฯ แต่ 30 บาทฯ ไม่มีมิติเรื่องอาชีวอนามัยในหลักประกันสุขภาพ จึงควรส่งเสริมและดูแลสุขภาพเกี่ยวกับอาชีวอนามัยของคนทำงาน โดยออกกฎระเบียบในระดับท้องถิ่น ว่าต้องดูแลเรื่องอาชีวอนามัยกับแรงงานนอกระบบด้วย นอกจากนี้ อยากได้สิทธิประโยชน์เหมือนแรงงานในระบบ เพราะงานที่รับไปทำที่บ้านก็คืองานเช่นเดียวกับที่ในระบบทำ แต่พอออกไปถึงชุมชนแล้ว กลับไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งค่าแรง สิทธิประโยชน์ จึงอยากให้รัฐบาลดูแลแรงงานนอกระบบเสมอภาคกับแรงงานในระบบ

วิพากษ์รัฐยังขาดกลไกคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

อดิศร เกิดมงคล เอ็นจีโอด้านแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า มีการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในหลายพื้นที่ เนื่องจากพวกเขาเข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครอง เพราะข้อจำกัดทางภาษา แม้หลายพื้นที่ เช่น แม่สอด สมุทรสาคร ระนอง จะมีล่าม พื้นที่ละ 2 คนแต่พอเทียบจำนวนแรงงานข้ามชาติที่มีเป็นหลักแสนแล้ว ไม่เพียงพอ และเป็นการทำงานตั้งรับ ยังไม่ได้ลงไปให้ข้อมูลเรื่องสิทธิแรงงานกับแรงงานข้ามชาติ จึงยังแก้ปัญหาไม่ได้

นอกจากนี้ ยังขาดกลไกการคุ้มครองแรงงาน แรงงานข้ามชาติยังไม่สามารถตั้งสหภาพไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ แต่แม้จะเปิดช่องให้แรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกได้ ก็ยังพบว่า หลายพื้นที่ สหภาพแรงงานที่ไปขอแก้ไขกฎระเบียบของสหภาพฯ ก็ยังทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง

อาชีพที่แรงงานข้ามชาติทำบางประเภทยังไม่ได้รับการคุ้มครองเต็มที่ เช่น แรงงานประมงทะเล ที่ออกนอกน่านน้ำไทยไป 1 ปีขึ้นไป ผู้ช่วยแม่บ้าน หรือคนรับใช้ในบ้าน ซึ่งเสี่ยงจากการถูกละเมิดจากนายจ้างสูงมาก โดยเฉพาะผู้รับใช้ที่เป็นผู้หญิง อาชีพเหล่านี้ แม้กระทรวงจะบอกว่า อยู่ระหว่างการศึกษา หรือรอการออกเป็นกฎกระทรวง แต่เรื่องเหล่านี้ก็ไม่สามารถรอการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ หากแต่ต้องมีกลไกคุ้มครองแรงงานที่ชัดเจน

การเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน แรงงานทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่เนื่องจากมีจดหมายจากสำนักงานประกันสังคม ถึงผู้ว่าราชการฯ ทุกจังหวัด เรื่องการคุ้มครองแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุในการทำงาน พบว่ามีข้อจำกัดเรื่องเอกสารแสดงตน โดยระบุว่าแรงงานต่างด้าวต้องมีหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ซึ่งในพื้นที่ไม่ถือว่า บัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าวเป็นหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ทำให้แรงงานที่มาจดทะเบียนไม่สามารถใช้กองทุนเงินทดแทนได้ เป็นการผลักภาระให้แรงงานต้องต่อสู้กับนายจ้างเอาเอง หลายครั้งนายจ้างพยายามเลี่ยงไม่จ่าย ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายคนประสบอุบัติเหตุและไม่ได้รับการชดเชย

การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเมื่อครั้งที่ผ่านมา ที่หมดอายุเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ จากที่ตั้งไว้ 5 แสนคน มาจดเพียง 5 หมื่นคน คิดว่ามาจากเหตุผล 5 ข้อหลักคือ แรงงานไม่รู้ ขั้นตอนยุ่งยาก หลายพื้นที่มีแนวทางต่างกัน ระยะเวลาที่จำกัด และมีนายหน้าเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในการจดทะเบียนแรงงาน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสูงขึ้น ทำให้แรงงานข้ามชาติมาจดทะเบียนได้น้อย การแก้ ระยะสั้น ต้องขยายเวลาการจดทะเบียนออกไปอีกสามเดือน ประชาสมัพันธ์ด้วยภาษาของแรงงานข้ามชาติ และทำให้เกิด one stop service ในบางพื้นที่ เพื่อให้สะดวกต่อการจดทะเบียน

วอนรัฐ สร้าง ‘แม่บ้าน’ เป็นอาชีพที่มีกฎหมายคุ้มครอง

ตัวแทนแรงงานไทยในต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานหญิงออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น ส่วนหนึ่งไปทำงานต่างประเทศ และประสบปัญหา และเมื่อกลับมาประเทศไทยก็ประสบอีกปัญหาหนึ่ง จึงอยากขอให้ภาครัฐจัดให้มีอาชีพรองรับแรงงานที่กลับมาทำงานที่ประเทศไทย โดยจัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ด้านการวางแผนงานการประกอบอาชีพในอนาคต ไปอบรมให้กับแรงงานในต่างประเทศ จัดศูนย์ข้อมูลอาชีพและตำแหน่งงานที่เอื้อต่อทักษะของแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีทางเลือกที่จะได้ทำงานอยู่ใกล้ครอบครัว รวมทั้งทำให้อาชีพแม่บ้านในเมืองไทย มีสัญญาการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย และมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างชัดเจน

นอกจากนี้รัฐควรหาแนวทางให้แรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ได้มีส่วนร่วมในโครงการกองทุนประกันสังคม เพราะในที่สุดแล้วแรงงานทุกคนต้องกลับมาประเทศไทย จัดตั้งองค์กรช่วยเหลือครอบครัวของแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของแรงงานในการตั้งใจทำงานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องบุตรของตน

พัธนกิจ กล่าวว่า ภาครัฐต้องกำหนดอัตราจัดเก็บค่าบริการของบริษัทจัดหางานในประเทศไทยให้ชัดเจน และมีการควบคุมการเก็บค่าบริการอย่างเข้มงวด มีกฎหมายลงโทษอย่างจริงจัง และจัดสรรงบประมาณประจำปี ให้กับกลุ่มองค์กรที่ทำงานให้กับแรงงานไทยในฮ่องกง เพื่อส่งเสริมโอกาสให้แรงงานได้ช่วยเหลือแรงงานด้วยกัน และสร้างเครือข่ายภาครัฐที่เข้มแข็ง รวมถึงมีนโยบายที่ชัดเจน ที่จะสนับสนุนแรงงานที่ออกไปทำงานยังต่างประเทศ และให้ความสำคัญในการส่งเสริมการนำเงินตราเข้าประเทศจากแรงงานเหล่านั้น

9 แรงงานถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ผู้แทนสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส กล่าวถึงกรณีสมาชิกสหภาพถูกเลิกจ้างว่า ที่ผ่านมาได้ขอจดทะเบียนเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสหภาพฯ ซึ่งได้ยื่นจดทะเบียนตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 กันยายน 50 ปัจจุบันก็ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ ซึ่งหมายถึงความล่าช้า ขัดขวางการดำเนินการของสหภาพ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า สหภาพพยายามเบี่ยงเบนประเด็นและต้องการรับลูกจ้างนอกเหนือจากพนักงานประจำมาเป็นสมาชิกสหภาพซึ่งขัดต่อกฎหมาย ทั้งที่สหภาพรับลูกจ้างจ้างเหมาเป็นสมาชิกฯ โดยอาศัยมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่ระบุว่าไม่ว่ารับงานมากี่ทอดก็ตาม แต่นายจ้างหลักก็คือนายจ้างตัวจริง จึงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องขัดขวางสิทธิการรวมตัวของลูกจ้างด้วย

ทั้งนี้ เมื่อลูกจ้างจ้างเหมาเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพไม่ได้ ทำให้อำนาจต่อรองน้อย ถูกบีบให้ ทำให้พวกเขาถูกเลิกจ้าง และเมื่อสหภาพฯ จะเข้าไปช่วยเหลือนายจ้างก็บอกว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องของสหภาพ เพราะพวกเขาเป็นสมาชิกไม่ได้

จี้ตรวจสอบความปลอดภัยในสถานประกอบการ กันซ้ำรอย

สมพร ขวัญเนตร ตัวแทนจากสหภาพแรงงานผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ประเทศไทย เล่าว่า มีการละเมิดสิทธิแรงงานของนายจ้างคือ บริษัทซียูอีแอล โดยขณะที่สหภาพฯ ยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้างงาน บริษัทได้เลือกปฎิบัติโดยจ่ายโบนัสให้กับพนักงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพ ปิดงานบางส่วน และจ้างซับคอนเทค ซึ่งหากบริษัททำเช่นนี้ ลูกจ้างจะไม่มีอำนาจต่อรอง

นายจ้างไม่ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเรื่องงานอันตราย โดยงานที่ทำเป็นงานประกอบ เชื่อม ความร้อน แต่บริษัทไม่เคยปรับปรุงแก้ไข พยายามใช้ซับคอนเทคเข้ามาทำงานจำนวนมาก

ส่วนความปลอดภัยในการทำงาน 16 ธ.ค. 50 ที่ผ่านมา มีพนักงานบริษัทซียูอีแอลเสียชีวิตจากการทดสอบแรงดันท่อ และเหตุแก๊สระเบิดในยูนิไทย มีแรงงานเสียชีวิต 3 ราย ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ว่าเกิดจากสาเหตุใด จึงอยากให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ป้าอุ เผยมีลุ้น ‘เลือกตั้งตรง บอร์ด สปส.’

อุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ ถ้าไม่ต้องใช้เงินมาก อาจใช้การเลือกตั้ง โดยใช้บัตรประกันตน แต่จะมีสุภาพสตรีอยู่ด้วยไหม ไม่รับรอง อยู่ที่ว่าผู้หญิงเราจะไปใช้สิทธิแค่ไหน ถ้าไปใช้สิทธิเยอะก็มีโอกาส

การตรวจสอบการใช้เงินกองทุนประกันสังคม กรณีจัดซื้อคอมพิวเตอร์ จะพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากตนเพิ่งเข้ามาเมื่อ 6 ก.พ. และเรื่องเกิดมาปีครึ่งแล้ว

กรณีแรงงานต่างด้าว อุไรวรรณ กล่าวว่า เพิ่งได้ยินว่ามีอาชีพนายหน้าจดทะเบียนด้วย ขณะนี้ที่เป็นปัญหาคือจดทะเบียนแล้วก็หนี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกฎหมายเอาผิดกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวไม่ถูกต้องและมีการให้รางวัลผู้ชี้จับด้วย ทั้งนี้ บางทีนายจ้างก็ปฎิบัติต่อเขาดี แต่บางทีเขาก็นิยมชมชอบอยู่แบบผิดกฎหมาย อาจจะมีแฟน แล้วก็บอกไปเยี่ยมน้องแล้วก็หายไปเลย ก็เหมือนจับปูใส่กระด้ง

ทั้งนี้ ได้ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการออกใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงงานไปตั้งที่ชายแดน เพื่อแรงงานจะได้อยู่แถวชายแดนไม่เข้ามาข้างใน

กรณีที่บอกว่ามีการล่วงละเมิด “เป็นบาปเคราะห์และกรรมเคราะห์ของคนด้วย อย่างในกรณีคนไทยที่ทำงานที่ฮ่องกง ...ที่ประสบปัญหามันมีกี่เปอร์เซ็นต์... แต่ถ้าเราพูดจากสิ่งที่ดีบ้าง เพื่อคนที่เกิดอยากจะไปทำ เขาจะได้มีกำลังใจบ้าง” อุไรวรรณกล่าวและเล่าว่า สมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานครั้งแรก เจอผู้หญิงคนหนึ่งวัยกลางคน ทำงานกับนายจ้างที่ฮ่องกง 15 ปี ส่งเงินให้พี่น้องเล่นหุ้น บางคนส่งลูกเรียนหมอ เรียนปริญญาโท บางคนที่ทำงานที่ฮ่องกง บางฤดูกาลเป็นเจ้าของบ้านเลย เพราะเจ้าของบ้านอยู่ต่างประเทศ

กรณีต้องการงานรองรับหลังจากกลับมาเมืองไทย อุไรวรรณ กล่าวว่า ถ้าเขาเป็นแม่บ้านฮ่องกงแล้ว เขายินดีทำงานในเมืองไทยในฐานะแม่บ้าน หางานไม่ยาก ถ้าคิดจะทำ ขณะนี้มีปัญหาคือเลือกงาน ไม่อยากทำงานบ้าน อย่างไรก็ตาม สบายใจได้ว่าเมื่อเป็นคนไทยด้วยกันไม่ทิ้งกัน

ผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ชี้แจงเรื่อง พ.ร.บ.สถาบันความปลอดภัยฯ ว่า ได้แยกออกเป็นสองส่วน คือ พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และพ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัยฯ เพราะความปลอดภัย เป็นเรื่องที่รอไม่ได้แล้ว จึงต้องดันออกไปก่อน แต่เรื่องสถาบันความปลอดภัยต้องพูดคุยกันอีกครั้ง เนื่องจากเกี่ยวพันกับกองทุนเงินทดแทนด้วย

ส่วนกรณีแรงงาน 9 คน ถูกเลิกจ้างและการแก้ไขข้อบังคับล่าช้า ขอไปตรวจสอบในรายละเอียดก่อน เชื่อว่าคงมีเหตุผลที่ทำให้ล่าช้า