Thai / English

เอ็นจีโอชี้แรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนน้อย เหตุขั้นตอนยุ่งยาก มีนายหน้าหาประโยชน์



25 .. 51
ประชาไท

เครือข่ายเอ็นจีโอชี้เหตุแรงงานข้ามชาติมาจดทะเบียนน้อย เพราะทั้งตัวนายจ้างและแรงงานขาดข้อมูล ขั้นตอนมีความยุ่งยาก เปิดโอกาสให้ขบวนการนายหน้าแสวงหาผลประโยชน์ แนะใช้วันสต๊อปเซอร์วิส ยืดเวลาขึ้นทะเบียน เปิดให้มีการจดทะเบียนใหม่ ควบคู่สร้างแผนแม่บทระยะยาว

หลังจากรัฐบาลเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยในช่วงแรกเน้นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เคยจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2547 แล้วไม่ได้มาต่ออายุ หรือกลุ่มที่เคยมี ทร.38/1 ให้สามารถมาขึ้นทะเบียนใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ และขอใบอนุญาตทำงานภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่จากการจดทะเบียนที่ผ่านมากลับพบว่าตัวเลขแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ที่มาขึ้นทะเบียนมีจำนวนค่อนข้างน้อย โดยประมาณการณ์ว่ามีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่สามารถมาจดทะเบียนได้

จากประเด็นดังกล่าวเครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (MWG) ชี้แจง “สาเหตุที่แรงงานข้ามชาติมาจดทะเบียนค่อนข้างน้อยมาจากหลายสาเหตุ ทั้งในเรื่องที่แรงงานข้ามชาติและนายจ้างบางส่วนไม่รู้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องการจดทะเบียน ขาดการจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์ที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องเอกสารที่แรงงานข้ามชาติจะนำมาใช้ขึ้นทะเบียนพบว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่มีเอกสารอยู่กับตัว เนื่องจากถูกนายจ้างเดิมเก็บไว้ หรือสูญหายไป และไม่สามารถจดจำข้อมูลได้ ทำให้ไม่สามารถสืบค้นข้อมูลเดิมเพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียนได้ นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าในแต่ละพื้นที่มีแนวทางในการขึ้นทะเบียนต่างกัน สร้างความสับสนให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติที่ไปขึ้นทะเบียนเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้ในหลายพื้นที่มีขบวนการนายหน้าเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในการรับดำเนินการขึ้นทะเบียนและทำใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานข้ามชาติโดยเรียกรับค่าดำเนินการในอัตราค่อนข้างสูง บางพื้นที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 6,000 – 15,000 บาทต่อคนในแต่ละขั้นตอนรวมแล้วจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าหนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป ทั้งที่ค่าใช้จ่ายจริงเพียง 3,800 บาทเท่านั้น ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงไม่มาดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน และยังนำไปสู่การจัดทำเอกสารปลอมให้แก่แรงงานข้ามชาติ”

โดยเครือข่ายเสนอให้ขยายระยะเวลาในการดำเนินการในการจัดทำ ทร.38/1 ของแรงงานข้ามชาติออกไปอีกสามเดือน ควบคู่กับการเร่งแก้ไขขั้นตอนการดำเนินขอรับ ทร.38/1 ที่เป็นปัญหาในแต่ละพื้นที่ให้เรียบร้อย สร้างแนวทางปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ให้ตรงกัน เร่งดำเนินการจัดทำประชาสัมพันธ์ให้แรงงานและนายจ้างได้รับรู้ข้อมูลการจดทะเบียน เน้นการจัดทำเอกสาร หรือสื่อที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติให้มากขึ้น พร้อมเสนอให้จัดการบริการแบบการดำเนินการให้เสร็จสิ้นในขั้นตอนเดียว (One Stop Service) เพื่อลดความยุ่งยากในการดำเนินการขอขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตของแรงงานข้ามชาติ และตัดขั้นตอนของกระบวนการนายหน้า ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนแม่บทนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาวที่สอดคล้องกับสภาพการย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้ และต้องเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการในการจัดทำแผนแม่บท

อนึ่ง เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group) ประกอบด้วย19 องค์กรพันธมิตร ซึ่งมีองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรเฉพาะด้านของสหประชาชาติ ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องสิทธิ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ