Thai / English

ปัญหาสุขภาวะแรงงาน ความมั่นคงของชีวิต กับทางแก้ที่ไม่ใช่มาตรการความมั่นคง


คิม ไชยสุขประเสริฐ รายงาน
19 .. 51
ประชาไท

“...การพัฒนาไปอย่างรวดเร็วโดยการบริหารจัดการนั้นทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมาย ที่กระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพังงา ก็คือปัญหาแรงงานต่างด้าวเถื่อนที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะแรงงานต่างด้าวเถื่อนเหล่านี้เป็นต้นเหตุ หรือเป็นแหล่งเพาะเชื้อของโรคร้ายปัญหาอื่นๆ เช่น ยาเสพติด อาชญากรรม ผู้ค้ายาเสพติดมักอาศัยแรงงานต่างด้าวให้เป็นผู้ลำเลียงหรือแฝงตัวมากับแรงงานต่างด้าว ปัญหาอาชญากรรมการลักทรัพย์ ฉกชิงวิ่งราว ปล้นทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย และฆ่าเจ้าทรัพย์ ฆ่ากันเอง มีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นประจำ

และปัญหาทางด้านสาธารณสุข ซึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นพาหะนำพาเชื้อโรคต่างๆ โดยรัฐต้องเสียงบประมาณในการรักษาในแต่ละปีจำนวนเงินไม่น้อย ถ้าลองสังเกตให้ดีตามโรงพยาบาลของรัฐส่วนมากคนป่วยจะเป็นพวกต่างด้าวเสียเป็นส่วนใหญ่ คนไทยเจ็บป่วยไข้ส่วนมากจะไม่ค่อยได้นอนเตียง ต่างด้าวจับจองกันเกือบหมดโรงพยาบาล และนอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาอีกจิปาถะตามกันมาเป็นระลอกคลื่น...”

ข้อความข้างต้นคัดมาจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แสดงเหตุผลมากมายสนับสนุนการออกประกาศของจังหวัด [1] ที่กำหนดมาตรการทางการปกครองเพื่อจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง เมื่อกลางปี 2550 และมีการออกประกาศลักษะเดียวกันในหลายจังหวัด ด้วยเหตุผลหลักคือ “ความมั่นคงโดยรวม” ซึ่งในช่วงเวลานานข้ามปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า มาตรการฯ นี้ได้ไม่ได้สร้างความมั่นคงใดๆ ขึ้นในพื้นที่ อีกทั้งยังก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความไม่ไว้วางใจที่จะบ่มเพาะปัญหาให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการห้ามแรงงานออกจากที่พักอาศัย ตั้งแต่ 2 ทุ่มถึง 6 โมงเช้า หรือด้วยการการห้ามไม่ให้ใช้หรือครอบครองจักรยานยนต์และรถยนต์ และการห้ามมิให้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือแม้กระทั่งการห้ามมิให้แรงงานข้ามชาติร่วมชุมนุมกันเกิน 5 คน

บทเรียนของปัญหาที่มีในตอนนี้ คือมุมมองอคติทางชาติพันธุ์ยังคงมีอยู่ และมันถูกนำมาใช้เพื่อกำกับการดำเนินชีวิตของ ‘คนชาติพันธุ์อื่น’ ด้วยมาตรฐานที่แตกต่างไปได้อย่างชอบธรรม…

ต้องการแรง(งาน) แต่ระแวงคน (งาน)

‘ค่าแรงถูก’ ‘แข็งแรงอดทน’ ‘ไม่เกี่ยงงานหนัก’ และ ‘ไม่เลือกงาน’ โดยเฉพาะในงานที่แรงงานไทยไม่ทำ ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้ามามีบทบาทอย่างมากในฐานะแรงงานเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในแรงงานสัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 รัฐบาลไทยเริ่มนโยบายอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มจาก ‘พม่า’ ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนไทย-พม่า หลังจากนั้นก็เปิดให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นเป็นสามสัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น จังหวัดที่มีการประกอบกิจการประมงทะเล [2] จนปัจจุบันนี้เรียกได้ว่า ‘ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติ’

จากข้อมูลขององค์กรแรงงานโลก (International Labour Organization: ILO) ระบุตัวเลขแรงงานข้ามชาติในไทยว่า มีถึง 1.8 ล้านคน ในปี 2549 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2538 (มีประมาณ 700,000 คน) พร้อมชี้ว่าแรงงานข้ามชาติมีส่วนช่วยในการทำรายได้เข้าประเทศไทยในปี 2549 ถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่พวกเขาเหล่านี้ได้รับค่าจ้างจากการทำงานเพียงแค่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น นั่นคือประมาณร้อยละ 18.1 ของรายได้ที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ทำเข้าประเทศไทย [3]

ทั้งนี้ ความต้องการแรงงานข้ามชาติของไทยมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2550 [4] เห็นชอบให้แรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มี ท.ร.38/1) ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและทำงานในประเทศไทย สามารถอยู่ในประทศได้อีกเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี เนื่องจาก TDRI ได้สำรวจพบว่ามีความต้องการแรงงานต่างด้าวอีกกว่า 600,000 คน และมีความเป็นไปได้ในการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ เพื่อรองรับในกิจการประมง และภาคอุตสาหกรรมที่ยังขาดแรงงาน

คงต้องยอมรับความจริงในข้อที่ว่า ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นเพื่อแสวงหางานทำ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก และประเทศไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการหมุนเวียนของแรงงานข้ามชาติ ทั้งในฐานะเป็นประเทศผู้ส่งออกและนำเข้าแรงงาน เมื่อความต้องการแรงงานข้ามชาติยังคงมีอยู่ เราก็ต้องอยู่ร่วมกันต่อไปเรื่อยๆ แต่จะอยู่กันอย่างไรคงเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบร่วมกัน

เมื่อสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้สร้างความหวาดระแวงต่อกันในสังคมของคนไทยและแรงงานข้ามชาติ ทั้งจากการกำหนดมาตรการทางการปกครองของจังหวัดต่างๆ ตามคำสั่งด้านความมั่นคง แรงงานข้ามชาติบางส่วนตกเป็นจำเลยของสังคมในฐานะผู้ก่อปัญหาด้านอาชญากรรมจากสื่อมวลชน ในขณะที่แรงงานบางส่วนถูก กดขี่ ขูดรีด และบ้างก็อยู่ในสถานะเหมือนเป็น “มนุษย์ที่ไร้ตัวตน” ผู้ไร้สิทธิไร้เสียง

ดังเช่นในส่วนของการรักษาพยาบาล หนึ่งในปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิต ที่ทุกคนควรมี และควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม...

การรักษาพยาบาล สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ที่โยงกับ “รัฐ” และ “เงิน”

ข้อมูลจากองค์การหมอไร้พรมแดน – เบลเยี่ยม ประจำประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินโครงการเพื่อการเข้าถึงการรักษาและป้องกันโรคทั่วไปใน จ.พังงา (จังหวัดหนึ่งที่มีการออกประกาศจังหวัด) หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ระบุว่า แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยสร้างและปรับปรุงสิ่งต่างๆ ที่ถูกทำลายไปจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเกษตร การประมง ให้ จ.พังงา กลับมาเป็นแหล่งทำรายได้ของประเทศไทยอีกครั้ง แต่พวกเขากลับไม่ได้แม้กระทั่งสิทธิในการเข้าถึงการรักษาซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ องค์การหมอไร้พรมแดนฯ ทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คือ ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง และ ต.ท่าอยู่ อ.ตะกั่วทุ่ง โดยจัดแพทย์และอาสาสมัครให้บริการตรวจรักษาสุขภาพทั่วไป และให้การศึกษาในการดูแลรักษาสุขภาพแก่แรงงาน รวมทั้งให้บริการคลินิกเคลื่อนที่ตามท่าเรือประมง สวนยางฯ และพื้นที่ก่อสร้างที่แรงงานข้ามชาติทำงานและอาศัยอยู่ โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปี ของการทำงาน ได้ทำการรักษาแรงงานข้ามชาติไปแล้วกว่า 10,000 คน

นางสาวสุขศรี เสน่หา ผู้ประสานงานโครงการเข้าถึงการรักษาในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ องค์การหมอไร้พรมแดนฯ จ.พังงา ฉายภาพความเป็นไปของการทำงานว่า แรงงานข้ามชาติในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าซึ่งเข้ามาทำงานโดยผ่านนายหน้าที่มีทั้งคนไทยและคนพม่า และปัญหาในการรักษาพยาบาล คือการไม่มีบัตรประกันสุขภาพ เนื่องจากไม่มีเอกสาร ทร 38/1 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญตามกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ ที่จะนำไปใช้ทำใบอนุญาตทำงานรวมทั้งบัตรประกันสุขภาพต่อไป สิ่งเหล่านี้ทำให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในฐานะคนนอกกฎหมาย (ไม่มี ทร 38/1) ไม่ได้รับหลักประกันในการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานด้วย

อย่างไรก็ตาม นางสาวสุขศรีได้อธิบายว่า การทำประกันสุขภาพนั้น ส่วนใหญ่โรงพยาบาลจะทำให้เพื่อนำไปใช้ขอใบอนุญาตทำงาน ทั้งนี้แรงงานไม่สามารถทำประกันสุขภาพเพียงเพื่อรับรองสิทธิในการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการทำประกันสุขภาพและใบอนุญาตทำงานรวมกันครั้งหนึ่งประมาณ 5,500 บาท ต่อคนต่อปี ถือว่าเป็นภาระสูงมากสำหรับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีการได้เฉลี่ยเพียงเดือนละประมาณ 4,000 บาท แต่หากเป็นแรงงานในภาคธุรกิจประมงจะมีรายได้ต่ำกว่าคือประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน

นอกจากค่าใช่จ่ายที่แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายต่อปีแล้ว แรงงานข้ามชาติยังถูกเก็บ ‘เบี้ยรายทาง’ จากผู้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ในอัตราเดือนละ 300-600 บาท บางพื้นที่จะมีคนเข้าไปเรียกเก็บถึงในสวนยางที่เป็นที่พัก และบางรายมีนายจ้างเป็นผู้เรียกเก็บจากแรงงานแล้วส่งต่อ โดยข่มขู่ว่า หากไม่จ่ายจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม

ในส่วนนี้เธอแสดงความเห็นว่า หากมีระบบเก็บเงินเป็นรายเดือนสำหรับการทำบัตรประกันสุขภาพ ก็จะช่วยลดภาระการซื้อบัตรประกันสุขภาพราคาแพงจากเหตุผลที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมากในครั้งเดียว หรืออาจจัดตั้งกองทุนในการรักษาพยาบาลแรงงานข้ามชาติเพื่อเป็นเงินสำหรับการรักษาพยาบาลในโรคที่บัตรประกันสุขภาพไม่ครอบคลุม หรือสำหรับคนที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพ

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลในแรงงานข้ามชาติสำหรับแรงงานข้ามชาติในทุกจังหวัดของประเทศไทย องค์การหมอไร้พรมแดนฯ ได้พยายามเสนอทางออกในการปรับปรุงการให้บริการตรวจรักษาพยาบาล โดยให้ปรับปรุงกระบวนการขึ้นทะเบียนฯ สำหรับแรงงานข้ามชาติให้มีขั้นตอนง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และมีค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนที่ไม่แพงจนเกินไป

“ทำอย่างไรให้แรงงานข้ามชาติทุกคนสามารถทำบัตรประกันสุขภาพ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับสถานภาพในการขึ้นทะเบียนฯ แรงงาน” นางสาวสุขศรี กล่าวด้วยความมุ่งหวัง

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการรักษาพยาบาล และการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ก็เป็นภาระความรับผิดชอบหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และหน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านนี้โดยตรงก็คือ กระทรวงสาธารณสุข

นโยบายกระทรวงสาธารณสุขกับการแก้ปัญหาสุขภาวะแรงงาน

นายชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงส่าธารณสุข กล่าวถึงปัญหาของนโยบายด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติว่า การที่นโยบายตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการผ่อนผันชั่วคราวเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ เป็นไปในรูปแบบปีต่อปี ทำให้โครงการต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการด้านสาธารณสุขของแรงงานไม่ต่อเนื่อง เมื่อรวมกับขั้นตอนการทำงานในระบบงานราชการ จึงทำให้กระบวนการต่างๆ ล่าช้า ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับตัวแรงงาน นายชาญวิทย์ กล่าวว่า การเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย ทำให้แรงงานเกิดความกลัว อีกทั้งยังมีปัญหาในการติดต่อสื่อสาร ในส่วนนายจ้างก็มีปัญหาเรื่องความไว้วางใจต่อแรงงานที่ต้องออกค่าใช้จ่ายล่วงหน้าเพื่อการจดทะเบียนแรงงานให้ถูกกฎหมาย และในส่วนของสถานบริการทางการแพทย์ของรัฐก็มีปัญหาทรัพยากรสาธารณสุขมีจำกัด ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากระบบหลักประกันสุขภาพที่ขาดความยืดหยุ่นกับคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งโรงพยาบาลต้องเป็นผู้แบกรับภาระในส่วนนี้

สถานการณ์ในปัจจุบันนายชาญวิทย์ยอมรับว่า ปัญหาเกี่ยวกับทัศนคติของบุคคลากรทางการแพทย์ต่อแรงงานข้ามชาติยังคงมีอยู่ โดยกล่าวว่ามีพยาบาลบางส่วนสวมหมวกสองใบ คือเป็นพยาบาล และผู้รักชาติที่จะต้องดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ แต่ก็ย้ำว่าไม่ใช่กิจทางการแพทย์ที่อยู่ๆ จะไปแจ้งความว่า มีแรงงานข้ามชาติมาทำการรักษาพยาบาล หรือมาทำคลอด เพราะระบบบริการของสถานพยาบาลมุ่งรักษาสุขภาพเป็นหลัก

“การจัดหลักประกันสุขภาพ เราคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักสิทธิมนุษยชน โดยมีมิติการดูแลสุขภาพที่มีสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับคนไทยในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค” นายชาญวิทย์กล่าว

ทั้งนี้นายชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานที่แม้ไม่ได้ลงทะเบียนแรงงานหรือไม่มีบัตรประจำตัวแรงงานก็สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพ โดยที่ไม่ต้องผ่านการลงทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้รับสิทธิในการตรวจรักษา ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคและทำให้แรงงานมีสุขภาพดีขึ้น

เมื่อมีการสอบถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของราคาบัตรประกันสุขภาพ นายชาญวิทย์กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านหลักประกันสุขภาพของไทยนั้นถูกที่สุดในโลก โดยขณะนี้ รัฐบาลจ่ายค่าหลักประกันสุขภาพของคนไทย 2,000 บาทต่อคนต่อปี สำหรับแรงงานต่างด้าวได้จัดทำระบบประกันสุขภาพโดยแรงงานต้องจ่ายในราคา 1,300 บาท รวมกับค่าบริการตรวจสุขภาพอีก 300 บาท เป็นรายคนต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่คำนวณแล้วว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ขาดทุนและแรงงานรายได้ต่ำสามารถจ่ายได้

เนื่องจากงบประมาณด้านสุขภาพของไทยในปัจจุบันลดลงจาก 5.2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เหลือ 3.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จากการใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และรัฐต้องสนับสนุนงบเพิ่มมาโดยตลอด อีกทั้งคนไทยเองก็เรียกร้องให้เพิ่มเติมการประกันสุขภาพให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายโรคไต ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณอีกกว่า 2,000 ล้าน จึงไม่มีเงินที่จะอุดหนุนเพิ่มเติมในส่วนของแรงงานต่างด้าว สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือการสนับสนุนให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งในส่วนนี้เป็นสิ่งที่นายจ้างต้องสนับสนุน

“เมื่องบประมาณด้านป้องกันประเทศเพิ่มขึ้น งบประมาณด้านสังคมและสาธารณสุขย่อมลดลง ฉะนั้นเราต้องตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้และต้องช่วยกัน” นายชาญวิทย์กล่าว

เมื่อ (คิดว่า) แรงงานข้ามชาติคือแหล่งแพร่เชื้อโรค

โรคติดต่อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ คือปัญหาหนึ่งที่พบเกี่ยวกับสุขภาวะแรงงานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนไทยที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งการปิดกันการักษาพยาบาล หรือการขับไล่ผู้ป่วยให้ออกนอกประเทศของไม่ใช่ทางแก้ของปัญหาทีดีนัก...

นางสาวสุขศรีกล่าวว่า องค์การหมอไร้พรมแดนฯ ได้ทำการเยียวยาและให้ความรู้ อาทิ โรคเอดส์ มาเลเรีย ไข้เลือดออก และวัณโรค ซึ่งวัณโรคนั้นแม้จะเป็นโรงที่รักษาหายได้ แต่ก็เป็นโรคมีอาการดื้อยามากในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพราะคนไข้ส่วนใหญ่จะรักษาไม่ครบ 6 เดือน และบ้างก็ได้รับการรักษาล่าช้า

ทั้งนี้กระบวนการในการแพร่กระจายของเชื่อโรคนั้น เกิดจากแรงงานที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และเมื่ออาการของโรครุนแรงผู้ป่วยมักคิดว่าไม่มีทางรักษา จึงเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีการดูแลรักษาโรคที่ถูกต้อง ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายในพื้นที่นั้นๆ เมื่อแรงงานวัยหนุ่มในพื้นที่ดังกล่าวเข้ามาที่มาทำงานในประเทศไทยก็จะนำเชื้อโรคเข้ามาด้วยอย่างไม่รู้ตัว เพราะในเบื้องต้นยังไม่แสดงอาการ ทั้งนี้ เมื่อร่างกายอ่อนแออาการของโรคก็จะเกิดขึ้น และสามารถเป็นพาหะแพร่กระจายโรคต่อไปได้

จากการตรวจรักษาแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ พบมีผู้ป่วยวัณโรคโดยเฉลี่ยปีละ 50 ราย ซึ่งการรักษาโรคติดต่อในกลุ่มแรงงาน ถือเป็นการดูแลไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่คนไทย นอกจากนี้ในส่วนของนายจ้างเองก็ได้แรงงานที่สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงพร้อมที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่

ดังคำพูดที่ว่า “ป้องกันเรา รักษาเขา” เพราะ ‘เราทุกคน’ ต้องอยู่ร่วมกัน อีกทั้งโรคภัยไข้เจ็บนั้นเป็นกันได้โดยไม่เลือกเชื้อชาติ

การอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นสุข ปราศจากโรคภัย ถือเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิต ที่ไม่ต้องใช้อำนาจ (ทางกฎหมาย) บีบบังคับ หรือจับตามองกันด้วยความหวาดระแวง

เก็บตกจากการลงพื้นที่... เมื่อมีมาตรการทางการปกครอง

จากการลงพื้นที่ จ.พังงา เมื่อปลายปี 50 หลังการประกาศมาตรการปกครองจังหวัด สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วสำหรับแรงงานข้ามชาติยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อพวกเขาถูกจับจ้องจากเจ้าหน้าที่รัฐและคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น

เมื่อแรงงานข้ามชาติมีบัตรประกันสุขภาพ ก็ไม่แปลกที่จะว่าแรงงานข้ามชาติเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาล แต่อุปสรรค์ของการเข้ารับการรักษาพยาบาลของพวกเขาไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เมื่อการติดต่อสื่อสารยังเป็นปัญหา การเดินทางต้องมีค่าใช้จ่าย และความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายยังคงมีอยู่ อีกทั้งภาพในมุมลบต่อพวกเขายั้งติดตาตรึงใจของคนทั่วไป ทำให้ที่ผ่านมากว่าที่คนป่วยจะตัดสินใจเข้ารับการรักษา ร่างกายของพวกเขาก็เจ็บหนักจนเกิด เยียวยา และหลายต่อหลายรายต้องเสียชีวิตด้วยเหตุผลเช่นนี้

แม้ว่า ในพื้นที่จะมีสถานพยาบาลซึ่งมีอาสาสมัครที่สามารถสื่อสารภาษาพม่าได้จะได้รับความนิยมเข้ารับการรักษาจากแรงงานข้ามชาติชาวพม่าเป็นจำนวนมาก เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์การรักษาที่ครบครัน เนื่องจากอุปสรรค์ด้านภาษา การเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการักษา อีกทั้งความกลัวที่จะถูกตำรวจจับ

จากการพูดคุย (โดยผ่านล่าม) กับแรงงานข้ามชาติชาวพม่าราว 30 คน ซึ่งประกอบอาชีพกรีดยางในสวนยางเนื้อที่นับหมื่นไร่ ของบริษัทสวนยางงานทวี ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน โดยกระจายกันอยู่ในเต็นท์ (ที่พักของกลุ่มแรงงานเป็นเพิงที่ถูกจัดไว้เป็นชุมชนย่อมๆ) 23 แห่ง พบว่าแม้แรงงานแทบทั้งหมดจะเห็นด้วยกับการทำบัตรประกันสุขภาพ เพราะจะได้รับการดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลและเสียค่าใช้จ่ายที่ถูกลง

แต่ที่นี่ยังมีการทำคลอดกันเองโดยหมอตำแย ซึ่งถือว่ามีความเสียงต่อแม่และเด็กมากกว่าการแพทย์สมัยใหม่ ในสนนราคา 4,000 บาท ซึ่งไม่ได้ต่ำไปกว่าการคลอดในโรงพยาบาลเลย แต่พวกเขาเต็มใจที่จะจ่ายด้วยเหตุผลที่ว่า

“เสียค่าใช้จ่ายเท่าๆ กัน แต่คลอดโดยหมอตำแยสามารถจ่ายเป็นงวดๆ ได้ ไม่ต้องจ่ายแล้วจ่ายเลยเหมือนที่โรงพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าคนดูแล และที่สำคัญไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาโดนตำรวจจับ...”

ถึงวันนี้ ปัญหาสุขภาวะแรงงานยังคงวนเวียน และวนเวียนอยู่ด้วยความกลัว ซึ่งการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้นไม่ได้ทำให้เกิดผลดีใดๆ ต่อการคลี่คลายปมปัญหา เพราะการดึงปมด้วยแรงกำลังที่หยาบกระด้าง เหมือนที่เราใช้มาตรการทางอำนาจแก้ไขปัญหา... ยิ่งใช้แรง ปมยิ่งแน่น จนแก้ไม่หลุด

เชิงอรรถ

[1] รายละเอียดประกาศจังหวัดพังงา http://www.mapfoundationcm.org/Thai/pangnga.html

[2] อดิศร เกิดมงคล, รายงาน: แรงงานข้ามชาติในสังคมไทย (1): การย้ายถิ่นของผู้ลี้ภัย ความผูกพันกับสังคมไทย, ประชาไท, 19 ต.ค. 50

[3] จดหมายข่าวองค์การหมอไร้พรมแดน ฉบับที่ 4

[4] จดหมายข่าวกรมจัดหางาน http://lib.doe.go.th/ebook/020400005892_0.pdf