กฎหมายเศรษฐกิจ : การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (จบ)สมพร มโนดำรงธรรม manodams@allenovery.com 09 .. 51 กรุงเทพธุรกิจ เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเรียนเรื่อง การแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน รวมถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง จะได้รับจากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ฉบับนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงบทบัญญัติอื่นๆ ที่เป็นสาระสำคัญที่เหลือของกฎหมายฉบับนี้ให้ทราบเพิ่มเติมดังนี้ 1.การห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 กำหนดห้ามนายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง แต่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ปี 2541 ไม่ได้ห้ามมิให้นายจ้างเรียกให้มีบุคคลค้ำประกัน หรือเรียกหลักทรัพย์ประกัน เช่น จำนำ จำนอง แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก้ไขข้อความเดิม จากห้ามเรียก เงินประกันการทำงานเป็นห้ามเรียกหลักประกันการทำงาน ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้น กล่าวคือนายจ้างไม่สามารถเรียกให้ลูกจ้างจัดให้มีบุคคลค้ำประกัน จำนำ จำนอง หนังสือค้ำประกันธนาคารการทำงานของลูกจ้างอีกต่อไป เว้นแต่ลูกจ้างผู้นั้นจะต้องทำงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง 2. ให้อำนาจศาลในการวินิจฉัยข้อตกลงในสัญญาจ้าง เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ลูกจ้าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ได้เพิ่มบทบัญญัติมาตรา 14/1 โดยกำหนดว่า "สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี" หลักเกณฑ์ใหม่นี้ได้นำมาจากมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 โดยนำมาใช้บังคับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างมากเกินไป โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ศาลแรงงานมีอำนาจในการอำนวยความยุติธรรมแก่ลูกจ้างโดยศาลสามารถกำหนดให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างมีผลใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง การบัญญัติกฎหมายมาตรานี้เพิ่มเติมเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างอย่างมาก เนื่องจากในสภาพการจ้างงานโดยทั่วไปนั้น ลูกจ้างไม่อยู่ในฐานะที่มีอำนาจการต่อรองกับนายจ้างอย่างเท่าเทียมกับนายจ้าง ซึ่งกฎหมายมาตรานี้จะช่วยให้ศาลสามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ลูกจ้างได้อย่างเหมาะสม 3. ให้ความคุ้มครองการกระทำล่วงเกินทางเพศต่อลูกจ้างชาย เดิมการถูกละเมิดทางเพศ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ต้องเป็นการกระทำต่อลูกจ้างหญิงหรือเด็กเท่านั้น แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ได้ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งรวมถึงลูกจ้างชายด้วย 4. การเพิ่มอัตราค่าชดเชยพิเศษให้แก่ลูกจ้าง ในกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวหรือกรณีการย้ายสถานประกอบกิจการ ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับ หากนายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิม โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน นอกจากนี้ หากนายจ้างที่ประสงค์จะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว และหากลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นจากที่เคยกำหนดไว้ในมาตรา 120 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกฎหมายใหม่กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ในกรณีถูกเลิกจ้างจากเดิมที่กำหนดให้จ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง การย้ายสถานประกอบกิจการตามมาตรานี้ จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ โรงงานจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งทั้งหมด แต่จะไม่รวมถึงกรณีที่นายจ้างย้ายลูกจ้างจากที่ทำงานแห่งหนึ่งไปทำงาน ณ สถานที่ทำงานอีกแห่งหนึ่งของนายจ้าง 5. กำหนดหน้าที่ให้นายจ้างต้องยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานเป็นประจำทุกปี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ได้เพิ่มบทบัญญัติมาตรา 115/1 โดยกำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ต้องยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเดือนมกราคมของทุกปี รวมถึงหากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและสภาพการทำงานจากที่เคยได้ยื่นไว้แล้ว นายจ้างจะต้องมีหน้าที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นหนังสือต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเดือนถัดจากที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วย การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองแรงงานในครั้งนี้ นายจ้างและลูกจ้างทั้งหลายคงต้องเตรียมปรับตัวรับกับการมีผลใช้บังคับของกฎหมายในเวลาอันใกล้นี้ต่อไป |