สัมภาษณ์ : คุยกับผู้ใช้แรงงาน บุญยืน สุขใหม่ (1) : เรามีความเป็นคนเท่ากับเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุนศรายุธ ตั้งประเสริฐ , นีรนุช เนียมทรัพย์ : สัมภาษณ์ 07 .. 51 ประชาไท ในภาวะทางการเมืองที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่อยู่ในความสนใจและเฝ้าติดตามของประชาชนทั่วไป ข่าวการเคลื่อนไหวเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานของคนงานในภาคเหนือและตะวันออกดูจะเป็นเพียงประเด็นเล็กๆ แต่สำหรับผู้ใช้แรงงานแล้ว นี่คือชีวิตและอนาคตของเขาและครอบครัว ถึงแม้ความพยายามที่จะนำนาวาคนยากไร้ไปให้ถึงฝั่งฝันดูช่างห่างไกล แต่การต่อสู้คือสัญญาณแห่งชีวิตและการไม่ยอมจำนน นี่เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของการกดขี่เอารัดเอาเปรียบทั้งจากนายทุน อำนาจรัฐในนามของ การพัฒนา และการต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ผ่านมุมมองของเขา บุญยืน สุขใหม่ คนงานเต็มเวลาของโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง แต่หลังจากเลิกงานประมาณ 5 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม เขาจะไปประจำอยู่ที่ศูนย์กลางการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาคนงานที่ประสบปัญหาได้รับค่าแรงต่ำ ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง ให้คำปรึกษาในเรื่องการบริหารงานสหภาพแรงงาน ทำสำนวนฟ้อง คำร้อง คัดค้าน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งลงไปร่วมต่อสู้ในพื้นที่ที่มีปัญหา 1.เรามีความเป็นคนเท่ากับที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็น เรามีความเป็นคนเท่ากับที่นายทุนเป็น 2.เมื่อก่อนบริษัทจะจ้างงานโดยตรง เดี๋ยวนี้รับคนงานเหมาค่าแรงผ่านบริษัทนายหน้า ซึ่งคนงานเหมาค่าแรงจะได้ค่าจ้างต่ำ สวัสดิการก็คนละระดับกัน 3.ผมพยายามให้เขาคิดว่าอำนาจการต่อรองอยู่ที่เขา เขาควบคุมการผลิตทั้งหมด ถ้าหยุดทุกอย่างจบ 4.เมื่อเกิดรัฐประหารเราได้รับผลกระทบหนักยิ่งกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ไปที่ไหน ชุมนุมที่ไหนเจอแต่กระบอกปืน
จุดเริ่มต้นในการเข้ามาร่วมต่อสู้ในขบวนการแรงงานคืออะไร ตอนผมเริ่มทำงานได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่ง เขานำหนังสือที่พ่อของเขาเก็บไว้มาให้อ่าน หนังสือที่อ่านแล้วไม่รู้สึกเบื่อและประทับใจมากที่สุดคือ เรื่อง แม่ ของ แม็กซิม กอร์กี้ โดยมี จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นผู้แปล มันสะท้อนภาพให้เราเห็นถึงความเป็นจริงของการใช้ชีวิตในโรงงาน การกดขี่ขูดรีดจากนายทุนและการใช้อำนาจเกินขอบเขตจากเจ้าหน้าที่รัฐและหัวหน้างานซึ่งเป็นคนชาติเดียวกัน และงานเขียนของ คุณอารมณ์ พงศ์พงัน เรื่อง จากเศรษฐศิริถึงบางเขน ทำให้เริ่มเข้าใจเรื่องสหภาพแรงงานว่าคืออะไร และมีวัตถุประสงค์อย่างไร และเริ่มสอบถามเพื่อนร่วมงานที่เคยทำงานในโรงงานที่มีสหภาพแรงงานมาก่อนว่ามีข้อดีข้อเสียและต้องทำอย่างไร ปลายปี 2535 ผมได้ย้ายมาทำงานที่จังหวัดระยอง ซึ่งในสมัยนั้นในภาคตะวันออกมีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพียงแห่งเดียว ได้เห็นสภาพการกดขี่ขูดรีดทั้งจากนายจ้างและผู้บังคับบัญชา จึงได้ร่วมกับเพื่อนหารือกันในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ในปี 2536 ได้ตั้งสหภาพแรงงานขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดระยอง ปี 2536-2538 เข้าร่วมเป็นกรรมการฝ่ายจัดตั้งและคุ้มครองแรงงาน สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ได้เห็นปัญหาของผู้ใช้แรงงานต่างๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ได้เห็นพฤติกรรมที่กดขี่ขูดรีดจากชนชั้นแรงงานด้วยกันโดยผู้นำองค์กรแรงงานที่ขาดอุดมการณ์ทางชนชั้น จ้องแต่จะแสวงหาผลประโยชน์และตำแหน่งให้กับตัวเอง ทำให้รู้สึกหมดศรัทธาในตัวผู้นำแรงงานในขณะนั้น จึงได้ยุติบทบาทตัวเองในฐานะผู้นำขบวนการแรงงาน ผมเริ่มงานในที่ใหม่โดยการพยายามวางรากฐานด้านสวัสดิการให้กับพนักงาน ผมทำงานในฝ่ายผลิตรู้ว่ากำลังการผลิตสูงขึ้นทุกปี และกำไรของบริษัทก็สูงขึ้นทุกปีซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนพนักงานที่มี 250 คน กับกำไรสุทธิที่ได้ต่อปีเป็นเงินกว่าพันล้านบาทเป็นกำไรที่มหาศาลมาก แต่สิ่งที่เขาให้กับพนักงานมานั้นเป็นเพียงแค่เศษเงินเท่านั้นเอง อีกทั้งการยื่นข้อเรียกร้องและกดดันโดยไม่มีองค์กรรองรับก็มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกเลิกจ้าง จึงร่วมกับเพื่อนก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาในปี 2547 หลังจากนั้นก็ได้ออกมาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันเมื่อเกิดปัญหา และเมื่ออุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมีการขยายตัวมากขึ้นการกดขี่ขูดรีดแรงงานก็ย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน คนงานต่างก็รู้สิทธิ์ของตนเองมากขึ้น ผมจึงพยายามรวมกลุ่มของสหภาพแรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกให้มีการรวมตัวกันให้ชัดเจนและช่วยเหลือกันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถ้าจะถามว่าได้รับแรงบันดาลใจจากอะไรให้เราต้องมาทำงานสาธารณะแบบนี้ คงไม่มีคำตอบให้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกกับทุกคนคือ ที่นี่คือประเทศไทย เรามีความเป็นคนเท่ากับที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็น เรามีความเป็นคนเท่ากับที่นายทุนเป็น การจัดตั้งสหภาพแรงงาน มีปฏิกิริยาจากนายจ้างอย่างไรบ้าง โดยทั่วไปเทคนิคที่นายจ้างใช้ก็คือ เลิกจ้างพนักงาน เสนอเงิน เสนอตำแหน่งให้ผู้ก่อตั้งสหภาพ หรือไม่ก็โยกย้ายกลั่นแกล้งผู้นำ อย่างที่ผมจัดตั้งสหภาพแรงงาน IT Forging เมื่อปี 47 นายจ้างก็เสนอทั้งเงิน ทั้งตำแหน่งเพื่อให้ล้มสหภาพ แต่ผมยืนยันว่าจะทำต่อ นายจ้างจึงยื่นคัดค้านว่าผมมีอำนาจในการให้คุณให้โทษพนักงานไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานพนักงานได้ อันนี้เป็นผลมาจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ที่ถูกแก้โดยประกาศ รสช.ฉบับที่ 54 ซึ่งผู้ใช้แรงงานจะถูกแบ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ระหว่างแรงงานรัฐวิสาหกิจกับเอกชน ระหว่างผู้บังคับบัญชากับพนักงาน หลายคนบอกว่าเป็นชัยชนะที่คุ้มค่าของการกระทำรัฐประหารของ รสช.(23กุมภาพันธ์2534) เป็นการแบ่งแยกแล้วปกครองทำให้ขบวนการแรงงานขาดความเข้มแข็ง ผมถูกจัดอยู่ในระดับผู้บังคับบัญชาจึงไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานร่วมกับพนักงานได้ทั้งที่เราเป็นผู้ใช้แรงงานเหมือนกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดยึดตามคำคัดค้านของนายจ้างจึงถอนทะเบียนสหภาพแรงงาน ทำให้สหภาพแรงงานล้ม หลังจากนั้น ผมกับเพื่อนคนงานก็ยื่นจดทะเบียนพร้อมกัน 2 สหภาพ คือ สหภาพแรงงานพนักงานไอทีเอฟ และสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาไอทีเอฟ แต่ตรงนี้ก็เป็นปัญหาในเรื่องอำนาจต่อรอง คือแทนที่สมาชิกจะเยอะก็ไม่เยอะ เพราะถูกแบ่งโดยกฎหมายทั้งปริมาณและคุณภาพ เวลาสหภาพแรงงานพนักงานจะยื่นข้อเรียกร้อง ผมก็เข้าไปสนับสนุนไม่ได้ กฎหมายไม่คุ้มครอง ถ้าจะเอาสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาไปยื่นก็มีสมาชิกน้อย อำนาจการต่อรองก็ไม่มี จากนั้นผมก็ถูกกลั่นแกล้งโยกย้าย ถูกย้ายจากหัวหน้าแผนก คุมพนักงานในส่วนผลิตเป็นร้อย มานั่งบนสำนักงานเฉยๆ จนถึงทุกวันนี้ รายได้หายไปครึ่งหนึ่ง ผมฟ้องศาลแรงงานภาค 2 คิดว่าความยุติธรรมจะมีจริง แต่ศาลก็ไกล่เกลี่ยประนีประนอมให้ยอมๆ กันไป เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ ฟังแล้วดูดีนะแต่แท้ที่จริงแล้วคือการบอกให้เรายอมรับการกลั่นแกล้งดีๆ นี่เอง โดยนายจ้างใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือให้การกลั่นแกล้งนั้นถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นเอง แล้วทำอย่างไรหากคนงานถูกนายจ้างเลิกจ้าง เราก็ต่อสู้ เพราะเรื่องก่อตั้งสหภาพแรงงาน กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นสิทธิของลูกจ้าง ห้ามมิให้เลิกจ้าง หากนายจ้างเลิกจ้างระหว่างข้อตกลงสภาพการจ้างบังคับใช้ก็ต้องพิสูจน์ที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ถ้าเลิกจ้างระหว่างยื่นข้อเรียกร้องก็ต้องพิสูจน์ที่ศาล ส่วนใหญ่เกือบทุกกรณีได้กลับเข้ามาทำงาน อย่างกรณีของสหภาพแรงงานโซนี่ที่บริษัทเลิกจ้าง 18 คน เราก็ร้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และรณรงค์ต่างประเทศให้เขากดดันด้วย นายจ้างก็เรียกกลับเข้าทำงาน ที่ไม่ได้กลับเข้าทำงานก็คือสู้ระยะเวลาไม่ไหว เพราะระหว่างเลิกจ้าง ลูกจ้างจะไม่มีค่าใช้จ่าย เราก็แก้ปัญหาเรื่องนี้โดยให้มีคนเดินเรื่องในการร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือร้องต่อศาล 2-3 คน ที่เหลือก็พากันไปขายดอกไม้ตามสหภาพแรงงานอื่นๆ หรือหางานอื่นรองรับ เพื่อให้เขามีค่าใช้จ่าย นายจ้างเองมีการรวมตัวกันบ้างมั้ย ประมาณปี 47 นายจ้างก็จัดตั้งชมรมผู้บริหารงานบุคคลของแต่ละโซนอุตสาหกรรม แบ่งเลยเป็นกลุ่มบริษัทที่มีสหภาพแรงงานกับกลุ่มบริษัทที่ไม่มีสหภาพแรงงาน เพื่อรับมือกับสหภาพแรงงานและลูกจ้าง บริษัทไหนมีสหภาพจะจัดการยังไง ซึ่งเขาก็จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ที่สำคัญมีการตั้งที่ปรึกษาชมรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้นำแรงงาน เช่น วิชัย โถสุวรรณจินดา (อดีต ส.ว.ด้วย), สมศักดิ์ จรุงธนาภิบาล, ไพบูลย์ ธรรมสถิตมั่น หรืออย่างจรัล คงสงค์ ก็เป็นอดีตหัวหน้าแรงงานจังหวัดชลบุรี เกษียณแล้วมาตั้งบริษัทที่ปรึกษาให้นายจ้าง หาช่องว่างทางกฎหมายใช้วิธีการสกปรกกับคนงาน เช่น เลิกจ้างไว้ก่อน ถูกผิดไม่รู้ แล้วค่อยพิสูจน์สิทธิทีหลัง พวกนี้เขาจะมีบริษัทเหมาค่าแรงเป็นของตัวเอง พอเราตั้งสหภาพปุ๊บ เขาก็จะเอาเหมาค่าแรงเข้าไปทันที เหมาค่าแรงเป็นอย่างไร เมื่อก่อนบริษัทจะจ้างงานโดยตรง เดี๋ยวนี้รับคนงานเหมาค่าแรงผ่านบริษัทนายหน้า ซึ่งคนงานเหมาค่าแรงจะได้ค่าจ้างต่ำ สวัสดิการก็คนละระดับกัน อย่างพนักงานประจำจะได้เงินเดือน ได้ค่ากะกลางคืน แต่ถ้าเหมาค่าแรงจะได้แต่รายวันขั้นต่ำ ค่ากะกลางคืนอาจจะได้หรือไม่ได้แล้วแต่บริษัทเหมาค่าแรง ถ้าบริษัทนายจ้างไม่พอใจก็ส่งคืนบริษัทเหมาค่าแรงได้ เขาเอาช่องว่างของกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้ ทำให้เกิดปัญหาการจ้างงานค่อนข้างเยอะ และคนงานเหมาค่าแรงก็ไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพได้ นายจ้างอ้างว่าเป็นอุตสาหกรรมคนละประเภทกัน เพราะบริษัทเหมาค่าแรงจดทะเบียนเป็นอุตสาหกรรมบริการ ถ้ามีคนงานเหมาค่าแรงเยอะอำนาจการต่อรองของสหภาพก็ต่ำ บางที่นายจ้างก็ใช้วิธีจ้างบริษัทเหมาค่าแรง 4-5 บริษัท ทำให้การรวมตัวยากมาก สหภาพแรงงานก็อ่อนแอลง คนงานเหมาค่าแรงส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือ เป็นแรงงานมีฝีมือ แต่ทุกวันนี้งานที่ไหนก็มีแต่เหมาค่าแรงทั้งนั้นแล้ว หางานประจำยากมาก สัดส่วนของคนงานเหมาค่าแรงมากกว่าคนงานประจำด้วยซ้ำ อย่างกรณีของโซนี่ ตอนนี้มีพนักงานประจำ 1,200 คน คนงานเหมาค่าแรง 3,500 คน ตั้งสหภาพแล้วถูกเลิกจ้าง อำนาจการต่อรองแทบไม่มี คนงานที่อายุงานเยอะขึ้น นายจ้างก็ใช้วิธี early retire เช่น อายุงาน 10 ปี จะได้ค่าชดเชย 10 เดือน นายจ้างก็จะเสนอให้มากกว่ากฎหมาย ทีนี้คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าออกแล้วหางานใหม่ได้ ต้องการเงินก้อนก็ออก 2 เดือนก่อน โซนี่ก็ออกร้อยกว่าคน ถือว่าเป็นความสำเร็จของนายจ้าง เพราะคราวนี้เขาจ้างแรงงานเหมาค่าแรง เป็นการจ้างงานรายวัน สวัสดิการก็ไม่ต้องมี แล้วร้อยกว่าคนที่ออกไป จะหางานใหม่ได้มั้ย ไม่ได้ ถ้าได้ก็เป็นคนงานเหมาค่าแรง ตรงนี้ผมมองว่าเป็นปัญหาที่น่ากลัวมากของสังคมในอนาคต คนงานตื่นตัวมั้ยต่อกรณีปัญหาแรงงานเหมาค่าแรง คนงานเหมาค่าแรงส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน ถ้าคนอีสานหยุดงานโรงงานเจ๊งหมด แต่ปัญหาก็คือคนงานยังไม่รู้สิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของคนงาน เราให้ความรู้ก็ไม่ค่อยใส่ใจ แม้แต่ในสหภาพแรงงานพนักงานผมพยายามให้เขาคิดว่าอำนาจการต่อรองอยู่ที่เขา เขาควบคุมการผลิตทั้งหมด ถ้าหยุดทุกอย่างจบ แต่เขาก็ยังมีความคิดที่แตกต่าง เขาเข้าสู่วงเวียนชีวิตที่ต้องทำงานใช้หนี้ตลอดเวลา จากที่ไม่เคยมีเงิน พอทำงานได้เงินก็ใช้อย่างฟุ้งเฟ้อ ถูกหลอกล่อให้เกิดหนี้สิน เฉพาะค่าแรงขั้นต่ำไม่พอใช้หรอก ก็ต้องทำ OT เพื่อให้ได้เงินเยอะขึ้น พอทำ OT คุณภาพชีวิตก็ไม่มี เวลายื่นข้อเรียกร้องสหภาพต้องการความร่วมมือจากสมาชิกในการกดดัน เช่น งด OT นัดหยุดงาน สมาชิกก็ไม่ให้ความร่วมมือ เพราะค่าใช้จ่ายรออยู่ ก็เลยทำให้ขบวนการแรงงานโดยรวมไม่เข้มแข็ง แม้กระทั่งเราจะไปเคลื่อนใหญ่กับพี่น้องส่วนกลาง ผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายเหมาค่าแรง ซึ่งเป็นกฎหมายทาสยุคใหม่ ทุกคนเห็นว่าไม่ดี แต่ก็ไม่ไปร่วม ตอนนี้กลุ่มฯ ภาคตะวันออก ได้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องการเหมาค่าแรง เราจัดอบรมให้แกนนำสหภาพแรงงานเข้าใจแล้วไปถ่ายทอดให้แรงงานเหมาค่าแรง สนับสนุนให้รวมกลุ่มกันมากขึ้น ตั้งสหภาพแรงงานเหมาค่าแรง ประสานให้ยื่นข้อเรียกร้องร่วมกับสหภาพแรงงานพนักงาน นายจ้างก็ปรับกลยุทธใช้ช่องว่างของกฎหมาย ยุบบริษัท แล้วเปิดบริษัทใหม่ ย้ายพนักงานไป สวัสดิการ อายุงานก็เริ่มต้นใหม่ ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา เราเคลื่อนคนเข้ากรุงเทพฯ เพื่อผลักดันให้แก้ไขกฎหมายพวกนี้เยอะมาก แต่หลัง 19 กันยา เราเคลื่อนแทบไม่ได้ แกนนำถูกสันติบาลตามติดตลอด ก่อน 19 กันยา เครือข่ายของเรามีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร เราทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นพันธมิตรกัน เห็นเหมือนกันเรื่องไม่ต้องการรัฐบาลทักษิณ เพราะเป็นรัฐบาลนายทุน เราไม่เคยได้อะไรจากรัฐบาลทักษิณ พยายามยื่นข้อเรียกร้องไม่รู้กี่ครั้ง หน้าทำเนียบก็ไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้อย่างที่คาดหวัง ที่เห็นต่างคือเรื่องคืนพระราชอำนาจ และเรียกให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร แต่เมื่อสมานฉันท์แรงงานมีมติเข้าร่วม เราก็ไปร่วมตลอด หลัง 19 กันยา เจออะไรบ้าง ปกติช่วงสิงหาถึงพฤศจิกาเป็นฤดูยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน แต่เมื่อเกิดรัฐประหารเราได้รับผลกระทบหนักยิ่งกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ไปที่ไหน ชุมนุมที่ไหนเจอแต่กระบอกปืน พูดไม่ได้เลย โดยเฉพาะครั้งที่ฟอร์ดและมาสด้านัดหยุดงาน แกนนำโดนล็อคตลอด ใช้เวลา 10 กว่าชั่วโมงกว่าจะถึงหน้ากระทรวง โดนทั้งตำรวจและทหารสกัด ที่หน้ากระทรวงเขาก็ใช้ทหารเกเร ขี้เมาเข้ามาหาเรื่อง ในพื้นที่ก็เอาทหารมาป้วนเปี้ยนหน้าบ้านตลอด ไปนอนที่หน้าศูนย์ราชการ จ.ระยอง ก็เอาทหารถือเอ็ม 16 ไปล้อมตลอดเหมือนเราเป็นนักโทษ เราทำอะไรไม่ได้เลย แม้กระทั่งจัดชุมนุมไฮปาร์คธรรมดาให้กำลังใจกันเมื่อบางสหภาพแรงงานมีปัญหาหนักๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 ให้สิทธิเต็มที่ แต่พอรัฐประหาร แรกๆ ก็โดนยึดเวที ยึดเครื่องเสียง แกนนำโดน มทบ.14 ที่ดูแลภาคตะวันออกเรียกไปคุย --------------------------------- โปรดติดตาม คุยกับผู้ใช้แรงงาน (2) : สรุปแล้วขบวนการแรงงานไม่ได้อะไรจากการรัฐประหาร 19 กันยา เลย ทรรศนะของผู้ใช้แรงงานต่อประชาธิปไตยกับการรัฐประหาร และการพัฒนาภายใต้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง เร็วๆ นี้ |