Thai / English

คนงานบางเสาธง สมุทรปราการประท้วงนายจ้างปิดโรงงาน



02 .. 51
ประชาไท

เมื่อเวลา 11.00 น วานนี้ (1 ก.พ.) พนักงานของบริษัทบีแอนด์ ซี อินดัสตรีส์ จำกัด จำนวน 500 คน ได้ชุมนุมประท้วงที่ด้านหน้าโรงงาน ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 27/80-86 ม.3 ถ.บางนา-ตราด กม.23 ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

ต่อมา พ.ต.อ.ยงยุทธ เดชะรัฐ ผกก.สภ.บางเสาธง ได้นำกำลังตำรวจเข้าไปเจรจาเพื่อขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อยและขอร้องไม่ให้เคลื่อนพลไปริม ถ.บางนา-ตราด เนื่องเกรงว่าอาจจะทำให้กีดขวางการจราจรประชาชนที่สัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อนพร้อมทั้งจะประสานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เข้ามาทำการเจรจาปัญหาที่เกิดขึ้น

น.ส. วรัญญา ไตรศร อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 149/200 ม.6 ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แกนนำผู้ชุมนุม กล่าวว่า บริษัทบีแอนด์ ซี อินดัสตรีส์ จำกัด ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ โดยโรงงานเปิดมาเป็นเวลา 10 ปี ขณะนี้มีคนงานประมาณ 600 คน กระทั่ง วันที่ 31 ม.ค.2551 ขณะที่คนงานเดินทางมาทำงานตามปกติในตอนเช้า ทางบริษัทได้นำประกาศมาติดด้านหน้าประตูโรงงานว่า จะยุบบริษัทที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน คือ ถ.บางนา-ตราด กม.23 ไปแห่งนี้ไปรวมกับสาขาในเครือซึ่งตั้งอยู่ที่ ถ.บางนา- ตราด กม.35

น.ส.วรัญญา ยังกล่าวต่อว่า ทางบริษัทได้จ้างหัวหน้างาน หัวหน้าแผนก ผู้จัดการฝ่ายออก โดยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่ก็ไม่ได้พูดถึงคนงานที่เป็นพนักงานรายวัน เมื่อไปสอบถามทางฝ่ายบุคคลของบริษัทก็ได้รับคำตอบว่า บริษัทขาดทุนจึงต้องยุบรวมกิจการกับบริษัทแม่ ส่วนคนงานทั้งหมดยังคงจ้างตามปกติ แต่ต้องไปทำงานที่บริษัทที่จะยุบไปรวม ซึ่งตั้งอยู่ที่ ถ.บางนา- ตราด กม.35 พวกตนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจาก พนักงานส่วนใหญ่มีที่พักอยู่ละแวกที่ทำงานเดิมและทางบริษัทได้แจ้งให้ทราบกะทันหันจึงไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จึงรวมตัวกันประท้วงดังกล่าวในวันนี้

ต่อมานายประดิษฐ์ สุรชัยพร หัวหน้าฝ่ายแรงงานสัมพันธ์ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ได้เข้าเจรจากับตัวแทนฝ่ายนายจ้างเพื่อหาข้อยุติ โดยมีการประชุมกันประมาณ 1 ชม. จึงออกมาบอกกับกลุ่มคนงานว่า จากการเจรจากับฝ่ายนายจ้างยอมรับว่านายจ้างทำไม่ครบขั้นตอนข้อกฎหมาย คือ หากจะย้ายบริษัทต้องแจ้งให้คนงานทราบก่อนล่วงหน้า 30 วัน แต่สำหรับรายนี้นายจ้างได้แจ้งล่วงหน้าเพียง 2 วันเท่านั้น จึงได้ขอความร่วมมือให้นายจ้างยกเลิกประกาศเดิมและขอให้เปิดโรงงานเพื่อให้พนักงานทำงานได้ตามปกติ และถ้ามีการย้ายโรงงานก็ขอให้ประกาศล่วงหน้าเพื่อให้พนักงานทราบก่อนเป็นเวลา 30 วัน

หากพนักงานคนใด มีความเดือดร้อนหรือมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันจากการย้ายโรงงาน ก็ให้แจ้งมาที่คณะกรรมการไตรภาคีซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ได้ร่วมกันพิจารณาเพื่อที่จะจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งนายจ้างก็ยินดีจะปฏิบัติตามนั้นหลังจากฟังคำชี้แจงแล้วกลุ่มพนักงานที่ชุมนุมอยู่จึงยอมที่จะสลายตัว เพื่อเดินทางกลับบ้าน บ้างก็นั่งจับกลุ่มวิภาควิจารณ์ เรื่องที่เกิดขึ้น และเตรียมที่จะมาทำงานตามปกติในวันพรุ่งนี้ต่อไป

ก่อนหน้านี้ เคยมีรายงานโรงงานที่ตั้งอยู่ อ.บางเสาธง แจ้งปิดกิจการมาแล้ว โดย นสพ.โพสต์ทูเดย์ เคยรายงาน เมื่อ 8 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า บริษัท สยามแอลจี ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเสริมสาหร่ายทะเลอัดเม็ด ซึ่งประกอบธุรกิจมานานหลายปี ขอให้ทาง อบต.บางเสาธง ช่วยประเมินภาษีให้ เนื่องจากจะปิดกิจการ

โดยโรงงานดังกล่าวพบว่ามีคนงานเพียง 12 คนเท่านั้น แต่มีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนสาเหตุที่ปิดกิจการ น.ส.สุชาดา หงส์จร ปลัด อบต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ให้ความเห็นว่า โรงงานไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนและได้เสียภาษีครบถ้วนมาโดยตลอด จึงคาดว่าบริษัทอาจจะไม่มั่นในในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันในประเทศไทย จึงต้องย้ายกลับไปญี่ปุ่น

โดยโรงงานในพื้นที่ อบต.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ มีประมาณ 600 แห่ง มีโรงงานหลายแห่งพยายามประคองตัว เพราะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ คนงานส่วนมากมักไม่ได้ค่าล่วงเวลา จึงใช้วิธีลดจำนวนคนงานและปริมาณการผลิต

……………………………………………………

ที่มา: สยามรัฐและโพสต์ทูเดย์