Thai / English

1 ปีการจากไปของ ‘คณาพันธุ์ ปานตระกูล’: มีอะไรดีขึ้นไหมสำหรับลูกจ้างชั่วคราว?


วิทยากร บุญเรือง
29 .. 51
ประชาไท

ข่าวเล็กๆ ในช่วงนี้ของปีที่แล้ว สำหรับคนที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานคิดว่ามันเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดสำแรงงานในเรื่องของวิธีการจ้างงานที่เอารัดเอาเปรียบในปัจจุบัน --- นั่นก็คือข่าวการจากไปของคุณคณาพันธุ์ ปานตระกูล ลูกจ้างชั่วคราววัย 37 ปี ของแผนกฟอกย้อมของโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี โดยเขาได้แขวนคอที่ห้องเช่าเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2550

คณาพันธุ์จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเคยทำงานเป็นหัวหน้ากัปตันโรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ได้เงินเดือนเกือบ 1 หมื่นบาท แต่ลาออกมาสมัครงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว แผนกฟอกย้อม โรงพยาบาลโพธาราม ซึ่งมีเงินเดือนแค่ 5,000 บาทเศษ โดยหวังว่าอีกไม่นานจะได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ ซึ่งจะมีสวัสดิการหลายอย่าง โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัว

แต่คณาพันธ์ทำงานโรงพยาบาลโพธารามมาเป็นเวลา 17 ปีแล้ว แต่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ โดยทำงานในเวลา 8.00-16.00น. จันทร์-ศุกร์ และทำงานล่วงเวลาในวันเสาร์สลับอาทิตย์ มีหน้าที่ตรวจเช็คและส่งผ้าชนิดต่างๆ เช่น ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัว ภายในตึกต่างๆ ของโรงพยาบาล

ทั้งนี้คณาพันธุ์ได้เขียนจดหมายทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ จดหมายลาที่เขียนถึงบุตรชาย ร่างจดหมายที่จะเขียนถึงนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง และจดหมายระบุเขียนถึงสหพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย

****กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้บริหารของทุกโรงพยาบาล, และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะช่วยเหลือได้****

กระผมนายคณาพันธุ์ ปานตระกูล ขอสละชีวิตตัวเองเพื่อขอให้พวกท่านมองเห็นคุณค่าของลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมานานหรือลูกจ้างที่หลวมตัวเข้ามาทำงานโดยหวังว่า จะมีการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ กระผมขอความอนุเคราะห์จากพวกท่านทั้งหลายช่วยคิดหาหนทางที่จะบรรจุลูกจ้างชั่วคราว ให้พวกคนเหล่านี้จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น บางท่านทำงานมา 5, 10, 15, 20 ปี หรือมากกว่านี้ ซึ่งงานที่ทำ กระผมคิดว่าไม่น่าที่จะเรียกงานชั่วคราว เป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ทำจนกว่าจะทำไม่ไหว เงินเดือนก็ไม่ขึ้น นานๆ ถึงมีขึ้นให้ ไม่กี่ร้อยบาท

กระผมคิดดูแล้ว แรงงานต่างด้าวยังมีหวังเงินขึ้น ทุก 6 เดือน หรือ 1ปีขึ้น 1 ครั้ง แต่ลูกจ้างชั่วคราวอย่างพวกกระผม แถบจะไม่มีหวังเลย แล้วไม่มีกฎหมายอะไรรับรองหรือระเบียบบังคับ

กระผมคิดว่า ถ้าทางรัฐบาลหรือทางกระทรวงสาธารณสุขกลัวสิ้นเปลืองงบประมาณ กระผมคิดว่า น่าจะมีทางออกที่ช่วยเหลือกันทั้ง 2 ฝ่าย อย่างเช่น บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ แต่ครอบครัวเบิกค่ารักษาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ใช้สิทธิบัตรทอง ..สุขภาพถ้วนหน้าก็ได้ แต่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน ตามความสามารถ ตามความขยัน หรือดูที่ผลงานก็ได้

หรือถ้าบรรจุให้ไม่ได้จริงๆ ก็ขอให้ขึ้นเงินเดือนให้บ้างโดยเอาผลงาน ความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้งก็ได้ ใครไม่มีผลงานก็ไม่ต้องขึ้นเงินเดือนให้

กระผมคิดว่าพวกท่านต้องมีความคิดที่ดีๆ กว่ากระผมแน่นอน หวังว่า พวกกระผมลูกจ้างชั่วคราวคงได้รับการช่วยเหลือ จากพวกท่านอย่างแน่นอน

ส่วนชีวิตของกระผมมีค่าไม่มาก กระผมยอมเสียสละได้ หวังว่า พวกท่านก้มหัวลงมามองลูกจ้างชั่วคราวบ้าง เพราะส่วนใหญ่เงินเดือนไม่พอใช้จ่ายเลี้ยงครอบครัวอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน, ข้าวปลาอาหารพวกกระผมก็เติมหรือทานอาหารเดียวกับพวกท่านๆ ทั้งหลายเหมือนกัน

กระผมหวังว่าชีวิตของกระผมคงไม่เสียเปล่า ลูกจ้างชั่วคราวทุกท่าน คงจะมีชีวิตที่ดีขึ้น จำไว้เลยว่า งานที่เราทำกันทุกๆ วันนี้ มันเป็นงานประจำ ไม่ใช่งานชั่วคราว

(ลาก่อนครอบครัวของกระผม)

คณาพันธุ์ ปานตระกูล

0000

****ส่งถึง สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย****

เรื่อง เป็นคนตาย

การกระทำของกระผมในครั้งนี้ ถ้าท่านใดหรือหน่วยงานใดได้รับผลกระทบ กระผมขออโหสิกรรมไว้ด้วย

ถ้าหากเป็นไปได้กระผมอยากจะขอกราบเท้าท่านนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้อำนวยการ, ฝ่ายบริหาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของทุกโรงพยาบาลทุกท่านกระผมตอนยังมีชีวิตอยู่ กระผมรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์กับบุคคลรอบข้างน้อยมาก จึงคิดว่าถ้าตายไปคงจะมีประโยชน์กับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่และยังอยากสู้ชีวิตต่อไป ชีวิตของกระผมคงจะกระตุ้นพวกท่านให้อยากช่วยเหลือ หรือมีความอนุเคราะห์ พวกลูกจ้างชั่วคราวบ้าง

พวกท่านมีอำนาจ มีบารมี มีความรู้ พวกท่านคงมีหนทาง คิดพิจารณา หานโยบาย สร้างขวัญและกำลังใจให้กับลูกจ้างชั่วคราวให้มาก ขอความกรุณาเถอะครับ ลูกจ้างชั่วคราวบางคนทำงานมา 5 – 20 ปี เงินเดือน 5,360 บาท หักส่วนอื่นแล้ว เหลือประมาณ 4,900 บาท แต่ละเดือน ไม่พอใช้จ่ายหรอกครับ พวกกระผม ไม่มีกฎหมายรองรับ สู้แรงงานต่างด้าวยังไม่ได้เลย พวกกระผมก็ต้องกิน ต้องใช้เหมือนพวกท่าน ต้องการความมั่นคงในชีวิต เหมือนพวกท่าน และที่สำคัญงานที่พวกผมกระทำ มันไม่ใช่งานชั่วคราว มันเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ทำจนตายอย่างนี้ ไม่น่าที่จะเรียกว่างานชั่วคราว ขอความกรุณาโปรดพิจารณาช่วยเหลือลูกจ้างชั่วคราวที่ยังอยากสู้ชีวิตต่อไปด้วยเถิด

* การตายของกระผมคงจะเป็นประโยชน์แด่ลูกจ้างชั่วคราวทั้งหลายทุกโรงพยาบาล

* งานที่พวกเรากระทำไม่ใช่งานชั่วคราว

คณาพันธุ์ ปานตระกูล

0000

1 ปีผ่านไป สำหรับการสูญเสียคณาพันธ์ ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการจ้างงานในกระทรวงสาธารณสุข คงจะมีเพียงการผลักดันตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ในสาขาพยาบาลที่กำลังถูกธุรกิจด้านการแพทย์ ของโรงพยาบาลเอกชนดูดตัวไปเท่านั้น

โดยเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 51 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตำแหน่งข้าราชการใหม่ ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งจบการศึกษาจากสถาบันผลิตของกระทรวงสาธารณะสุข ระหว่างปี 2545-2548 ที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 1,355 อัตราซึ่งตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งสาขาขาดแคลนที่ขอเพิ่มใหม่จากสำนักงานคณะกรรมการข้ารราชการพลเรือนด่วน

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรรุ่นใหม่อย่างหนัก โดยเฉพาะสาขาพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งต้องขึ้นเวรเฝ้าผู้เจ็บป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ในปี 2550 มีพยาบาลวิชาชีพทั้งหมด 1,500 คน ในจำนวนนี้ลาออก 300 คน หรือประมาณร้อยละ 25 เนื่องจากเป็นลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนต่ำกว่าเอกชน 3-4 เท่าตัว งานหนักกว่า ซึ่งหากรอบรรจุตามมติของครม.เมื่อปี 2548 ที่กำหนดให้ใช้ตำแหน่งว่างจากผู้เกษียณราชการซึ่งมีปีละประมาณ 300-400 คน ก็ต้องรอไปถึงปี 2553

ทั้งนี้ นี่เปรียบเสมือนการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐ สำหรับผู้ใช้แรงงานยังคงมีไม่เท่าเทียมกัน แรงงานฝีมือที่มีมูลค่าทางการผลิตสูงรัฐยังคงโอบอุ้ม ต่างจากแรงงานชั่วคราวโดยส่วนใหญ่ ที่ใช้แรงกายมหาศาลแต่ค่าแรงน้อยนิด จนถึงวันนี้รัฐยังคงไม่เห็นคุณค่า

สำหรับในขบวนการแรงงานและภาคประชาชนไทย สำหรับกรณีของคุณคณาพันธ์ ล่าสุดมีการรำลึกถึงการจากไปของคุณคณาพันธ์ โดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า ‘ผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งจาก สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส’ ได้ส่งถ้อยคำถึงผู้ที่จากไปและตั้งคำถามกับระบบการกดขี่แรงงานไทยในปัจจุบัน ดังนี้ …

***ขอร่วมไว้อาลัยแด่ คณาพันธ์ ปานตระกูล ***

คนที่มีอำนาจ คนที่มีชื่อเสียง คนที่มีฐานะ คนที่มีต้นทุนทางสังคมสูง พูดสิ่งใดย่อมเป็นที่สนใจของสังคม แม้ว่าสิ่งที่พูดนั้นจะนำไปปฏิบัติจริงได้หรือไม่ก็ตาม

ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป ที่พูดสิ่งใดก็ไร้คนสนใจ แม้จะมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำแค่ไหน แต่ยังไม่วายที่จะถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเพ้อฝันและไม่มีทางเป็นไปได้

มองหาคนที่มีอำนาจ คนที่มีชื่อเสียง คนที่มีฐานะ คนที่มีต้นทุนทางสังคมสูง เพื่อบอกกล่าว เพื่อขอความเป็นธรรม เพื่อขอความช่วยเหลือ เจอแต่ความว่างเปล่าสิ้นความหวัง ไร้หนทางที่จะมาเยียวยาความทุกข์ยากลำเค็ญในชีวิต มองไม่เห็นทางออก

เมื่อชีวิตที่มีอยู่มิอาจทำให้ปัญหาที่มีอยู่ ปัญหาที่รุมเร้าอยู่ บรรเทาเบาบางลงไปได้ การสละชีพ น่าจะเป็นทางออกเดียวที่อาจจะทำให้สังคมหันมาสนใจปัญหาที่มีอยู่นั้นหรืออย่างน้อยที่สุด อาจจะเป็นการจุดประกายให้คนรุ่นหลัง สานต่อในเจตนารมณ์...

๒๗ มกราคม ๒๕๕๐...คณาพันธ์ ปานตระกูล คนงานชั่วคราวผู้ยากไร้คนหนึ่งตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรม หวังเพียงว่าหนึ่งชีวิต จะทำให้ผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันมีชีวิตที่ดีขึ้น

เกิดกระแสการตื่นตัวเล็กๆ ขึ้นในช่วงแรกๆจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ ๑ ปีผ่านไป ความว่างเปล่ากลับเข้ามาอีกครั้ง ลูกจ้างชั่วคราวยังคงไร้ผู้ที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง

“ลูกจ้างชั่วคราว” เป็นแค่ข้ออ้างในการเขียนคำจำกัดความเพื่อการเอาเปรียบลูกจ้างเท่านั้นเพราะความจริงแล้วน่าจะเรียกว่าลูกจ้างชั่วโคตรมากกว่า ทำทั้งปีทั้งชาติมันชั่วคราวได้อย่างไร?

เมื่อหน่วยงานของรัฐยังไร้มนุษยธรรมในขบวนการจ้างงานแล้ว สังคมนี้จะพึ่งพาใครได้อีก

คนเหมือนกัน ทำงานเหมือนกัน มีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน แต่ทำไมจึงได้รับค่าจ้าง-สวัสดิการต่างกัน เพียงเพราะคำจำกัดความระหว่างลูกจ้างชั่วคราวกับลูกจ้างประจำ...แค่นั้นจริงๆหรือ?

แล้วฐานะความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์หายไปไหน? จะมุ่งหวังให้ใคร? ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ คนที่มีอำนาจ คนที่มีชื่อเสียง คนที่มีฐานะ คนที่มีต้นทุนทางสังคมสูง ภาครัฐ ใช่หรือไม่?

สิ่งที่ผ่านมาคือความว่างเปล่าที่เป็นคำตอบที่ดีอยู่แล้ว แล้วใคร? ที่จะสามารถทำเช่นนั้นได้

คำตอบก็คือ ชนชั้นผู้ใช้แรงงานความร่วมมือภาคประชาชนเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ความร่วมมือภาคประชาชน เท่านั้นที่จะช่วยบรรเทาความยากไร้ได้

การสละชีวิตของ คณาพันธ์ ปานตระกูล? จะไม่มีวันสูญเปล่าถ้าเราเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้

สิ่งที่ค้างคาใจอย่างมากเมื่อมองเห็นงานเฉลิมฉลองวันชาติของประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก แล้วมีคำถามในใจว่า วันชาติไทยหายไปไหน? ทำไมไม่มีวันชาติไทย?

แล้วจะทำอย่างไรจะมีวันชาติให้ได้ภูมิใจแบบประเทศอื่นเขาบ้าง???

ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ความร่วมมือภาคประชาชน อาจจะทำให้ประเทศนี้มีวันชาติบ้างก็ได้ ใครจะรู้ วันที่ ๒๗ มกราคม ก็อาจจะเป็น “วันกรรมกรไทย” ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นได้

“ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ความร่วมมือภาคประชาชน เท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ให้ดีขึ้นได้”

ขอร่วมไว้อาลัยแด่ คณาพันธ์ ปานตระกูล เจตนารมณ์ของท่านจะไม่มีวันสูญเปล่า

เราให้คำสัญญา

ผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งจาก สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส

0 0 0

การสร้างความไม่มั่นคงให้แรงงาน สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนงานเลิกจ้างได้ง่าย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการจ้างสูงสุดของผู้ประกอบการ

สำหรับประเทศไทยเมื่อต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ การแข่งขันแบบเสรี ประกอบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในต้นทศวรรษที่ 2540 ทำให้ผู้ประกอบการมีทัศนคติเกี่ยวกับการจ้างแรงงานประจำ การให้สวัสดิการต่างๆ รวมถึงการหักเงินสมทบประกันสังคม กลายมาเป็นค่าใช้จ่ายภาระต่อต้นทุนการผลิตซึ่งต้องควบคุมหรือลดให้ต่ำไว้ ของผู้ประกอบการ

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberal policies) ที่เป็นแนวหลักในวิถีเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ซึ่งพอที่จะสรุปรายละเอียดแนวทางได้ดังเช่น

ลดข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายทุนไปมาระหว่างประเทศต่างๆ (The elimination of restrictions on the international movement of capital)

การแก้กฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับในประเทศนั้นๆ กฎหมายแรงงาน กฎหมายที่ดิน ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการเก็งกำไรตามแบบอย่างของการลงทุนระยะสั้น (Deregulation)

ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน คือ การสร้างความไม่มั่นคงให้แรงงาน สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนงานเลิกจ้างได้ง่าย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการจ้างสูงสุดของนายทุน (Flexible labour conditions market conditions)

แปรรูปวิสาหกิจขนาดใหญ่อันเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานร่วมกันของคนในสังคม – รัฐวิสาหกิจ, การศึกษา เพื่อให้เอกชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการเพื่อหวังผลกำไร (Privatization)

บังคับสร้างกรรมสิทธิ์ให้แก่ผลิตผลิตทางภูมิปัญญาและผลผลิตของปัจเจกต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ในการสร้างกำไรจากกรรมสิทธิ์นั้นๆ ด้วยวิธีทางการค้า (Enforcement of intellectual and other private property rights)

สร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจ-การเมือง-ข้อกฎหมาย ให้เหมาะสมสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Creating a business climate conducive to foreign direct investment)

กระทำการดำเนินแนวทางเศรษฐกิจโลกด้วยวิถีของลัทธิเสรีนิยมทั้งหมด (Global trade liberalization)

โดยผู้ประกอบการหน่วยผลิตต่างๆ รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐ จึงพยายามแข่งขันที่จะปรับโครงสร้างการจ้างงานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเกิดความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน ซึ่งเป้าหมายก็คือการลดคนงานลงและหันมาใช้การจ้างงานที่มีลักษณะชั่วคราวมากขึ้น

ลักษณะการจ้างงานในลักษณะชั่วคราวนี้ ก็อาทิเช่น การใช้สัญญาจ้างงานระยะสั้น, การจ้างงานแบบรายชั่วโมง, การจ้างงานแบบรายชิ้น เป็นต้น

รวมถึงการจ้างเหมาช่วง โดยการให้บรรษัทเอกชนมารับช่วงต่อในการจัดบริการบางอย่างในสถานประกอบการ หน่วยผลิต รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็เช่น การรักษาความปลอดภัย หรือ การทำความสะอาด เป็นต้น

ลูกจ้างชั่วคราวตามลักษณะที่ได้กล่าวไป มักประสบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งในเรื่องของค่าจ้างและสวัสดิการ หลายคนขาดข้อมูลความรู้ในเรื่องสิทธิ และกฎหมายแรงงาน จึงไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ สามารถถูกเลิกจ้างได้ง่าย เพราะขาดการรวมกลุ่มหรือความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงาน

จึงขาดอำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิง

ลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้จึงขาดความมั่นคงในงานสูง ทำงานไปวันๆ แบบเลื่อนลอย ไม่มีอนาคต ถ้าไม่มีงานทำก็ต้องออกแล้วหางานไปเรื่อยๆ

สำหรับขบวนการแรงงานไทย จากนี้ไปนอกเหนือจากการพยายามสร้างวัฒนธรรมสหภาพแรงงานในแต่ละที่แล้ว การเป็นแนวร่วมกับแรงงานลูกจ้างชั่วคราว จะต้องทำไปด้วยควบคู่กัน

เพราะหนึ่งในเหตุผลหลักของการพยายามแบ่ง “ลูกจ้างประจำ” และ “ลูกจ้างช่วงคราว” ออกจากกันของฝ่ายนายทุนและชนชั้นนำ ก็คือการพยายามสลายความสามัคคีของแรงงานทั้งปวงนั่นเอง