Thai / English

แนะรัฐเร่งประชาสัมพันธ์แนวขึ้นทะเบียน ‘แรงงานต่างด้าว’ ด้วย ‘ภาษาของแรงงานข้ามชาติ’



18 .. 51
ประชาไท

ครม.ไฟเขียวผ่อนผันจดทะเบียน ‘แรงงานต่างด้าว’ เพิ่ม เป็นเวลา 2 ปี

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 เห็นชอบให้แรงงานต่าวด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ขึ้นทะเบียนแรงงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 ผ่อนผันการทำงานได้อีก 2 ปี โดยเริ่มในต้นปี 2551 นี้ และสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้มี อยู่ 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ให้ต่ออายุบัตรฯระหว่างวันที่ 1- 28 กุมภาพันธ์ 2551

2.กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 14 มีนาคม 2551 ให้ต่ออายุบัตรฯระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ – 14 มีนาคม 2551

3.กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ให้ต่ออายุบัตรฯระหว่างวันที่ 1- 30 มิถุนายน 2551

โดยทั้งสามกลุ่มนี้ เปิดให้ตรวจสุขภาพตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 15 กรกฎาคม 2551และต้องชำระค่าตรวจสุขภาพ 600 บาทต่อปี และค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาทต่อปี

นอกจากนี้ มติครม.ดังกล่าวให้เปิดให้ผู้ที่จดทะเบียนไว้กับกรมการปกครองที่มี ทร. 38/1 ให้เข้าสู่ระบบการทำงานได้โดยผ่อนผันเป็นเวลา 2 ปีเช่นเดียวกัน โดยต้องรายงานตัวกับกรมการปกครองให้ออกเอกสาร (ระหว่าง 21 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ 2551) เพื่อนำไปเป็นหลักฐานตรวจสุขภาพ (ระหว่าง 21 มกราคม – 5 มีนาคม 2551) และขออนุญาตทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2551

มติ ครม.ฉบับนี้ได้ระบุชัดเจนว่า ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จริงจังกับการปราบปรามจับกุม นายจ้างและแรงงานที่ไม่ปฎิบัติตามระเบียบ ดังนั้น นายจ้างจึงต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดและนำลูกจ้างไปจดทะเบียนให้ถูกต้อง

แนะรัฐเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูล ด้วยภาษาของแรงงานข้ามชาติ

ด้านนายอดิศร เกิดมงคล คณะทำงานของเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์ระหว่างประเทศที่ทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ ให้ความเห็นต่อนโยบายการจดทะเบียนในครั้งนี้ว่า สิ่งที่กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การเร่งประชาสัมพันธ์แนวทางการดำเนินการดังกล่าว ให้แรงงานข้ามชาติและนายจ้างทราบอย่างรวดเร็วและอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำเอกสารการประชาสัมพันธ์ที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติเอง เนื่องจากครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมแนวทางการปฏิบัติบางส่วนเข้ามา อาจจะทำให้แรงงานและผู้ประกอบการเกิดความสับสนได้

ที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งที่ทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งไม่สามารถขออนุญาตทำงานได้ ก็เนื่องจากขาดข้อมูล และการทำความเข้าใจจากขั้นตอนดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็ควรจะเร่งออกแนวทางการดำเนินการที่มีความชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจให้ตรงกัน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการ เพราะหลายครั้งความเข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้การดำเนินการขออนุญาตทำงานเกิดความล่าช้า

นอกจากนั้นแล้ว กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องจัดทำแนวนโยบายในเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการสร้างกลไกที่เอื้อต่อการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง เช่น การบริการด้านสาธารณสุข จำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมด้านการสื่อภาษาระหว่างแรงงานข้ามชาติกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้บริการ ท้ายที่สุด รัฐบาลจะต้องเร่งให้เกิดการจัดทำนโยบายระยะยาวที่สอดคล้องกับสถานการณ์การย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้ เพื่อจะทำให้การดำเนินการจัดการแรงงานข้ามชาติมีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย