รพ.เอกชน112แห่งขู่เลิกทำข้อตกลงกับประกันสังคม อ้างเบิกค่ารักษาช้า ถกหลายรอบไม่คืบ09 .. 50 เครือมติชน รพ.เอกชนจับมือเมินต่อข้อตกลงกับสปส.หลังปี 2550 ชี้จ่ายเงินล่าช้า-ปัญหาสารพัด ระบุไม่เป็นธรรมต่อรพ.เอกชน ให้เลิกข้อตกลงได้ แต่ต้องให้สปส.ยินยอม ด้านสปส.ระบุเคยคุยปัญหาเบิกจ่ายช้ารู้เรื่องไปแล้ว ยันทำข้อตกลงแค่ครั้งเดียวดีแล้ว อ้างรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้ น.พ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ประธานชมรมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนว่า สมาชิกชมรมโรงพยาบาล เอกชนมีมติจะไม่ทำข้อตกลงกับกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) หลังสิ้นสุดข้อตกลงในปี 2550 เนื่องจาก สมาชิกชมรม 112 แห่ง เคยมีมติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่า จะถอนตัวออกจากการทำข้อตกลงกับกองทุนเงินทดแทน สปส.เพราะมีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการจ่ายเงิน รวมถึงปัญหาอีกหลายอย่าง จนในที่สุดผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และ สปส.ได้เชิญให้ผู้แทนชมรมหารือร่วมกัน แต่จนถึงขณะนี้ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันหลายประการ ทำให้ล่าสุดสมาชิกมีความเห็นว่า เมื่อข้อตกลงที่ทำไว้กับ สปส.สิ้นสุดในปีนี้ จะไม่มีการทำข้อตกลงต่อไปอีก 'เรารู้สึกว่าข้อตกลงใหม่ที่ให้เราเซ็นนั้น ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการที่ข้อตกลงนี้ไม่มีวันสิ้นสุด เพียงแต่บอกว่าสามารถยกเลิกได้ โดยบอกล่วงหน้า 90 วัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของ สปส. ซึ่งการระบุเช่นนี้ โรงพยาบาลเอกชนตายลูกเดียว ขณะที่ข้อตกลงฉบับเก่ามีอายุ 2 ปี' น.พ.ไพบูลย์กล่าว และว่า แม้จะไม่มีการทำข้อตกลงกับ สปส. แต่เชื่อว่า จะไม่ทำให้ผู้ประกันตนได้รับความเดือดร้อน เพราะการให้บริการยังดำเนินไปตามปกติ' นพ.ไพบูลย์กล่าวว่า กรณีที่ผู้ประกันตนประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน เดิมทีที่เป็นโรงพยาบาลในข้อตกลงจะสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้วเบิกเอาจากกอง ทุนเงินทดแทนเอง แต่หากถอนตัวออกจาก สปส.แล้วก็จะใช้วิธีเบิกค่าใช้จ่ายจากนายจ้างแทนและให้นายจ้างเอาไปเบิกจาก กองทุนเงินทดแทน ซึ่งวิธีการนี้ไม่ได้เป็นการผลักภาระให้นายจ้างแต่อย่างใด เพียงแต่ที่ผ่านมา โรงพยาบาลพยายามอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างเท่านั้น 'แม้ สปส.บอกว่าจะแก้ไขเรื่องเบิกจ่ายให้ดีขึ้น แต่ในทางปฏิบัติมีปัญหา หลายครั้งที่ผู้ประกันตนที่ประสบอุบัติเหตุมารักษา แต่เขาลาออกจากบริษัทไปแล้ว เวลาที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเรียกไปพบ ก็ไม่ได้พบ ในที่สุดจึงตกเป็นหนี้สินของโรงพยาบาล' นพ.ไพบูลย์กล่าว ด้านนายสิทธิพล รัตนากร รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว สปส.กับ รพ.เอกชนมีการเจรจาทำความตกลงกันแล้วถึง 3 ครั้ง โดยเฉพาะปัญหาการเบิกจ่ายเงินช้า และการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ สปส.ได้เร่งทำงานอำนวยความสะดวกไม่ให้เกิดปัญหาอีก 'ส่วนกรณีที่ สปส.เขียนข้อตกลงกับ โรงพยาบาลเอกชนว่า ให้ยกเลิกการทำข้อตกลงแบบ 2 ปีครั้ง เป็นทำข้อตกลงครั้งเดียวและมีผลตลอดไปนั้น คิดว่า เป็นเรื่องที่ดีเนื่องจาก โรงพยาบาลเอกชนเองก็ยังรักษาลูกค้าเดิมไว้ เป็นสมาชิกให้บริการผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่องไป ซึ่งหาก โรงพยาบาลใดที่ไม่ประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ สปส.ก็สามารถที่จะแจ้งความจำนงยกเลิกได้ สปส.ก็ไม่ขัดข้อง เปิดกว้างให้โรงพยาบาลมีสิทธิเลือก ทั้งนี้ ก็คิดว่าจะเป็นการสะดวกต่อโรงพยาบาลที่ไม่ต้องเสียเวลาในการทำข้อตกลงกัน แบบปีต่อปีหรือ 2 ปีครั้ง' นายสิทธิพลกล่าวว่า เรื่องนี้คุยกันมาตั้งหลายครั้งแล้ว ก็สามารถตกลงกันได้ สปส.ก็ยอมผ่อนปรนแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด สั่งการให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกเต็มที่ อันนี้คิดว่าเป็นประเด็นหลอกแต่ประเด็นจริงก็คือ การเรียกร้องอัตราค่าเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลรายหัวมากกว่า แต่ทั้งนี้ก็ขอให้เข้าใจว่า สปส.ก็กำลังดำเนินการอยู่ โดยเพิ่มอัตราค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเป็น 45,000 บาท จากเดิม 35,000 บาท กรณีเจ็บป่วยรุนแรงเรื้อรังเบิกได้ไม่เกิน 3 แสนบาท จากเดิม 2 แสนบาท เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าหาก โรงพยาบาลเอกชนรายใดมีปัญหาก็สามารถมาหารือกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องและเหมาะสม |