ประสานเสียงร้องประกันสังคมห้ามเบี้ยวเงินทดแทน กรณีแรงงานพม่าปูนหล่นทับอัมพาต03 .. 50 ประชาไท โครงการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานสำหรับแรงงานข้ามชาติ ของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ล่ารายชื่อองค์กร เครือข่าย ต่างๆ ร่วมลงชื่อในจดหมายร้องเรียนซึ่งจะส่งถึงกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการพิจารณากองทุนเงินทดแทนในวันที่ 6 พ.ย.นี้ กรณีที่สำนักงานประกันสังคมไม่จ่ายเงินทดแทนแก่นางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานชาวไทใหญ่ที่เข้ามาทำงานก่อสร้างและประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจนเป็นอัมพาต เนื่องจากทางประกันสังคมไม่รวมแรงงานข้ามชาติเข้าไว้ในกองทุนเงินทดแทน รวมทั้งยังผลักภาระให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนให้นางหนุ่ม โดยอ้างว่านางหนุ่มเป็นแรงงานที่ยังไมได้รับการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งไม่เข้ากับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ นางหนุ่ม เป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2545 โดยจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ปี 2547 ทำงานก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ได้ค่าจ้างวันละ 130 บาท (ค่าจ้างขั้นต่ำเชียงใหม่วันละ155 บาท) และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 ขณะที่กำลังทำงานอยู่ในสถานที่ก่อสร้าง ปรากฏว่าแบบเทปูนขนาดใหญ่ได้ตกลงมาจากชั้น 12 ของตึกทับจนได้รับบาดเจ็บสาหัสกระดูกสันหลังแตก และได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราช โดยใช้ค่ารักษาจากบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว สุดท้ายต้องตกอยู่ในสภาพที่เป็นอัมพาต 70% อย่างไรก็ตาม แม้พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 จะกำหนดให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิได้รับเงินทดแทน แต่สำนักงานประกันสังคมกลับสร้างเงื่อนไขที่ไม่เอื้ออำนวย โดยกำหนดให้แรงงานข้ามชาติดังกล่าวต้องมีหลักฐานทั้งใบอนุญาตทำงาน หนังสือเดินทาง, นายจ้างต้องมาขึ้นทะเบียนกับกองทุนทดแทน, แรงงานข้ามชาติต้องมายื่นแบบเสียภาษี ซึ่งองค์กรด้านแรงงานระบุว่าการตั้งเงื่อนไขดังกล่าวทำให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มใหญ่ประมาณ 2,000,000 คน ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขดังกล่าวได้ โดยเฉพาะแรงงานพม่า สำหรับข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ปรากฏในร่างจดหมายนั้นระบุถึงความต้องการให้กองทุนทดแทนคุ้มครองแรงงานข้ามชาติด้วย และยกเลิกเงื่อนไขต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม เลือกปฏิบัติ และสร้างอุปสรรคต่อแรงงานข้ามชาติที่จะเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน เพราะการไม่รวมแรงงานข้ามชาติเข้าไว้ในกองทุนเงินทดแทนเป็น การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่ยุติธรรม และยังเป็นการขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาว่าด้วย การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ รวมทั้ง ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ หากองค์กรของท่านหรือองค์กรเครือข่าย มีความประสงค์จะร่วมลงชื่อ ท้ายจดหมายฉบับดังกล่าว สามารถแจ้งความต้องการกลับไปได้ที่ mmsawm@gmail.com ภายในวันที่ 6 พ.ย.นี้ 0000 กสม.แนะปลดล็อค"กองทุนเงินทดแทน" ยกกรณีศึกษา-คุ้มครองต่างด้าวหลายแสน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณาข้อร้องเรียนกรณีนางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่ ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน จนร่างกายพิการถาวร แต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยนางหนุ่มกล่าวว่า เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2545 โดยจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ปี 2547 ทำงานก่อสร้างได้ค่าจ้างวันละ 130 บาท (ค่าจ้างขั้นต่ำเชียงใหม่วันละ 155 บาท) และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 ขณะที่กำลังทำงานอยู่ในสถานที่ก่อสร้าง ปรากฏว่าแบบเทปูนขนาดใหญ่ได้ตกลงมาจากชั้น 12 ของตึกทับตนจนได้รับบาดเจ็บสาหัสกระดูกสันหลังแตก และได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราช โดยใช้ค่ารักษาจากบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว สุดท้ายต้องตกอยู่ในสภาพที่เป็นอัมพาต 70% "เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเชียงใหม่ ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้ดิฉันเป็นรายเดือน แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้รับแจ้งใดๆ จากนายจ้างเลย ซึ่งสามีของดิฉันซึ่งทำงานที่เดียวกันได้เรียกร้องไปที่นายจ้าง ซึ่งเขาสัญญาว่าจะจ่ายให้ แต่ก็ยังไม่ได้ แถมเสนอให้ดิฉันและสามีกลับพม่า โดยจะจ่ายให้ 3 หมื่นบาท และค่าเดินทางอีก 1 หมื่นบาท" นางหนุ่มกล่าว และว่า ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมายที่เข้ามาช่วยเหลือบอกว่า ตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน ตนควรได้รับเงินทดแทนอย่างน้อย 4 แสนบาท นางสุนี ไชยรส กรรมการ กสม. กล่าวว่า ปัญหาเฉพาะหน้าคือ สปส.ต ้องช่วยเหลือนางหนุ่มนำมาฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เพราะขณะนี้โรงพยาบาลได้ให้นางหนุ่มออกแล้ว และระหว่างที่เรื่องกำลังอุทธรณ์ ทาง กสม.จะส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเลขาฯ สปส. เพราะมีประกาศปี 2544 ว่าต้องมีใบอนุญาตทำงานถึงจะเข้าไปใช้เงินกองทุนทดแทนได้ ซึ่งเป็นการออกระบียบที่ละเมิด เพราะกองทุนเงินทดแทนควรคุ้มครองแรงงานต่างด้าวทุกคน และแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มีใบอนุญาตที่ทางการออกให้ แต่ไม่ใช่ใบอนุญาตทำงาน "ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดี เพราะแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยหลายแสนคน ควรได้รับการดูแล เพราะในกฎหมายระบุอยู่แล้วว่านายจ้างต้องคุ้มครอง แต่ดันไปติดขัดประกาศของ สปส.ที่ล็อคเอาไว้" นางสุนีกล่าว |