หวังผ่าโครงสร้างกองทุนประกันสังคม ให้ กก. มาจากการเลือกตั้ง03 .. 50 ประชาไท เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 50 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง จัดเสวนาเรื่อง 18 ปี ประกันสังคม จะไปทางไหนในอนาคต จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ระบบประกันสังคมนั้นเกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของขบวนการแรงงานเอง ไม่ใช่รัฐให้หรือได้มาโดยง่าย โดยการเรียกร้องนั้นใช้เวลายาวนานและมาสำเร็จในปี 2533 จะเด็จ เล่าว่า สมัยนั้นคนงานอยู่ในสภาพค่อนข้างยากจน ได้เพียงค่าแรงขั้นต่ำ 100 กว่าบาท ไม่ได้สวัสดิการอื่น เช่น การเจ็บป่วยนอกงาน การสงเคราะห์บุตรเลย โรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางมีสภาพการทำงานที่ค่อนข้างแย่ นายจ้างเอาเปรียบ จึงนำสู่การผลักดันของแรงงานให้มีสวัสดิการทางสังคมและคุ้มครองช่วยเหลือเขา ทั้งนี้ การเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ต้องการแค่การเยียวยา แต่ต้องการความมั่นคงในชีวิตและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เมื่อออกจากงานแล้วสามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้ สำหรับความเห็นต่อระบบประกันสังคม ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า 18 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า ประกันสังคมยังมีปัญหาหลายอย่าง อาทิ การมีส่วนร่วมของกลุ่มต่างๆ ในโครงสร้างการบริหาร จะเห็นว่า การตั้งบอร์ดประกันสังคม ไม่โปร่งใส มีการอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว จึงควรมีการปฏิรูปการบริหารงาน โดยไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น รัฐกลุ่มหนึ่ง ลูกจ้างกลุ่มหนึ่ง เพราะลูกจ้างเองก็มีหลายกลุ่ม อาทิ ตัวแทนแรงงานนอกระบบ แรงงานในโรงงาน นอกจากนี้ หลักการของประกันสังคมจะเน้นแค่การเยียวยาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีงานเชิงป้องกันด้วย เพื่อให้คนไม่เจ็บป่วย ถ้าเน้นเยียวยา เงินจะหมดไป โดยจะเด็จ เสนอให้ปฏิรูปกฎหมายเน้นงานเชิงป้องกัน เพื่อให้องค์กรต่างๆ อย่างสหภาพแรงงาน องค์กรสมาชิกรวมถึงนายจ้างมีสิทธิขอเงินไปทำงานด้านการป้องกันได้ เพราะเป็นงานที่จะทำให้เงินกองทุนยั่งยืน ทั้งนี้ จะเด็จ ทิ้งท้ายว่า ต้องไม่ลืมว่า การต่อสู้เรื่องประกันสังคมมาจากรากฐานความยากจนของผู้ใช้แรงงาน วิธีคิดแบบนี้ ทิ้งไปไม่ได้ การต่อสู้ของพวกเราต้องคิดต่อว่า แรงงานในโรงงานได้โอกาสแล้ว แรงงานต่างชาติหรือในชนบทซึ่งเป็นคนงานเหมือนกัน ก็ควรได้หลักประกันเช่นกัน บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้จัดการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า หลักการประกันสังคม คือ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เป็นหลักการกระจายรายได้ในสังคม อาจารย์นิคม จันทรางสุข เคยพูดว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นรูปธรรม 2 ระบบใหญ่ๆ ได้แก่ ค่าจ้างขั้นต่ำ และประกันสังคม ค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เป็นการประกันลูกจ้างที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้ได้รับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการยังชีพ เพราะแรงงานยังมีความรู้น้อย อายุงานน้อย ถ้าปล่อยให้นายจ้างกำหนดค่าจ้างตามความพอใจจะถูกกดขี่ ส่วนประกันสังคมจะอยู่รอดได้ต้องสามารถดึงเงินจากนายจ้างมาสมทบ เพราะนายจ้างได้ผลประโยชน์จากแรงงาน รัฐก็ต้องสมทบ เนื่องจากรัฐนั้นมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข ทั้งยังได้รายได้จากภาษีเงินได้และภาษีอากร โดยทั่วไปประกันสังคมจะเกิดขึ้นโดยเน้นคนที่มีรายได้ประจำก่อน เพราะมีความเป็นไปได้ในการจ่ายเงินสมทบ และจัดสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ ดังนั้นจะเห็นว่า ประกันสังคมไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ระบบประกันที่ช่วยเหลือคนยากจนทุกกลุ่มในสังคมได้ โดยทุกวันนี้ประกันเฉพาะแรงงานกลุ่มลูกจ้าง ไม่ใช่กลุ่มที่มีงานทำทุกคนไม่ว่าอาชีพอะไร จะมีกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์ก็อาจเป็นกลุ่มยากจนบางกลุ่มที่มีฐานรายได้ประจำ บัณฑิตย์ สรุปว่า นี่จึงไม่ใช่ระบบประกันสังคมในความหมายที่แท้จริง ดังนั้นจึงมีความพยายามขยายความคุ้มครองทางสังคม ขยายเรื่องกฎหมายแรงงานไปสู่แรงงานนอกระบบ แต่แรงงานนอกระบบหรือกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกจ้างในระบบก็มีความหลากหลายในมิติของการมีงานทำ รายได้ ระยะเวลา ทำให้มีข้อจำกัดในการบริหาร สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า ปัญหาของระบบประกันสังคม มีตั้งแต่เรื่องคุณภาพมาตรฐานของบริการ ทั้งที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่ก็กลับถูกเลือกปฏิบัติเหมือนคนชั้นสอง ผู้ประกันตนไม่รู้สิทธิและเข้าไม่ถึงสิทธิของตนเองและเมื่อมีปัญหาก็ไม่รู้จะติดต่อใคร การนำเงินของกองทุนมาใช้จ่าย อาทิ กรณีจะใช้ซื้อคอมพิวเตอร์ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งเขาเห็นว่าควรเป็นเงินของกระทรวงเอง ล่าสุด กฤษฎีกาก็ได้ยืนยันแล้วว่าใช้ไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีนายจ้างเงินเก็บแล้วไม่ส่ง ซึ่งยังไม่มีมาตรการลงโทษที่แน่ชัด รวมทั้ง กรณีที่รัฐ ตีตั๋วเด็ก จ่ายเงินสมทบน้อยกว่านายจ้างและลูกจ้าง ทั้งหมดเป็นคำถามว่าจะจัดการปัญหาอย่างไร เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยคาดหวังอะไรจากใครได้ นอกจากจัดการเอง ทั้งนี้ สาวิทย์ ระบุว่า อุปสรรคของปัญหาข้างต้นเกิดจากกลไกของประกันสังคม ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผู้ประกันตน ไม่ครอบคลุมไปภูมิภาคต่างๆ ทั้งที่เมื่อแรงงานเข้าทำงานแล้วก็ต้องได้รับการคุ้มครองประกันสังคม แต่กรณีล่าสุด แรงงานข้ามชาติที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเกิดปัญหากับนายจ้าง ประกันสังคมให้รับเงินทดแทนจากนายจ้างเป็นเวลา 15 ปี แต่แรงงานข้ามชาตินั้นถ้าไม่มีงานทำ 7 วันก็ถูกไล่กลับประเทศแล้ว แล้ว 15 ปีที่เหลือจะให้ไปรับกับใคร และมีหลักประกันอย่างไรว่านายจ้างจะจ่าย ต่อมาคือ ทัศนคติความเชื่อ นี่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย เช่น ช่างเถอะแล้วแต่เวรแต่กรรม ฟาดเคราะห์ไป แทนที่สิทธิเหล่านี้จะได้รับการดูแลอย่างดีจากประกันสังคม ก็ไปมองว่ายุ่งยากสลับซับซ้อน ต้องเขียนคำร้อง ทำนู่นทำนี่ จึงไม่ทำ และคิดว่าเสียเงินไม่กี่บาทกินยาแก้ปวดสัก 2-3 เม็ดก็หาย ทำอะไรง่ายๆ ไม่อยากวุ่นวาย นี่เป็นความคิดที่ปลูกฝังกันมานาน รัฐเองก็มองผู้ใช้แรงงานแบบเป็นผู้มาขอ ปฏิเสธสิทธิที่เขาควรได้รับ คนงานกับนายจ้างก็เป็นปัญหา นายจ้างเก็บเงินแล้วไม่นำส่งก็ไม่ว่าอะไร เพราะนึกถึงบุญคุณที่รับเข้าทำงาน ขณะที่มาตรการลงโทษเมื่อไม่ส่งเงินก็ไม่เด็ดขาด สำหรับทิศทางในอนาคตของกองทุน สาวิทย์กล่าวว่า ในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยก็กำลังออกแบบปรับโครงสร้าง เพื่อสร้างกระบวนการตรวจสอบการใช้เงินกองทุน ให้แรงงานเข้าไปมีส่วนร่วม โดยคุยกันว่า ผู้บริหารทั้งหมดน่าจะมาจากการเลือกตั้ง โดยเอาสัดส่วนของสมาชิกสหภาพเป็นตัวตั้ง คณะกรรมการด้านอื่น ไตรภาคี คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ให้ลูกจ้างมีส่วนร่วม นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดขยายประกันสังคม ไปสู่แรงงานอื่นๆ เช่น แรงงานในภาคเกษตร ประมง ขยายสิทธิของผู้ประกันตน และผลักดันให้รัฐจ่ายสมทบมากขึ้น เพราะแรงงานก็จ่ายภาษีให้รัฐ วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ช่วงปี 48 เป็นต้นมา ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอำนาจการจัดการตัดสินใจใช้เงินกองทุน 18 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเห็นความเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีความหลากหลายในคณะกรรมการประกันสังคม ทั้งยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่ตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้น คณะกรรการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงตั้งคณะทำงานศึกษาว่าจะผ่าโครงสร้างอย่างไร เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมใหม่ทั้งหมด เพื่อให้การบริหารงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยจะต้องเป็นองค์กรอิสระ แต่ระยะสำคัญขณะนี้ เริ่มจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ประธานบอร์ดควรจะมาจากการสรรหา ไม่ใช่ข้าราชการประจำที่มาจากแต่งตั้งเหมือนในปัจจุบัน ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ควรมาจากการสรรหา คณะกรรมการควรมาจากการเลือกตั้ง โดยใช้สัดส่วนการลงคะแนนตามจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงาน วิไลวรรณ กล่าวต่อว่า ถ้าเป็นโครงสร้างเดิมๆ เราคงเหนื่อยไปอีกนาน ทั้งที่เป็นเงินของเรากลับไม่มีสิทธิ ทั้งที่เราเป็นเจ้าของเงินกลับเอาเงินไปให้คนอื่นบริหาร อรุณี ศรีโต ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายคนตกงานไทยเกรียง ตั้งคำถามว่า ประกันสังคมดีจริงหรือไม่ โดยเจตนารมณ์ บอกว่าเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขจริงหรือ เพราะทุกวันนี้ได้ช่วยเหลือดูแลคนยากจนอย่างไร อรุณีเล่าว่า ตนเองออกจากงานแล้ว แต่ยังประกันตนแบบสมัครใจ ในมาตรา 39 โดยจ่ายสมทบรายเดือนเดือนละ 432 บาท ซึ่งไม่น้อยสำหรับคนตกงานและสูงอายุ ซึ่งหางานทำลำบาก ต้องทำอาชีพอิสระเลี้ยงตัวเอง ทั้งนี้ หากใครจ่ายไม่ไหวก็จะต้องเลิกไป และแม้ว่า ที่ผ่านมา จะพยายามต่อรองกับประกันสังคมให้แก้ไขมาตรา 39 หลายครั้ง แต่ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายคนตกงานไทยเกรียง ตั้งคำถามต่อว่า ขณะที่ยังแข็งแรงนั้น ก็จ่ายเงินให้ได้ แต่เมื่อสูงอายุและยังตกงานจะทำอย่างไร จะต้องส่งเงินไปถึงเมื่อไหร่ ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากนี้ไป 10 ปีข้างหน้าเราจะก้าวเข้าสู่สังคมชราภาพเร็วผิดปกติ โดยขณะที่ยุโรป เยอรมนีจะมีคนปลดเกษียณ 30% แต่เขามีทุกอย่างรองรับแล้ว แล้วไทยซึ่งจะมีผู้สูงอายุ 20% ภายใน 10 ปี เรามีอะไรรองรับหรือไม่ คำตอบคือไม่มีเลย ในสังคมที่เจริญแล้ว มีหลักประกันสำหรับคนปลดเกษียณ โดยทุกคนจะมีรายได้ขั้นต่ำแม้ไม่มีงานทำ เนื่องจากมีการเก็บภาษีจากคนรวย อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย พอมีการเสนอเก็บภาษีจากคนรวยประเด็นนี้ก็จะถูกปัดตกไป เขาเสนอว่า ถ้าเราเรียกร้องให้รัฐช่วย แต่ไม่เรียกร้องให้มีการเก็บภาษีจากคนรวย รัฐจะเอาเงินมาจากไหน นอกจากนี้ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า โลกนี้ไม่มีประเทศไหนที่ประกันสังคมอยู่ภายใต้ราชการ ประเทศที่เจริญแล้ว ประกันสังคมจะเป็นองค์กรอิสระ ในยุโรปแบ่งเป็นทวิภาคีระหว่าง ลูกจ้างและเอกชน ราชการทำหน้าที่เพียงกำกับออกกฎหมาย แต่ไม่ใช่ผู้บริหาร ทำให้นโยบายต่างๆ ออกมาจากตัวแทนของลูกจ้างและนายจ้าง อีก 10 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมจะมีเงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นกองทุนที่มหึมาที่สุดในประเทศ ถามว่าบริหารได้ไหม ถ้าบริหารไม่ได้ก็ต้องเลือกคนเข้ามาบริหารแทน ทั้งนี้ ดร.ณรงค์ เสนอว่า ควรมีการจัดตั้งชมรมผู้ประกันตน เพื่อจ้างคนคอยติดตามตรวจสอบ ว่ามีการใช้เงินในกองทุนอย่างไรบ้าง รวมทั้งทำหน้าที่ประสางานเพ่อดูแลผู้ประกันตน โดยสมาชิกจ่ายเงินคนละ 1 บาทต่อเดือน ซึ่งหากมีสมาชิก 1 ล้านคน ก็จะมีเงิน 1 ล้านบาท อาจเรียกว่า จ่าย 1 บาทเพื่อดูแล 500 บาทที่ผู้ประกันตนเสียให้ประกันสังคมไปในแต่ละเดือนก็ว่าได้ นอกจากนี้ การเข้าชื่อของชมรมดังกล่าวก็สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประกันสังคม หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคการเมืองได้ทันที แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ยังนับ 1 ไม่ได้ ผู้ประกันตนยังไม่สามารถจัดการตัวเอง |