ปลัดแรงงานฯไม่แคร์รพ.เอกชน 112แห่งติดเบรกร่วมถกใหม่1ต.ค.นี้25 .. 50 แนวหน้า มีความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาการให้บริการผู้ประกันตน หลังโรงพยาบาลเอกชน 112 แห่งมีมติร่วมกันไม่เซ็นสัญญาเป็นสมาชิกกองทุนเงินทดแทน โดยเมื่อวันที่ 24 กันยายน ตัวแทนชมรมโรงพยาบาลเอกชนเพื่อการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม นำโดย นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ประธานชมรมฯ นพ.พิพัฒน์ พงศ์รัตนามาน ประธานประสานงานกองทุนเงินทดแทน สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เข้าหารือกับนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยนพ.พิพัฒน์กล่าวถึงสาเหตุที่ชมรมโรงพยาบาลเอกชนถอนตัวจากกองทุนเงินทดแทนว่า เพราะกองทุนเงินทดแทนไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำกับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปัญหานี้ยืดเยื้อมานาน 4-5 ปีแล้ว พวกเราอึดอัดมาก เนื่องจากต้องให้เครดิตทดลองจ่ายให้นายจ้าง ลูกจ้างไปก่อนแล้วไปเบิกกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ทีหลัง แต่ด้วยกฎเกณฑ์การพิจารณาของ สปส.ที่ตั้งมาอย่างซับซ้อน ทำให้โรงพยาบาลเก็บค่ารักษาได้เต็มที่ ทั้งที่รักษาผู้ป่วยหายเป็นปกติไปแล้ว และตอนนี้ค่าแพทย์ค่ายาเราถูกตัด ขณะที่โรงพยาบาลยังต้องคงมาตรฐานของโรงพยาบาลไว้ เพื่อป้องกันผู้ป่วยตำหนิ ทำให้โรงพยาบาลแบกรับภาระไว้เอง ซึ่งขณะนี้ไม่ไหวแล้ว ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลต้องการรู้ตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหัว ค่ารักษาล่วงหน้า ที่กองทุน สปส.กำหนดให้ชัดเจน เพื่อได้คำนวณและกำหนดราคาว่าพอกินหรือไม่ อีกทั้ง อยากให้สปส.มีระบบแน่นอน ยืนยันว่าวันนี้เรามาหาความชัดเจนไม่ได้มาเพื่อกดดัน ด้านนพ.ไพบูลย์ กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นมาก ขณะที่กองทุนเงินทดแทนไม่ได้ปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลให้ตามที่ตกลงกันเมื่อปี 2548 ดังนั้น โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงกว่าที่เบิกได้จริงจากประกันสังคม ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนพร้อมที่จะให้บริการด้านการรักษาพยาบาลผู้ที่เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานการรักษาพยาบาลเช่นเดิม ดังนั้นผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้างจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ขณะที่นายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน กล่าวว่า ชมรมแพทย์มีอะไร ควรเข้ามาพูดคุยซึ่งกระทรวงแรงงานพร้อมช่วยเหลือ แต่อย่าใช้สื่อตอบโต้ ยอมรับว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลา การพิจารณาอาจล่าช้า แต่ตนมีส่วนรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด และคงไม่ยอมให้พิจารณาโดยไม่ผ่านคณะกรรมการการแพทย์ ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้มีระบบการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน กรณีเจ็บป่วยจากการทำงานเป็น 2 ระบบในเวลาเดียวกัน ทั้งกรณีที่นายจ้างต้องจ่ายเงินค่ารักษาลูกจ้างให้โรงพยาบาลโดยตรง กับวิธีที่เรียกเก็บเงินจากกองทุนเงินทดแทน นายจุฑาธวัช ปลัดกระทรวงแรงงานและประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นวาระที่โรงพยาบาลครบรอบกำหนดสัญญาที่ทำไว้กับสปส.จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครจะตัดสินใจต่อสัญญาหรือไม่ เมื่อโรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องการเข้าร่วม สปส.ก็เห็นว่าโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดของรัฐ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆอีกมากที่ต้องการเข้าร่วมกับสปส. "โรงพยาลบาลเอกชน 100 ไม่ต่อสัญญา ก็จะมีโรงพยาบาลอื่นมากกว่า 100 ก็จะเข้ามาแทนที่ เรื่องนี้เราให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายอยู่แล้ว ส่วนใครจะมาต่อรองให้ขึ้นค่าหัวหรือไม่ คณะกรรมการการแพทย์ สปส.ต้องหารือกันอีกครั้ง ซึ่งมีตัวแทนโรงพยาบาลเป็นผู้กำหนดให้เป็นไปตามสภาวะความเป็นจริง ไม่มีใครไปชี้นำได้ อย่างไรก็ตาม รับรองว่า ไม่กระทบการให้บริการผู้ประกันตนแน่นอน" นายจุฑาธวัชกล่าว ส่วนนายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สปส.ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องอัตราค่ารักษาพยาบาล ที่ผ่านมาก็ได้เสนอผ่านกระทรวงขอปรับตัวเลขเพิ่มขึ้นจาก 35,000 บาท แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามีขั้นตอน มีคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้พิจารณาให้รอบคอบ ไม่ใช่ว่ารัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรือเลขา สปส.จะสั่งได้ สำหรับขั้นตอนการเบิกจ่ายที่โรงพยาบาลเอกชนระบุว่าล่าช้านั้นเรากำลังหาสาเหตุอยู่ แต่ความผิดพลาดก็อยู่ที่โรงพยาบาลด้วย เช่น กรณีนิ้วขาดบางโรงพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษา 10,000 บาท สปส.จึงต้องส่งให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณา ถ้าผิดพลาด ข้าราชการจะโดนสอบทั้งอาญา เพ่งและวินัย แต่ยืนยันว่า 99% เสนอมาก็ให้หมด สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายของกองทุนเงินทดแทน ในอัตรา 35,000 สปส.จะเบิกจ่ายให้โรงพยาบาลไม่เกิน 7 วัน แต่สาเหตุที่ต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายยุบหยิบ เพราะต้องการมาตรฐานเดียวกันตามกฎหกระทรวง เนื่องจากโรง พยาบางแห่งเก็บค่ารักษากรณีเจ็บป่วยเหมือนกัน จึงอยากโรงพยาบาลเข้าใจ สปส.ด้วย รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง โดยแต่ละฝ่ายได้ชี้แจงและเคลียร์ปัญหาข้อข้องใจ ทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาล จากกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัย ที่เชื่อว่าจะมีความชัดเจนในตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นสอดคล้องกันที่จะมาหารืออีกครั้งหนึ่งในวันที่ 1 ตุลาคม โดยเชิญผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนและรัฐบาล ขณะที่ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนรับที่จะไปหารือกับสมาชิกเพื่อกำหนดเป็นท่าทีร่วมกันต่อไป สำหรับกองทุนเงินทดแทนนั้น เป็นหนึ่งในกองทุนประกันสังคม ที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่ประสบอันตรายเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะหรือตายจากการทำงาน โดยเก็บเงินสมทบจากสถานประกอบการ นายจ้าง โดยคิดจากค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างทั้งปีรวมกัน คูณด้วยอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการนั้น โดยนายจ้างแต่ละประเภทจะจ่ายในอัตราเงินสมทบหลักที่ไม่เท่ากันระหว่างอัตรา 0.2%-1.0% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการเสี่ยงภัยตามลักษณะงานของกิจการนายจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบตามอัตราหลัก 4 ปีติดต่อกันและในปีที่ 5 เป็นต้นไป อัตราเงินสมทบจะเปลี่ยนแปลงโดยคำนวณจาก อัตราส่วนการสูญเสียในปีที่ผ่านมา เพื่อลดหรือเพิ่มอัตราเงินสมทบที่จะเรียกเก็บจากนายจ้างต่อไป |