Thai / English

ลูกจ้างสิ่งทอ นครปฐมร้องกระทรวงแรงงาน หวั่นนายจ้าง”ลอยแพ”



13 .. 50
กรุงเทพธุรกิจ

ลูกจ้างสิ่งทอ นครปฐมร้องกระทรวงแรงงาน หวั่นนายจ้าง”ลอยแพ” ระบุนายจ้างสั่งทำงาน 4 วัน หยุด 10 วัน วันหยุดงานจ่าย 50%ทยอยขายเครื่องจักรบางส่วนแล้ว ข้อมูลกระทรวงแรงงานระบุกิจการที่ส่อแววเลิกจ้าง ลดขนาดองค์กร ใช้มาตรา 75 หยุดทำงานชั่วคราว จ่าย 50% ที่ผ่านมาพื้นที่ปริมณฑลกรุงเทพเลิกจ้างสูงร่วม 7,000 คน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นางสาวสุรินทร์ พิมพา ฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ นำพนักงานบริษัทเจริญสวัสดิ์ใยเทียมยืด จำกัดร่วม 20 คนเข้าร้องเรียนต่อนายฐาปบุตร ชมเสวี เลขาธิการรมว.แรงงาน เพื่อขอให้กระทรวงแรงงาน เชิญนายจ้างมาพูดคุยให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากลูกจ้างกังวลว่าโรงงานจะปิด ลูกจ้างถูกลอยแพ

ทั้งนี้ที่ผ่านมานายจ้างมีพฤติกรรมหลายอย่างที่ทำให้ลูกจ้างหวั่นไหว เช่นการสั่งให้ลูกจ้างหยุดงาน โดยจ่ายค่าจ้าง 50% (มาตรา 75 พรบ.คุ้มครองแรงงาน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งล่าสุด ให้ลูกจ้างทำงาน 4 วัน หยุด 10 วัน นับตั้งแต่วันที่11 ส.ค.-31 ธ.ค.50 โดยอ้างขาดวัตถุดิบ ทำให้ลูกจ้างเดือดร้อนมาก และจ่ายช้าไม่ตรงกับงวดค่าจ้าง นอกจากนี้บริษัทฯยังมีการทยอยขายวัตถุดิบ เครื่องจักรในส่วนที่ไม่ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีห้ามเคลื่อนย้ายเครื่องจักร

นายฐาปบุตร กล่าวว่ากระทรวงแรงงานไม่สบายใจนักต่อพฤติกรรมของผู้ประกอบการรายนี้ และเห็นว่านายจ้างมีปัญหาอย่างไรควรที่จะพูดคุยกับลูกจ้าง เพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงอยากให้เห็นใจลูกจ้างที่ส่วนใหญ่ทำงานกับโรงงานนาน

ด้านนายอานนท์ อินทรสุขศรี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่ากระทรวงแรงงานจะเชิญนายจ้างพบเพื่อให้เกิดความชัดเจน

ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ วิเคราะห์การสั่งให้หยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายให้ 50% เป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่

ด้านนายบัญฑิต แป้นวิเศษ กลุ่มเพื่อนหญิง กล่าวว่าลูกจ้างที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา การได้รับค่าจ้าง 50% ลูกจ้างอยู่ไม่ได้ เดือนหนึ่งๆ ได้ทำงานเพียง 4 วัน ลูกจ้างอยู่ได้อย่างไร เรื่องนี้ตนตั้งข้อสังเกตว่านายจ้างต้องการบีบให้ลูกจ้างลาเอง เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้าง ข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้าง ระหว่างวันที่ 1 มค.-6 กย.ที่ผ่านมา มีกิจการที่เลิกจ้างลูกจ้าง 68 แห่ง จำนวนนี้เป็นการปิดกิจการ 43 แห่ง รวมลูกจ้างกว่า 1.3 หมื่นคน อีก 25 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน โดยยังดำเนินการต่อไป สำหรับกิจการที่มีแนวโน้มเลิกจ้างมี 64 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มี 17 แห่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด กิจการที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง มักมีลักษณะเช่นมีการลดขนาดองค์กร มีการหยุดกิจการชั่วคราว โดยจ่าย 50% ค้างจ่ายค่าจ้าง และลดปริมาณการผลิต

อย่างไรก็ตามยังมีกิจการบางส่วนที่กิจการได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มีการเลิกจ้างกิจการจำนวน 126 แห่ง ทั้งนี้อีก 39 แห่งที่ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 1.2 หมื่นคน ในจังหวัดบุรีรัมย์ ขอนแก่น สุพรรณบุรี มุกดาหาร สุรินทร์ อำนาจเจริญ

กิจการที่มีการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมากพบว่าเป็นกิจการเกี่ยวกับการผลิตเครื่องแต่งกาย ถูกเลิกจ้างมากสุด รองเป็นการผลิตเฟอร์นิเจอร์เครื่องผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม การผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากปัญหาประสบภาวะเศรษฐกิจ จนขาดทุนและขาดสภาพคล่องทางการเงิน คิดเป็น 45% รองลงมาเกิดจากสาเหตุการสั่งซื้อลดลง 19%

รายงานข่าวแจ้งว่าพื้นที่เขตปริมณฑลรอบกรุงเทพ 5 จังหวัดมีการเลิกจ้างลูกจ้างร่วม 7000 คน คิดเป็นกว่า 40 % ของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด

สำหรับพื้นที่ที่มีแนวโน้มเลิกจ้างมากเป็นพื้นที่ภาคกลาง รองเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดรอบปริมณฑลกรุงเทพ ในกิจการการฟอก

ตกแต่งหนังสัตว์ รองเท้า เครื่องแต่งกาย อาหารและเครื่องดื่ม