Thai / English

"ไนกี้บุรีรัมย์ยูเนี่ยนชูส์"ลาโรงตาม"สหยูเนี่ยน"



31 .. 50
ประชาชาติธุรกิจ

โรงงานตัดเย็บรองเท้าไนกี้ "บุรีรัมย์ ยูเนี่ยน ชูส์" แจ้งปิดกิจการ 2 แห่งรวด เลิกจ้างแรงงานกว่า 800 คน มีผล พ.ย.นี้ พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานกว่า 17 ล้าน ขณะที่สิ้นเดือน ส.ค.นี้บริษัทในเครือก็ประกาศปิดกิจการไปแล้ว 2 แห่ง ด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานบุรีรัมย์เร่งจัดอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิแรงงาน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายหลังถูกเลิกจ้าง

แหล่งข่าวจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โรงงานตัดเย็บหน้ารองเท้าก่อนประกอบผลิตเป็นรองเท้ายี่ห้อไนกี้ของบริษัท บุรีรัมย์ ยูเนี่ยน ชูส์ จำกัด สาขา ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ และสาขา ต.ละลวด อ.ชำนิ รวม 2 แห่ง ได้แจ้งหยุดกิจการ และเลิกจ้างพนักงานกว่า 800 คน หลังได้รับผลกระทบจากบริษัทสหยูเนี่ยน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ปิดกิจการ ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะจ่ายเงินชดเชยเป็นเงินค่าตอบแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างวันหยุดประจำปีที่ยังไม่ได้ลาให้กับพนักงาน มูลค่ากว่า 17 ล้านบาท

ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวจะหยุดกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2550 ส่วนสาเหตุที่ปิดกิจการบริษัทให้เหตุผลว่า เพราะการผลิตประเภทกิจการรองเท้ามีการแข่งขันสูงทำให้มีกำไรน้อย ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ รวมทั้งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ทำให้บริษัทไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการต่อไปได้

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ บริษัท บ้านไผ่ ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้แจ้งปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานไปแล้ว 2 แห่งเช่นกัน มีแรงงานกว่า 670 คน โดยทางบริษัทยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับแรงงานทั้งหมดเป็นเงินกว่า 9 ล้านบาท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2550 นี้

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า แรงงานที่ถูกเลิกจ้างเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อ.พุทไธสง และ อ.ลำปลายมาศ พร้อมที่จะรับเข้าทำงานต่อ ส่วนแรงงานที่ยังไม่มีงานทำ ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ได้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปดูแลด้านสวัสดิการต่างๆ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งจัดหาตำแหน่งงานว่างให้กับแรงงานถ้าหากแรงงานต้องการ เพื่อคลายความเดือดร้อนให้กับแรงงานดังกล่าวแล้ว

ด้านนายสุวิทยา จันทวงศ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ทางสำนักงานได้จัดโครงการส่งเสริมพัฒนาและกำกับดูแลแรงงานในระบบ โดยจะมีการอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิแรงงานและส่งเสริมพัฒนาเครือข่ายการคุ้มครองแรงงาน ให้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง ประชาชน เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อาสาสมัครแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งสิทธิหน้าที่ต่างๆ ให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ป้องกันปัญหาการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งให้เครือข่ายช่วยเหลือในการคุ้มครองดูแลแรงงาน และช่วยชี้เบาะแสการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม โดยจะจัดอบรม 2 รุ่น รุ่นละ 100 คน

ปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมย์ มีสถานประกอบการและโรงงานอยู่ในความดูแลกว่า 1,600 แห่ง เครือข่ายดังกล่าวจะเป็นตัวแทนในการปกป้องพิทักษ์สิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน พร้อมทั้งนำความรู้ไปเผยแพร่ให้กับกลุ่มแรงงานด้วยกันด้วย