Thai / English

เตรียมบุกทำเนียบร้องเพิ่มค่าแรง "วิไลวรรณ" ยันค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่ต่ำกว่าวันละ 233 บาท



23 .. 50
แนวหน้า

นายยงยุทธ แฉล้มวงศ์ ผู้อำนวยการวิจัยเพื่อการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) มีมติให้ปรับเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจขึ้นร้อยละ 4 ว่าคงไม่ส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อมากนัก และแต่ละรัฐวิสาหกิจก็คงจะปรับเพิ่มไม่เท่ากัน เพราะความสามารถในการจ่ายไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มครั้งนี้ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างภาคเอกชน เพราะมิฉะนั้นจะถูกครหาได้ว่าฝนตกไม่ทั่วฟ้า

นายยงยุทธกล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องต้นทุนการผลิตร้อยละ 10-15 แต่ก็ต้องปรับให้ลูกจ้าง เพราะเมื่อราชการและรัฐวิสาหกิจปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าขึ้นราคาไปแล้ว ดังนั้นลูกจ้างภาคเอกชนซึ่งมีรายได้น้อยอยู่แล้วควรได้รับการปรับด้วย ซึ่งเชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อเรื่องการจ้างงาน แต่อาจมีผลต่อสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่มีโครงสร้างเงินเดือนของตัวเอง จึงต้องอิงฐานการปรับเงินเดือนไว้กับค่าจ้างขั้นต่ำ

ด้านนายสมเกียรติ รอดเจริญ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรรมการ ครส. กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อพิจารณาการปรับเพิ่มเงินเดือนครั้งนี้ ผู้แทนของกระทรวงการคลังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในส่วนของรัฐวิสาหกิจประเภทที่ 3 ซึ่งมี 39 แห่งนั้น แม้มีมติให้ปรับเพิ่มร้อยละ 4 เหมือนกันหมด แต่บางรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนจะทำอย่างไร ดังนั้นที่ประชุมจึงได้ระบุมติไว้ด้วยว่า การปรับอัตราเงินเดือนค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจไม่ควรปรับขึ้นทุกรัฐวิสาหกิจ และบางแห่งก็มีเงินเดือนใกล้เคียงกับเงินเดือนค่าจ้างเอกชนแล้ว

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า คสรท.ได้ร่วมกับนักวิชาการด้านเศรษฐกิจประเมินถึงสถานการณ์ค่าจ้างแรงงานไทย พบว่าปัจจุบัน นายจ้างเลิกจ้าง ย้ายฐานการผลิต เป็นเรื่องปกติ และนายจ้างส่วนใหญ่อ้างเงินบาทแข็ง เศรษฐกิจถดถอย ถือโอกาสลดสวัสดิการ รวมถึงเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้มีการขอให้รัฐบาลช่วยในเรื่องเงินกู้จำนวนมาก ไม่เคยที่จะหันมาใส่ใจลูกจ้างว่าจะมีความเป็นอยู่อดอยากอย่างไร

"เราเป็นลูกจ้าง จำเป็นต้องมีเงินใช้จ่าย ซึ่งตอนนี้ค่าครองชีพก็สูงมาก ข้าวของทุกอย่างแพง ในขณะที่แต่ละคนเงินเดือนน้อยนิดใช้จ่ายไม่พอ ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้ รัฐบาลประกาศให้ราชการ รัฐวิสาหกิจ ขึ้นไปแล้วแต่ถามว่าทำไมไม่เห็นใจลูกจ้างคนงานบ้างหรือให้ความเป็นธรรมกันบ้างหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ คสรท.จะไปที่ทำเนียบรัฐบาลยื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นากยกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือนคนงานเป็นวันละ 233 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ในช่วงเช้าและช่วงบ่ายจะเดินทางไปยื่นให้กับนายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน ให้เร่งประกาศขึ้นค่าจ้างด้วย"น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ คสรท.จะเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง โดยเก็บเงินจากนายจ้าง สถานประกอบการ เพื่อป้องกันการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับเงินชดเชย เพราะสถานการณ์ปัจจุบันนายจ้างมักจะอ้างสถานการณ์เงินบาท เพื่อที่จะเลิกจ้างและย้ายฐานการผลิต โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย