Thai / English

โรงงานเจ๊งลามถึงโคราช สหยูเนี่ยนจ่อปิดอีกแห่ง

พนักงานพันคนระส่ำ/อภัยผุด3ไอเดียรับมือ นายกฯสั่งคลัง-ธปท.คลอดแผนอุ้มเอสเอ็มอี

04 .. 50
แนวหน้า

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เร่งเพิ่มมาตรการระยะยาวเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยด่วน หลังเกิดปัญหาโรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลง เพราะแบกรับภาระการขาดแคลนแรงงานและปัญหาค่าเงินบาทไม่ไหว ขณะที่กระทรวงแรงงานยืนยันว่าปัญหาการเลิกจ้างแรงงานที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ยังทรงตัว ไม่ถึงขั้นวิกฤติเท่าปี 2540

นายกฯเรียก ธปท.ถกแก้ค่าเงิน-รง.เจ๊ง

ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ว่า ตนจะหารือกับนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม และนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ในเที่ยงวันนี้(3 สิงหาคม) เกี่ยวกับเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งในการหารือคงต้องประเมินผลว่าในช่วงที่ดำเนินการไปแล้วมีสิ่งดี หรือไม่ดีอะไรบ้างและขณะนี้ต้องมองถึงมาตรการระยะยาว มาตรการที่ออกไป 6 มาตรการเรียกว่าระยะปานกลาง ต่อไปต้องมีมาตรการระยะยาวออกมาอีก

"โฆษิต"ขวางเพิ่มแพ็คเกจสู้พิษบาท

ต่อมามีการประชุมร่วมกันของนายกรัฐมนตรี นายโฆษิต และนางธาริษา ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายโฆสิต กล่าวหลังการหารือว่า ยังไม่จำเป็นต้องปรับปรุงหรือเพิ่มเติมใน 6 มาตรการที่นำมาใช้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท เพราะยังไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งในการหารือยังไม่สรุปการใช้ 6 มาตรการ ต้องดูผลการนำมาใช้อีกระยะ และนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามสถานการณ์ด้านอุตสาหกรรมที่มีโรงงานปิดตัวลงหลายแห่ง จึงชี้แจงให้รับทราบ โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานและปัญหาเฉพาะจุดที่เกิดจากหลายเหตุผลในหลายโรงงาน ที่ต้องมีการบริหารการดูแลคนงาน โดยเชื่อว่าจะดูแลได้ และในวันที่ 6 สิงหาคม คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมจะหารือเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ศึกษาเกี่ยวกับการนำมาตรการระยะยาวมาใช้

แบงก์ชาติคลอดแผนอุ้มเอสเอ็มอี

ด้านนางธาริษา กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMES) ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 5,000 ล้านบาท นั้น ธปท.ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) แล้ว เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุป คือ 1.จัดให้มีวงเงินให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท โดยวงเงิน 4,500 ล้านบาทให้กับผู้ประกอบการ SMES ทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทและขาดสภาพคล่อง อีก 500 ล้านบาท จะให้แก่ SMES ที่ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงและอาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ให้ ธนาคารพาณิชย์

ช่วย3ปี-รายละไม่เกิน5ล้าน

2.ระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ 3 ปี 3.SMES แต่ละรายจะได้รับความช่วยเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 5 ล้านบาท ให้ใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ตามช่องทางปกติ 4.ธปท.จะจัดสรรวงเงินให้แต่ละธนาคาร โดยใช้ยอดคงค้างสินเชื่อ SMES ของแต่ละธนาคาร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 เป็นเกณฑ์จัดสรร 5.ในส่วนของวงเงิน 4,500 ล้านบาท ธปท. และธนาคารพาณิชย์สมทบเท่ากันในอัตราร้อยละ 50 ของเงินที่ให้ความช่วยเหลือ โดยให้ธนาคารเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยจากลูกค้า ไม่เกินอัตราร้อยละ MLR(อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดีแบบมีระยะเวลา)-2.25 ต่อปี และ ธปท. คิดจากธนาคารพาณิชย์ในส่วนที่เป็นเงิน ของ ธปท. ในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี

6.ในส่วนของวงเงิน 500 ล้านบาท ธปท. จะสมทบให้ร้อยละ 90 และธนาคารพาณิชย์สมทบร้อยละ 10 ของเงินที่ให้ความช่วยเหลือ โดย ธปท. คิดดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนธนาคารพาณิชย์คิดจากลูกค้าในอัตราไม่เกินร้อยละ MLR+1 ต่อปี เนื่องจากลูกค้าในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงภาวะหนี้เสียสูง อัตราดอกเบี้ยถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับลูกค้าในกลุ่มนี้ที่ปกติธนาคารพาณิชย์จะคิดดอกเบี้ยในอัตราอย่างน้อยร้อยละ MLR+4 ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม ซึ่งผู้ประกอบกิจการสามารถติดต่อโดยตรงกับธนาคารที่ตนเองใช้บริการอยู่

แรงงานยันภาวะเลิกจ้างไม่วิกฤติ

ขณะที่ภาวะเลิกจ้างแรงงานยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยนายอานนท์ อินทรสุขศรี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างทั่วประเทศ ว่า มี 14 จังหวัดที่รายงานสถานการณ์การเลิกจ้างเข้ามา และอีก 6 พื้นที่ใน กทม. ซึ่งมีทั้งสถานการณ์ปกติและอยู่ในข่ายเฝ้าระวัง เนื่องจากผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่า แต่ยังไม่มีการเลิกจ้าง สถานการณ์ขณะนี้ยังถือว่าทรงตัว ไม่วิกฤติถึงขั้นปี 2540 แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้จะรวบรวมข้อมูลเสนอนายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน และจะหารือแนวทางแก้ไขปัญหาสัปดาห์หน้า

"อภัย"ผุด3มาตรการรับมือ

ด้านนายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์การจ้างงาน โดยเฉพาะกิจการส่งออกรายใหญ่ยังปกติ ไม่อยู่ในขั้นวิกฤติ หรือน่าเป็นห่วง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการ 3 ด้านเพื่อป้องกัน คือ 1.ให้เจ้าหน้าที่หมั่นออกพื้นที่พูดคุยกับนายจ้างเพื่อพิจารณาข้อกฎหมายการชะลอเลิกจ้าง โดยให้ประสานงานกับจังหวัดใกล้เคียงด้วย 2.ให้จัดตำแหน่งงานรองรับเป็นทางเลือกให้แก่ลูกจ้าง เพราะแรงงานอุสาหกรรมส่งออกส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือและมีประสบการณ์ และ 3.เรื่องสิทธิประโยชน์ เช่น ประกันว่างงาน เงินค่าจ้างค่าชดเชย ต้องได้รับครบถ้วน

"ได้สั่งเป็นนโยบายด่วนให้แต่ละจังหวัดขึ้นป้ายคัตเอาท์ตำแหน่งงานว่าง เพื่อรับสมัครงาน รองรับการเลิกจ้าง เนื่องจากขณะนี้สภาวะการขาดแคลนแรงงานมีมากกว่าจำนวนคนตกงาน ยืนยันว่าข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีโรงงานที่ปิดกิจการ แต่มีโรงงานที่เข้าข่ายเฝ้าระวัง" นายอภัย กล่าว

รง.เครือสหยูเนี่ยนโคราชจ่อปิดอีกแห่ง

นายอภัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของบริษัทยูเนี่ยน ฟุทแวร์ จำกัด(มหาชน) ที่จะปิดกิจการในสิ้นปีนี้ ว่า ทางผู้บริหารบริษัทเตรียมโอนย้ายลูกจ้างกว่า 2,400 คน ไปทำงานกับบริษัทในเครือของสหยูเนี่ยนอีก 9 แห่ง โดยยินดีจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชย 180 ล้านบาท

ด้านนายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ แรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทพิมายฟุทแวร์ จำกัด ตั้งอยู่ใน อ.พิมาย ซึ่งผลิตรองเท้ายี่ห้อไนกี้ และอยู่ในเครือสหยูเนี่ยน มีพนักงานกว่า 1 พันคน มีแนวโน้มจะต้องปิดตัวลง เนื่องจากออเดอร์การสั่งผลิตรองเท้ายี่ห้อไนกี้และชิ้นส่วนต่างๆมีไปถึงปี 2551 เท่านั้น โดยในปีนี้ถึงปี 2551 ทางโรงงานจะไม่มีการลดพนักงานแต่อย่างใด สำหรับออเดอร์ในปี 2552 และปีต่อๆไปทางบริษัทแม่ของไนกี้จะสั่งสินค้าปีต่อปี และจะต้องพิจารณาถึงค่าเงินบาทของไทยอีกครั้ง ซึ่งทางโรงงานต้องรอดูสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร ถ้าปี 2552 ไม่มีออเดอร์เข้ามาก็อาจต้องปิดกิจการ หรือลดพนักงานลง

"ไทยศิลป์"แฉถูกฮั้วราคาขายจักร

วันเดียวกัน นายนิรัญ พวงผกา ตัวแทนกลุ่มคนงานบริษัทไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ได้เข้าพบนายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลย์วุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัด(ผวจ.) สมุทรปราการ เพื่อร้องเรียนให้ช่วยเหลือจากกรณีเจ้าของโรงงานได้ประกาศปิดกิจการ และตัวแทนนายจ้าง คนงาน และ ผวจ.สมุทรปราการ ได้ลงนามในหนังสือข้อตกลงเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สินของโรงงาน เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าชดเชยให้พนักงาน ซึ่งได้ขายทรัพย์สินไปบางส่วนยังเหลือจักรอุตสาหกรรม 2,800 ตัว เบื้องต้นประเมินว่าน่าจะขายได้ 65 ล้านบาท แต่ผู้ซื้อกลับมาฮั้วราคาจะขอซื้อแค่ 24 ล้านบาท ทำให้มีเงินไม่พอจ่ายค่าชดเชย ซึ่งเป็นเงิน 125 ล้านบาท จึงมาร้องขอความช่วยเหลือ

ด้านนายอนุวัฒน์ ได้ขอให้ตัวแทนคนงานรีบรวบรวมนำทรัพย์สินของโรงงานออกจำหน่ายให้มากและเร็วที่สุด เพราะไม่รู้ว่าเจ้าหนี้ธนาคารและเจ้าหนี้อื่นๆจะฟ้องร้องและนำหมายศาลมาปิดหน้าโรงงานเมื่อไร ถ้ามัวแต่เกี่ยงเพื่อต้องการได้ราคาสูงสุดท้ายจะไม่ได้อะไรเลย และรับปากว่าจะช่วยเหลือตามที่ได้เข้ามาร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว

แนะธุรกิจรองเท้าไทยหาตลาดใหม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดรองเท้ากีฬาในประเทศในปี 2550 จะมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท เติบโตประมาณร้อยละ 6 ซึ่งเป็นแนวโน้มชะลอตัวลงจากที่เคยมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10-15 และมูลค่าการส่งออกรองเท้ากีฬาของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทแม่ในต่างประเทศย้ายฐานการผลิตและคำสั่งซื้อไปยังจีนและเวียดนาม ที่มีข้อได้เปรียบเรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานและต้นทุนวัตถุดิบต่ำกว่าไทย ทั้งนี้การแก้ปัญหาคือผู้ส่งออกรองเท้ากีฬาควรเร่งหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดที่น่าสนใจ คือ ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกรองเท้ากีฬาไปยังประเทศเหล่านี้ยังไม่สูงนัก รวมทั้งต้องสำรวจจุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่งในแต่ละตลาด เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการของลูกค้า