ประท้วง บ.ดังลอยแพ พนง.พิษบาทแข็งปิดบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยเดลินิวส์ 03 .. 50 เดลินิวส์ พิษเงินบาทแข็งโป๊กเล่นงานซ้ำบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา เบี้ยวไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยพนักงานที่ถูกลอยแพ แถมหอบเงิน 47 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทรัพย์สินเผ่นหนี จนรวมพลประท้วง ขณะที่อุตสาหกรรมผลิตเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรส่อวิกฤติซ้ำ ส่วนกิจการผลิตเสื้อผ้า-รองเท้าส่งออก จ่อคิวกระอักตามไปด้วย มีแนวโน้มเลิกจ้างแรงงานอีกหลายจังหวัด แต่ที่สุพรรณฯ เจ้าของ 1 ใน 4 บริษัท ออกมายืนยันบริษัทกำลังไปได้ดี ขณะที่ รมว.อุตสาห กรรม-รมว.แรงงาน เร่งหามาตรการแก้ไขเร่งด่วนมั่นใจ ! ไม่ลอยแพแรงงาน ด้านลูกจ้างรถไฟได้เฮ ! "บรรณวิทย์" โดดอุ้มส่งไม้ต่อให้บริษัทเจ้าของสัมปทาน ทำความสะอาดบนขบวนรถไฟ รับลูกจ้างเข้าทำงาน แต่ "สหภาพแรงงาน" ขอให้ตรวจสอบสัญญาว่าได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ สถานการณ์การแก้ไขการปิดโรงงานจากการประสบปัญหาสภาวะเศรษฐกิจค่าเงินบาทแข็งครั้งนี้ เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 ส.ค. ที่บริเวณหน้าศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีพนักงานบริษัทยูนิคดีไซน์ จำกัด ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา เลขที่ 64 หมู่ 2 ต.นครเนื่องเขต อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 200 คน รวมตัวประท้วงอยู่ที่บริเวณเสาธงหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้นายอานนท์ พรหมนารท ผวจ.ฉะเชิงเทรา เร่งช่วยเหลือในเรื่องที่โรงงานปิดตัวลงแต่ไม่ยอมให้ค่าชดเชยตามที่ได้ตกลงกันไว้ นายธนธร พวงศรี อายุ 35 ปี หนึ่งในแกนนำเรียกร้องค่าชดเชยในครั้งนี้ กล่าวว่า ทำงานอยู่ในบริษัทแห่งนี้มา 17 ปี แล้ว ต่อมาบริษัทได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานและปิดโรงงาน เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างแทนการบอกล่วงหน้า ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยการเลิกจ้างให้กับพนักงาน ทั้ง ๆ ที่บางคนอายุมากแล้ว จะไปหางานทำก็ลำบาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่อายุน้อยยังพอหางานทำได้และที่มาเรียกร้องในวันนี้ เพราะต้องการให้เจ้าของโรงงานออกมายืนยันว่าจะจ่ายเงินในวันที่เท่าไหร่จะจ่ายอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมมาเจรจากับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง อีกทั้งทางบริษัทได้ขายทรัพย์สินในโรงงานไปบางส่วน แต่ก็ไม่ยอมนำเงินมาจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงาน นายธนธร กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องมาตั้งแต่สั่งปิดโรงงาน โดยเขียนเรื่องร้องเรียน ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา และทางคุ้มครองแรงงานจังหวัด บอกว่าขอให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงาน โดยสั่งไปตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ให้จ่ายเงินชดเชยแก่พนักงานภายใน 15 วัน แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อ จนต้องร้องเรียนถึง 3 ครั้ง แต่จนขณะนี้ร่วม 2 เดือนแล้ว ยังไม่เห็นเจ้าของโรงงานติดต่อมาแต่อย่างใดโดยทราบด้วยว่าในตอนนี้บริษัทได้ขายกิจการไปแล้วในราคา 47 ล้านบาท จึงน่าจะนำเงินส่วนนี้มาจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง สรุปแล้วจนถึงวันนี้ยังไม่ได้เงินและไม่ได้พบเจ้าของโรงงานอีกเลย จึงต้องมารวมตัวเรียกเงินชดเชยอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ว่าฯช่วยเหลือให้บริษัทจ่ายเงิน เพราะเดือดร้อนกันจริง ๆ ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดมารับเรื่องโดยแจ้งว่าจะฟ้องร้องตามกฎหมายเพื่อนำเงินมาจ่ายชดเชยให้แก่พนักงานต่อไป ที่กระทรวงแรงงาน นายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัทยูเนี่ยน ฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) ที่ถูกเลิกจ้างหลายพันคน ว่า ตนและนายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จะเดินทางไปพบนายจ้างเพื่อเจรจาให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด อาทิ การจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยการบอกเลิกจ้าง 180 ล้านบาท เป็นต้น และให้จัดหางานจังหวัดเตรียมตำแหน่งงานรองรับพนักงานที่ตกงาน โดยเฉพาะในโรงงานใกล้เคียงหรือใช้ลักษณะหมุนเวียนโรงงานในเครือ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือการคัดคนงานเข้าทำงานอยากขอร้องให้นายจ้างรับคนสูงวัยกลับเข้าทำงาน เพราะฝีมือไม่ได้เป็นรองและขอยืนยันว่ากระทรวงแรงงานจะเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ แต่เป็นที่น่ายินดีว่าโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่ดี เมื่อจะเลิกจ้างได้บอกล่วงหน้า ทำให้มีมาตรการในการช่วยเหลือเป็นไปอย่างราบรื่น "ขณะนี้มีโรงงานทั่วประเทศ 3 แสนกว่าแห่ง มีเพียงไม่กี่ร้อยโรงงานที่มีปัญหา จึงไม่อยากให้ลูกจ้างตื่นตระหนก ในฐานะที่ดูแลคนงานก็ต้องแก้ไขเฉพาะทีละเรื่องแบบวันต่อวันก่อน จนกว่าสถานการณ์เป็นปกติ ยอมรับว่าหนักใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะกระทรวงแรงงานต้องเข้าดูโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานใหญ่ที่มีสัญญากับต่างประเทศ มีการเฝ้าระวังกลุ่มพวกนี้อย่างมาก ซึ่งข้อเสนอต่าง ๆ ของนายจ้าง ได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมทุกครั้งและจะรายงานสถานการณ์ให้ที่ประชุมรับทราบอีกครั้งในวันที่ 6 ส.ค. นี้" นายอภัย กล่าวและว่าสถานการณ์โรงงาน 4 แห่ง ใน จ.สุพรรณบุรี ได้รับการยืนยันจากนายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วว่า ทั้ง 4 โรงงานยังปกติ แค่เพียงต้องการให้ภาครัฐดูแลรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้นิ่ง โดยโรงงานได้ปรับตัวปรับปรุงคุณภาพเป็นหลัก ทั้งนี้ในวันที่ 3 ส.ค. จะเดินทางลงไป เจรจากับนายจ้างของโรงงานทั้ง 4 แห่ง วันเดียวกัน นายอภัย รมว.แรงงาน นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงานเพื่อรับทราบสถานการณ์ปัญหาการปิดโรงงานในเครือของกลุ่มสหยูเนี่ยนบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีนายอานนท์ พรหมนารท ผวจ.ฉะเชิงเทราและคณะให้การต้อนรับพร้อมทั้งรายงานถึงสถานการณ์การปิดโรงงานให้ทราบ โดยคณะกรรมการบริษัทมีมติให้ปิดกิจการเฉพาะในส่วนของบริษัทยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) และจะจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามสิทธิและค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและได้ชี้แจงถึงการเลิกจ้างให้กับลูกจ้างได้รับทราบแล้ว ด้าน นายนิพนธ์ ชวลิตมณเฑียร เจ้าของบริษัทไฮเทค แอพพาเรล เปิดเผยว่า บริษัทเป็น 1 ใน 4 ที่ถูกพาดพิง โดยบริษัทมีกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและส่งออก ในปี 49 มียอดส่งออกมากกว่า 3 พันล้านบาท นับเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 อันดับของประเทศไทย มีสาขาทั้งหมด 6 โรงงาน ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งนี้บริษัท ไม่มีปัญหาตามข่าวแต่ประการใดและถึง แม้จะมีปัญหาค่าเงินบาทแข็ง แต่บริษัทได้ปรับตัวพัฒนามาตลอดทั้งระบบ ที่เน้นคุณภาพและราคาและขณะนี้กำลังขยายงานเพิ่มการผลิต โดยเฉพาะที่สุพรรณบุรี ต้องการแรงงานมีฝีมืออีกไม่ต่ำกว่า 200 อัตรา นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระ ทรวงแรงงงาน กล่าวสรุปสถานการณ์แนวโน้ม การเลิกจ้างและปิดกิจการใน 75 จังหวัดว่า จากการรายงานของสำนักตรวจและประเมินผลและมีแรงงานจังหวัดส่งข้อมูลมาเพียง 10 จังหวัด โดยจังหวัดเลิกจ้างมากที่สุด คือ จ.ชลบุรี ปทุมธานี ส่วนที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง คือ จ.กาญจนบุรี อยู่ในขอบข่ายเฝ้าระวัง คือ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก ชัยภูมิ พระนครศรีอยุธยา อำนาจเจริญและลำปาง ส่วนจังหวัดที่ไม่มีการรายงานผล ได้กำชับให้เร่งรายงานมาที่กระทรวงโดยด่วน สำหรับปัญหา และแนวโน้มการเลิกจ้างส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุร กิจการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬาส่งออก เนื่องจากแฟชั่นมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมรองเท้าหนังมากขึ้น แต่ไม่มีการพัฒนารูปแบบของสินค้า ทำให้ความนิยมลดลงและเป็นเหมือนกันทั่วโลก ส่วนเรื่องปัญหาค่าเงินบาทเชื่อว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยจะเสนอ รมว. แรงงาน จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์แรงงาน เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ทำเนียบรัฐบาล นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงปัญหาการปิดโรงงานอุตสาหกรรมว่า ในวันที่ 6 ส.ค. นี้จะนำปัญหาการปิดโรงงานและแรงงานที่ได้รับผลกระทบมาหารือในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนร่วมที่มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชนและนักวิชาการ เป็นคณะกรรมการ ในวันที่ 8 ส.ค. จะประชุมคณะอนุกรรมการธุรกิจรายสาขา เพื่อดูแลธุรกิจที่ประสบปัญหาเป็นรายประเภท สำหรับการให้ความช่วยเหลือ บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ คงไม่มีปัญหามากนัก เพราะถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่พร้อมจะช่วยเหลือคนงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ขณะที่นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ อุตสาหกรรมกลุ่มรองเท้าและอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะกิจการ ตัดเย็บ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากในการผลิต ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้และล่าสุดอุตสาหกรรมภาคเหนือรายงานว่า โรงงานอุตสาหกรรมใน จ.เชียงราย ที่ผลิต เกี่ยวกับพืชผลเกษตรเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และผู้บริหาร รฟท. เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเลิกจ้างพนักงานทำความสะอาดบนขบวนรถไฟและเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน จนเป็นเหตุลูกจ้างชั่วคราว รฟท. รวมตัวประท้วงว่า ในวันที่ 3 ส.ค. รฟท. จะเรียกบริษัท กำแพงเพชรคลีน นิ่ง เซอร์วิส ซึ่งเป็นเอกชนที่ได้รับสัมปทานทำความสะอาดบนขบวนรถไฟมาเจรจาว่า จะรับลูกจ้างชั่วคราวของ รฟท. กว่า 100 คนเข้าทำงานในบริษัทฯได้หรือไม่ เนื่องจาก รฟท. ได้ทำสัญญาว่าจ้างให้เข้ามาดำเนินการแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นมืออาชีพและถ้ายกเลิกถือว่ามีความผิด "นอกจากนี้สหภาพฯ ได้ขอให้ตรวจสอบสัญญาว่าจ้าง เนื่องจากได้รับรายงานว่าสัญญาได้มาโดยมิชอบ มีลักษณะเดียวกับการประมูลงานในสนามบินสุวรรณภูมิและให้พิจารณาเรื่องอัตราค่าจ้าง เพราะในปัจจุบัน ได้จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างชั่วคราว ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ในอัตราวันละ 184 บาท ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 191 บาท ซึ่ง รฟท. ต้องเจรจากับบริษัทเอกชนว่าถ้าหากรับลูกจ้างชั่วคราวของ รฟท. เข้าทำงานแล้วจะจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำได้หรือไม่" พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าว ส่วนที่ทำการกลุ่มไทยรักไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล กรรมการบริหารกลุ่มไทยรักไทย นำรองเท้าผ้าใบตราสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี แถลงต่อสื่อมวลชนถึงการบริหารงานล้มเหลวของรัฐบาล จนเกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ไม่เห็นว่ารัฐบาลจะดูแลเรื่องปากท้องของประชาชน ทำให้มีโรงงานหลายแห่งปิดตัวลง จึงนำรองเท้าต้นแบบ มีรูปสัญลักษณ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี ส่งไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำเข้าสู่การพิจารณาว่าสามารถผลิตได้หรือไม่และหากแมนฯซิตีสั่งซื้อโรงงานต่าง ๆ จะได้ไม่ต้อง ปิดตัว คนงานจะมีงานทำและโรงงานกล่องกระดาษ โรงงานถุงเท้า จะได้อานิสงส์ไปด้วย. |