Thai / English

รง.รองเท้ารายใหญ่ปิดรวด 2 แห่ง ฉันทนาเคว้งทันที 6 พันชีวิต


ผู้จัดการ
01 .. 50
ผู้จัดการ

พิษค่าเงินบาทผันผวน กระทบโรงงานส่งออกรองเท้ารายใหญ่ โดยในวันนี้ ประกาศปิดกิจการแล้ว 2 แห่ง พนักงานเกือบ 6 พันคน เคว้งคว้างในทันที ปลัดแรงงานฯ เต้นผาง! หลังพบอีก 4 แห่งจ่อล้ม สั่งหน่วยงานระดับจังหวัดติดตามใกล้ชิด

วันนี้ (1 ส.ค.) มีรายงานบรรยากาศบริเวณโรงงานบริษัทในเครือกลุ่มสหยูเนียน กม.38 ถนนบางนา-ตราด จ.ฉะเชิงเทรา พบว่า พนักงานของบริษัทในเครือยังคงปฏิบัติงานตามปกติ โดยพนักงานได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ทางผู้บริหาร บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าแล้วว่า บริษัทจะยุติการดำเนินกิจการ พร้อมยืนยันที่จะจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานตามกฎหมายแรงงานทุกประการ

ขณะที่พนักงานบางส่วนอาจเกลี่ยไปทำงานยังบริษัทในเครือแทน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.ยูเนี่ยนฟุทแวร์ ยังไม่ยอมพบผู้สื่อข่าว โดยอ้างติดประชุมตลอดทั้งวัน แต่พนักงานบางรายก็ยอมรับว่า รู้สึกตกใจที่บริษัทต้องปิดกิจการลงทั้งที่ทำงานมานานแล้ว สำหรับพนักงาน บมจ.ยูเนี่ยนฟุทแวร์ ขณะนี้มีประมาณ 4,000 คน

ทั้งนี้ ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ ถือเป็น 1 ในเครือกลุ่มบริษัทของ สหยูเนี่ยน จำกัด ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการบริหารคนสำคัญ

บริษัท ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ที่ 5 ถนนบางนา-ตราด ต.บางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งรับผลิตรองเท้ายี่ห้อไนกี้ส่งออก มีทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 200 ล้านบาท ได้แจ้งมติที่ประชุมกรรมการบริหารเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ว่า ขอปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2550 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ บริษัทได้แจ้งว่า โรงงานดังกล่าวยังไม่ปิดกิจการทันที เนื่องจากยังมีออเดอร์การผลิตที่ค้างสต๊อก และต้องผลิตเพื่อส่งลูกค้าไปจนถึงสิ้นปี

สำหรับสาเหตุที่บริษัทดังกล่าวประกาศปิดกิจการเป็นเพราะกิจการผลิตรองเท้ามีการแข่งขันค่อนข้างสูง อีกทั้งต้องประสบกับปัญหาการแข็งค่าของค่าเงินบาท ทำให้บริษัทต้องขาดทุนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และกิจการขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบริษัทได้ยืนยันว่า จะปฏิบัติตามกฎหมาย โดยจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ พนักงานที่ถูกเลิกจ้างถือเป็นแรงงานฝีมือ และมีอายุการทำงานนาน ในเรื่องนี้บริษัทแจ้งว่าพร้อมจะรับโอนพนักงานมาทำงานในบริษัทที่อยู่ในเครืออีก 9 บริษัท ซึ่งประกอบกิจกการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ งานบริการสาธารณูปโภค ผลิตเม็ดพลาสติก ผลิตซ่อมแซมแม่พิมพ์ เป็นต้น

ผู้บริหารของ ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ ยอมรับว่า ในภาวะขณะนี้ โรงงานที่ประกอบกิจการผลิตรองเท้าหลายรายต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูง ในเมืองไทยสถานประกอบกิจการผลิตรองเท้าต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ซึ่งบริษัทแบรนด์เนมชื่อดังที่มาจ้างผลิตมีทางเลือกหาแหล่งผลิตที่ราคาถูกที่ไหนได้ เขาก็จะไป ผู้ผลิตเมืองไทยจึงต้องปรับตัว เพราะขณะนี้บริษัทแบรนด์เนมได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีน เวียดนาม และอินเดีย วันนี้หากนายจ้างไทยอยากอยู่รอดจำเป็นจะต้องสร้างแบรนด์ของเราขึ้นมาเอง”

การประกาศปิดกิจการของบริษัท ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ วันนี้ ผู้เชี่ยวชาญภาคอุตสาหกรรมได้ประเมินว่า จะส่งผลกระทบต่อบริษัทรายย่อยที่รับผลิตชั้นส่วนรองเท้าอีกหลายแห่ง ซึ่งต้องมีการเลิกจ้างและปรับเปลี่ยนกิจการตามไปด้วย

ล่าสุด มีรายงานว่า บริษัท รังสิตฟุทแวร์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตรองเท้าแบรนด์แนมส่งออก ตั้งอยู่ที่ จ.อยุธยา มีลูกจ้างจำนวนกว่า 1,900 คน ได้ประกาศมาตรการชะลอการเลิกจ้างโดยแจ้งให้พนักงานทราบว่าจะมีการจ้างงานถึง เดือน ส.ค.-ก.ย.เนื่องจากประสบกับปัญหาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จึงขอเลิกจ้างและได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย รวมทั้งจะโอนย้ายพนักงานไปทำงานในบริษัทในเครือ

ปลัดแรงงานฯ เต้น! หลังพบ 4 แห่งจ่อล้ม

นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การเลิกจ้าง ว่า ได้รับรายงานจากแรงงานจังหวัดสุพรรณบุรี ว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท โชคนำชัย ออโต้เพรสซิ่ง จำกัด ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แม่พิมพ์ส่งออกมูลค่า 100 ล้านบาท/เดือน บริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด ส่งออกผักผลไม้กระป๋องไปยุโรป มูลค่า 90 ล้านบาท/เดือน บริษัท สุพรรณ ฟู้ดแวร์ จำกัด ผลิตรองเท้าอาดิดาส มูลค่าเดือนละกว่า 90 ล้านบาท และบริษัท ไฮ-แทค แอพพาเรล จำกัด ผลิตกางเกงบอกเซอร์ ได้ 25 ล้านบาท/เดือน ประสบปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า อยู่ระหว่างลดต้นทุนการผลิต และใช้มาตรการชะลอการเลิกจ้าง ทั้งนี้ ได้สั่งการให้แรงงานจ.สุพรรณบุรีเรียกนายจ้าง 4 โรงงานหารือเพื่อแก้ปัญหาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (2 ส.ค.) กระทรวงแรงงานจะเปิดเผยข้อมูลที่แรงงานจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด ให้รับทราบถึงสถานการณ์การจ้างงานและภาวะสุ่มเสี่ยงเลิกจ้าง