ไฟลามทุ่งเอสเอ็มอีรับจ้างผลิต ปิดรง.เย็บเสื้อผ้ามหาสารคามประชาชาติธุรกิจ 26 .. 50 เครือมติชน โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเมืองสารคามอ่วมพิษบาทแข็ง เจ๊งแล้ว 1 โรง คนตกงานร่วม 200 คน ด้านโรงงานที่เหลือเร่งผลิตสินค้าออร์เดอร์เก่าให้เสร็จทันตามสัญญา ไม่เช่นนั้นจะขาดทุนหนัก ด้านสำนักงานประกันสังคมสารคาม เผยยอดส่งเงินสมทบสวนกระแสยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีผู้ว่างงานจากกรุงเทพฯ-สมุทรปราการมาขอขึ้นทะเบียนวันละเกือบร้อยราย นางประดิษฐ ธรรมดวงศรี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งตัวในขณะนี้ว่า นับตั้งแต่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดมหาสารคามเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่จะรับออร์เดอร์มาจากบริษัทแม่ที่กรุงเทพฯมาผลิต ขณะนี้มีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ปิดตัวลงแล้ว 1 แห่ง ส่งผลให้ลูกจ้างของโรงงานตกงานทันทีกว่า 100 คน และแรงงานภายนอกที่รับงานไปทำที่บ้านว่างงานลงอีกหลายร้อยคน นอกจากนั้นโรงงานทุกแห่งต่างประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน เนื่องจากราคาน้ำมันผันผวนมีการปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่จะต้องส่งสินค้าที่ผลิตเรียบร้อยแล้วไปยังบริษัทแม่เองทั้งหมด สำหรับแนวทางความอยู่รอดของผู้ประกอบการนั้น ขณะนี้ได้มีการหารือกัน คือพยายามรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายในโรงงานให้มากที่สุด พยายามจัดระบบการส่งสินค้าให้ต้นทุนลดต่ำลงมาให้มากที่สุด และเร่งผลิตสินค้าออร์เดอร์เก่าให้เสร็จทันตามสัญญา ไม่เช่นนั้นจะขาดทุนหนัก และพยายามยกระดับฝีมือแรงงาน โดยการอบรมพนักงานระดับหัวหน้างานเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยี เพราะสินค้าที่รับออร์เดอร์มามักจะเป็นสินค้าที่ผลิตได้ยากขึ้น เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ "ในช่วงนี้ผู้ประกอบการจึงต้องคอยประคับประคองตัวเอง ลงไปพูดคุยกับพนักงานให้เข้าใจ ถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะทางบริษัทแม่หลายๆ แห่งกำลังมองไปยังประเทศที่มีค่าแรงงานถูก การย้ายฐานการผลิตเกิดได้ตลอดเวลา ดัง นั้นโรงงานที่รับออร์เดอร์มาจากบริษัทแม่เหล่านั้นจึงอยู่ในลักษณะลูกผีลูกคน อนาคตจะมีงานป้อนโรงงานหรือไม่ยังไม่รู้ ส่วนการปิดโรงงานหาก ไม่จำเป็นจริงๆ ผู้ประกอบการคงไม่มีโครอยากทำ" ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคามกล่าว ด้านนายบุญร่วม พิณพงษ์ นักวิชาการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยถึงยอดการส่งเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างว่า ยอดการส่งเงินสมทบอาจสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ เนื่องเพราะช่วงนี้ยอดการส่งเงินของนายจ้างมียอดคงค้างเพียง 4-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านั้นยอดสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพราะทางสำนักงานได้มีการเร่งรัดและดำเนินการทางกฎหมายกับนายจ้างที่หักเงินลูกจ้างแล้วไม่นำส่งอย่างเคร่งครัด ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ มาแจ้งเลิกกิจการ เพราะถ้าปิดกิจการจะเกี่ยวพันกับการจ่ายเงินชดเชย แต่ในส่วนการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตนช่วงนี้มียอดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีผู้ว่างงานจากเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯและสมุทรปราการ มาขึ้นทะเบียนวันละเกือบ 100 ราย |