Thai / English

"บางกอกโพสต์"แพ้คดีรันเวย์สุวรรณภูมิร้าว ศาลฯสั่งรับหัวหน้าข่าวกลับทำงาน


ผู้จัดการ
24 .. 50
ผู้จัดการ

ศาลแรงงานกลางพิพากษาสั่ง “ บางกอกโพสต์ ” รับกลับ “เสริมสุข- อดีตหน.ข่าวความมั่นคง ” เข้าทำงานไม่ต่ำกว่าตำแหน่ง – เงินเดือน เดิม หลังพบถูกไล่ออกโดยไม่เป็นธรรมกรณีเสนอข่าวรันเวย์หนองงูเห่าร้าว เจ้าตัวดีใจคำพิพากษาศาลสร้างบรรทัดฐาน ชี้ยุค"ทักษิณ"สื่อถูกแทรกแซงมากที่สุด ฝากผู้บริหารบางกอกโพสต์ ทบทวนแก้ปัญหากองบก.ถูกแทรกแซง

วันนี้(24 ก.ค.)ที่ห้องพิจารณาคดี 17 ศาลแรงงานกลาง ถ.พระราม 4 ศาลมีคำพิพากษาคดีดำที่ 9289/2548 ที่นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ อดีตหัวหน้าฝ่ายทหารและความมั่นคง หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ปัจจุบัน เป็นบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ , นายเดวิด จอห์น อาร์มสตรอง รักษาการบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บมจ.โพสต์พับลิชชิ่ง เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องสัญญาจ้างแรงงาน เลิกจ้างไม่เป็นธรรม จากกรณีที่ บมจ.โพสต์ เลิกจ้างนายเสริมสุข โดยไม่เป็นธรรม ซึ่ง บมจ.โพสต์ ได้แต่งตั้งคะกรรมการสอบสวนและกล่าวหาว่านายเสริมสุขกระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายจากรณีที่นายเสริมสุขนำเสนอข่าวรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า) มีรอยร้าว โดยนสพ.บางกอกโพสต์ตีพิมพ์ข่าวเมื่อระว่างวันที่ 6-9 ส.ค.48

ทั้งนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้จำนวน 8 ล้านบาท และค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงจำนวน 5 ล้านบาท รวม 13 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และเรียกค่าชดเชยจากกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบของ บมจ.โพสต์ พับลิชชิ่ง นายจ้าง จำนวน 623,700.08 บาทพร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราเดิมก่อนถูกเลิกจ้างและให้จ่ายค่าเสียหายเดือนละ 69,768 บาทนับแต่วันเลิกจ้าง จนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้จำเลยที่ 1 ตีพิมพ์คำพิพากษาใน นสพ.บางกอกโพสต์เป็นเวลา 15 วันติดต่อกัน

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 อ้างเหตุการเลิกจ้างว่าโจทก์กระทำการเสนอข่าวโดยประมาทเลินเล่อ ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อกำหนดการนำเสนอข่าวบริษัท คำสั่งการนำเสนอข่าวของนายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ กก.ผจก.บมจ.โพสต์พับลิชชิ่ง ลงวันที่ 27 พ.ค.46 ที่ให้ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนตีพิมพ์เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาท และนโยบายร่วมกองบรรณาธิการ นสพ.บางกอกโพสต์ และ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ยึดถือ ส่วนโจทก์ ปฏิเสธว่า ไม่ได้ทำผิดตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง ซึ่งการเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำเพื่อต้องการเอาใจผู้มีอำนาจในรัฐบาลขณะนั้น โดยชั้นพิจารณาได้ความจากการนำสืบพยานโจทก์ คือ นางยุวดี บุญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสทำเนียบรัฐบาล นสพ.บางกอกโพสต์ และน.ส.เนาวรัตน์ สุขสำราญ หัวหน้าฝ่ายข่าวภูมิภาค นสพ.บางกอกโพสต์ เบิกความตรงกันถึงขั้นตอนและกระบวนการนำเสนอประเด็นข่าวของกองบรรณาธิการ บริษัทจำเลยที่ 1 ว่า การประชุมพิจารณาประเด็นข่าว จะประชุมวันละ 4 รอบ รอบสุดท้ายเวลา 19.00 น.ที่จะตัดสินใจว่าจะนำข่าวใดตีพิมพ์หรือไม่ แต่ในการประชุมนั้นโจทก์ไม่ใช่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ เพียงแต่มีสิทธิเป็นผู้นำเสนอประเด็นข่าว โดยฝ่ายจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งประเด็นนี้ ดังนั้นคำเบิกความพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้น่าเชื่อถือว่า โจทก์เป็นเพียงผู้เสนอประเด็นข่าว แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าข่าวใดจะได้ตีพิมพ์หรือไม่

ส่วนข้อเท็จจริงการนำเสนอประเด็นข่าวโจทก์เรื่องรันเวย์ร้าว โจทก์เบิกความว่า ได้รับข้อมูลข่าวจากนายสว่าง วีระเมธีกุล ที่ปรึกษาพรรคมหาชน ซึ่งน้องชายเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีรัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยโจทก์ระบุว่าแหล่งข่าวมีความน่าเชื่อถือเพราะก่อนหน้านี้ปี 2547 เคยให้ข้อมูลโจทก์เรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีได้อย่างแม่นยำที่โจทก์นำข้อมูลเขียนเป็นบทความในนังสือพิมพ์ ซึ่งก่อนนำเสนอข่าวต่อที่ประชุมโต๊ะข่าวในวันที่ 5 และ 8 ส.ค.48 โจทก์ ได้พยายามติดต่อนางยุวดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสทำเนียบรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น รวมทั้งผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงคมนาคม และ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่โจทก์รู้จักในฐานะแหล่งข่าวมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยเรื่องนี้นางยุวดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสทำเนียบรัฐบาล เบิกความยืนยันสอดคล้องคำเบิกความโจทก์ ขณะที่พยานจำเลย เบิกความกล่าวอ้างว่า ก่อนที่จะมีการตัดสินใจนำเสนอให้ตีพิมพ์ข่าวโจทก์มีเวลาอีก 2-3 วันที่จะตรวจสอบหาแหล่งข่าวเพิ่มเติม โดยวันที่ 7 ส.ค.48 รัฐมนตรีเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าตรวจสอบพื้นที่แต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์ จะลงพื้นที่ หรือไม่ได้ส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ แต่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้ไปตรวจสอบพื้นที่ในวันที่ 7 ส.ค.48 แต่เมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาประเด็นข่าวที่โจทก์นำเสนอต่อที่ประชุมทั้งในวันที่ 5 และ 8 ส.ค.48 แล้วไม่มีความแตกต่าง ซึ่งแม้ข้อกำหนดและคำสั่งการนำเสนอข่าว กำหนดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับใด ดังนั้นเมื่อโจทก์ได้พยายามแสวงหาข้อมูลจากแหล่งข่าวเพิ่มเติมด้วยการประสานผู้สื่อข่าวส่วนต่างๆ แล้ว อันเป็นการทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงตามสมควรแล้ว โดยการนำเสนอประเด็นข่าวของโจทก์เป็นเพียงการนำเสนอที่แสวงหาแหล่งข่าวยังไม่ครบสมบูรณ์ และไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับสถานภาพบริษัทจำเลยที่ 1 แต่ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อกำหนดการนำเสนอข่าวบริษัทตามที่จำเลยที่ 1 อ้างเป็นเหตุบอกเลิกจ้าง ดังนั้นจึงเป็นการบอกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

โดยเมื่อศาลพิจารณาแล้วว่า จำเลยบอกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าข่าวที่โจทก์นำเสนอเรื่องรันเวย์ร้าวเป็นเท็จหรือไม่ตามที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นกล่าวอ้าง ซึ่งที่จำเลยอ้างว่าบริษัทได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์ โดยถูกบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด( บทม.) ยื่นฟ้อง บมจ.โพสต์ พับลิชชิ่ง เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด นอกจากนี้ยังได้ความจากพยานจำเลยว่า ยังไม่เกิดกรณีถูกฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายแต่อย่างใดด้วย ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวนั้นเป็นกาใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐ

ส่วนประเด็นที่จำเลย กระทำละเมิดต่อโจทก์ และต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด ที่โจทก์ อ้างถึงการบอกเลิกจ้างจำเลยที่ 1 กระทำโดยต้องการเอาใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้มีอำนาจรัฐบาลขณะนั้น ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ โดยนายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขานุการส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เคยแสดงความไม่พอใจโจทก์ และนายชรินทร์ เทพวรรณ บรรณาธิการข่าว ที่เคยนำเสนอข่าวผู้นำศาสนา ยื่นฎีกาถวายเรื่องการใช้อำนาจปราบปรามอย่างรุนแรงกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโจทก์มีนางยุวดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสทำเนียบรัฐบาล เบิกความถึงการสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ไม่พอใจการนำเสนอข่าวนั้น แม้เชื่อว่าพยานโจทก์จะเบิกความอย่างตรงไปตรงมา เพราะหากกล่าวถึงบุคคลสำคัญของประเทศโดยไม่ตรงตามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ย่อมจะส่งผลให้นางยุวดี พยานโจทก์อาจถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทได้ แต่การนำสืบพยานโจทก์แสดงให้เห็นเพียงว่าผู้มีอำนาจรัฐบาลอาจไม่พอใจการเสนอข่าว แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถูกแทรกแซงในการตั้งคณะกรรมการสอบโจทก์ ซึ่งคณะกรรมการ 2 ใน 3 คน รู้จักโจทก์เป็นอย่างดี ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ถูกแทรกแซงหรือถูกกดดัน แลต้องการเอาใจผู้มีอำนาจรัฐบาลให้ไล่ออกโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่น่าจะแต่งตั้งบุคคลที่รู้จักโจทก์มาสอบสวน เพราะจะไม่ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ ดังนั้นจึงไม่ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

จึงพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราเดิมก่อนถูกเลิกจ้าง และให้จำเลยที่ 3 จ่ายค่าชดเชยจากกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบของ บมจ.โพสต์ พับลิชชิ่ง นายจ้าง จำนวน 623,700.08 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างที่ 29 ส.ค.48 จนกว่าชำระเสร็จ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายพรชัย แสงอรุณ ผู้อำนวยฝ่ายบุคคล บมจ.โพสต์พับลิชชิ่ง ซึ่งเป็นผู้แทนรับมอบอำนาจจำเลยทั้งสาม ฟังคำพิพากษาวันนี้ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ เพราะต้องนำรายละเอียดคำพิพากษาเสนอให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาเพื่อหารือกับผู้บริหารต่อไป อย่างไรก็ดีตามกฎหมายหากจะยื่นอุทธรณ์ก้สามารถดำเนินการได้ภายใน 30 วัน

ขณะที่นายเสริมสุข กล่าวว่า รู้สึกดีใจ พอใจกับคำพิพากษาที่สั่งให้บริษัท รับเข้าทำงานตามที่ตนร้องขอ ส่วนที่ศาลไม่ได้ตัดสินให้บริษัทต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าขาดรายได้ที่ตนยื่นฟ้อง รวม 13 ล้านบาทตนยังไม่ได้คิดว่าจะต้องยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งจะขอปรึกษากับทนายความก่อน อย่างไรก็ดีส่วนตัวพอใจกับคำพิพากษาแล้วและไม่คิดว่าจะยื่นอุทธรณ์ โดยคำพิพากษาวันนี้ถือเป็นบรรทัดฐานเพราะไม่เคยเกิดกรณีที่ผู้สื่อข่าวถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโดยบรรณาธิการไล่ผู้สื่อข่าวออกเพราะทำข่าวผิดพลาด ซึ่งข้อเท็จจริงแสดงให้ว่าที่ผ่านมาสื่อถูกแทรกแซง โดยตนทำงานเป็นผู้สื่อข่าวมานานกว่า 23 ปี แล้วนับตั้งแต่ยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ , นายชวน หลีกภัย , นายบรรหาร ศิลปอาชา , พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่ไม่เคยประสบเตุการณ์ในรัฐบาลยุคใดที่สื่อจะถูกแทรกแซงมากเท่ารัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณ โดยการต่อสู้คดีนี้ตนต้องการให้เห็นถึงการทำหน้าที่ของสื่อในการตรวจสอบโดยไม่มีสิ่งใดแอบแฝง ซึ่งคำพิพากษาแสดงให้เห็นว่าสื่อทำงานบนพื้นฐานความอิสระ

ทั้งนี้นายเสริมสุข กล่าวด้วยว่า ขอฝากถึงผู้บริหาร นสพ.บางกอกโพสต์ ในวาระที่ นสพ.บางกอกโพสต์ ครบรอบ 62 ปี ว่าที่ผ่านมา 3-4 ปี สื่อถูกแทรกแซงโดยภายนอกตลอดโดยกองบรรณาธิการจะทราบเรื่องดี ดังนั้นจึงอยากเห็นผู้บริหารบางอกโพสต์ ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและปัญหากองบรรณาธิการถูกแทรกแซง ซึ่งสิ่งสำคัญสื่อต้องเป็นอิสระเสรีภาพในการทำงาน ไม่ใช่ถูกกำหนดว่าสิ่งใดนำเสนอเป็นข่าวได้หรือไม่ได้ โดยยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีการแทรกแซงสื่ออย่างรุนแรงมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นางนุสรา ไทยธวัช ภรรยานายเสริมสุข และลูกชาย พร้อมด้วยเพื่อนผู้สื่อข่าว นสพ.บางกอกโพสต์ จำนวนมาก ได้เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาพร้อมมอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจนายเสริมสุขด้วย ขณะที่ผู้สื่อข่าวทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ สนใจเดินทางมาติดตามทำข่าวอย่างคับคั่งด้วย