ลูกจ้างดั๊บเบิ้ลเอร้อง! หวั่นถูกเบี้ยวเงินชดเชยเลิกจ้างไม่เป็นธรรมผู้จัดการ 24 .. 50 ผู้จัดการ ลูกจ้างบริษัทลูกผลิตกระดาษดั๊บเบิ้ลเอ ร้องกระทรวงแรงงาน ขอความช่วยเหลือ หวั่นนายจ้างเบี้ยวจ่ายเงินค่าชดเชย กรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกว่า 200 คน นอกจากนี้ ยังมีลูกจ้างอีก 3 บริษัท เข้าร้องเรียนกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ทั้งเรื่องขอเพิ่มค่าแรง เงินชดเชยจากการเจ็บป่วย นางสมบูรณ์ ศรีคำดอกแข ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย นำตัวแทนลูกจ้างกว่า 150 คน จาก 4 บริษัท เข้าร้องต่อสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน กรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และลูกจ้างมีความเจ็บป่วย โดยมี นายอนุชน วรินทร์เสถียร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาท รับเรื่องแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางสมบูรณ์ กล่าวว่า ได้นำตัวแทนลูกจ้างที่เป็นพนักงานขับรถ บริษัท ชีวมวลขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระดาษดั๊บเบิ้ลเอ เข้าร้องเรียนกรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 218 คน ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายจ้างให้พักงาน และไม่มีการจ่ายชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า อ้างว่า มีเงินสดไม่พอในการจ่ายเงิน และจะชำระให้เป็นรายงวด ซึ่งได้มีการผัดผ่อนการจ่ายค่าชดเชยถึง 3 ครั้ง จึงไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินจำนวนดังกล่าวครบหรือไม่ นางสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า จากการเจรจาครั้งล่าสุด ทางนายจ้างได้ทำสัญญาว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 4 งวด งวดแรก วันที่ 27 ก.ค.นี้ จำนวนร้อยละ 40 ส่วนงวดที่ 2-4 จ่ายให้ร้อยละ 20 ในวันที่ 28 ส.ค., 28 ก.ย.และวันที่ 29 ต.ค.2550 ส่วนสาเหตุการเลิกจ้างมาจากบริษัท ชีวมวลขนส่ง ได้มีการเปลี่ยนนายจ้างใหม่ และบริษัทมีการย้ายฐานกำลังการผลิตไปที่ใหม่ที่ไกลจากพื้นที่เดิม 35 กิโลเมตร พร้อมกับทางนายจ้างยังอ้างว่าทางบริษัทได้มีการเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวจริงเพียง 137 คนเท่านั้น และมีลูกจ้างอีกจำนวน 63 คน ยังคงทำงานตามเดิมแต่จะย้ายไปทำบริษัทในเครือสาขาอื่น ทำให้ลูกจ้างไม่พอใจ เนื่องจากได้มีการเซ็นสัญญาตกลงเลิกจ้างไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ว่า ไม่ขอทำงานในบริษัทดังกล่าวอีก นางสมบูรณ์ กล่าวว่า สำหรับค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้นั้น คาดว่า มีถึงคนละ 100,000 บาท เนื่องจากลูกจ้างมีรายได้เฉลี่ย 18,000-30,000 บาท เนื่องจากเป็นเงินโอที เบี้ยขยัน และค่าวิ่งรถ ส่วนเงินเดือนเฉลี่ยเดือนละ 4,500 บาท และส่วนใหญ่มีอายุงานตั้งแต่ 1-15 ปีขึ้นไป จึงต้องการให้ทางกระทรวงแรงงานเข้ามาช่วยเหลือให้นายจ้างปฏิบัติตามข้อกฎหมายในการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง 63 คน ที่นายจ้างอ้างว่ารับทำงานตามปกติ ทั้งที่มีสัญญาเลิกจ้างไปแล้ว นางสมบูรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวแทนลูกจ้างบริษัทอื่นที่มาร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานสัมพันธ์นั้น มีตัวแทนลูกจ้างบริษัท อีเอฟบี จำกัด ผู้ประกอบกิจการอัญมณี ที่ต้องการเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานปรับเพิ่มค่าแรงในลูกจ้างรายวัน และรายเดือนอีกวันละ 7 บาท ตัวแทนลูกจ้างบริษัท วาไท เรียกร้องให้ช่วยเหลือดูแล เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการทำงานจนข้อเท้าและหมอนรองกระดูกเสื่อม และตัวแทนลูกจ้างบริษัท ไทยซัมมิท เรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงานตามปกติ และจ่ายเงินชดเชยให้ตรงตามกำหนด นายทองสา สาตร์นอก ตัวแทนลูกจ้างพนักงานขับรถบริษัท แอ๊ดวานซ์ฯ กล่าวว่า ตนเป็น 1 ใน 63 คน ของลูกจ้างที่ทางนายจ้าง ระบุว่า ยังมีสภาพเป็นลูกจ้างต่อและสามารถทำงานตามปกติ ทั้งที่ความจริงแล้วตนและเพื่อนได้มีการเซ็นสัญญาออกจากงานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ทางบริษัทกลับมีหนังสือแจ้งว่ายังเป็นลูกจ้างอยู่ จึงทำให้เกิดความสับสนว่าจะยังคงเป็นลูกจ้างของบริษัทอีกหรือไม่ เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1-9 ก.ค.ไม่ได้เข้าไปทำงาน ด้วยคิดว่ามีการเลิกสัญญาจ้างไปแล้ว แต่ส่วนตัวแล้วต้องการได้รับค่าชดเชยเท่านั้นไม่ต้องการทำงานที่บริษัทดังกล่าวแล้ว นายอรชุน วรินทร์เสถียร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาท กล่าวว่า จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้กับ นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยในเบื้องต้นได้ประสานไปยังสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัดเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้การช่วยเหลือแรงงานดังกล่าวในส่วนของลูกจ้างในเครือบริษัท แอ๊ดวานซ์ฯ ทราบว่าได้มีการเขียนคำร้อง คร.7 กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว ซึ่งจะได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีลูกจ้าง 63 คน ถูกเลิกจ้างจริงหรือไม่ต่อไป และจะได้มีการติดตามในวันที่ 27 ก.ค.นี้ว่า ลูกจ้างทั้ง 137 คน จะได้รับค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าจริงหรือไม่ หากไม่ได้รับลูกจ้างสามารถร้องเรียนเรื่องดังกล่าวได้ทันที |