Thai / English

ลูกจ้างไทยศิลป์ฯลุ้นชดเชย ประมูลขายโรงงาน250ล้าน


แนวหน้า
22 .. 50
แนวหน้า

พนักงานโรงงานไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ตเอ็กปอร์ต อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ยังคงรอลุ้นการได้รับเงินค่าจ้างและเงินชดเชยการปิดกิจการของโรงงานอย่างเต็มจำนวน หลังได้ข้อตกลงร่วมกับฝ่ายนายจ้างให้มีการขายทรัพย์สินของโรงงานให้ได้ทั้งหมดก่อน จึงจะนำเงินมาแจกจ่าย

โดยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาลูกจ้างของโรงงานไทยศิลป์ฯ ยังคงเดินทางมาที่โรงงาน เพื่อรอคอยผลการตรวจสอบทรัพย์สิน โดยที่บริเวณหน้าประตูมีการเพิ่มระบบการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าอย่างเด็ดขาด แม้แต่ผู้สื่อข่าวก็ถูกจำกัดบริเวณการทำข่าวอยู่เฉพาะบริเวณรอบนอกเท่านั้น

ทั้งนี้ในช่วงสาย ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างจำนวน 12 คน พร้อมด้วย นางเยาวลักษ์ อุนโอภาส เจ้าของโรงงาน ได้ร่วมกันตรวจสอบทรัพย์สินต่างๆ ภายในโรงงาน โดยมอบหมายให้พนักงานจำนวนหนึ่งเข้าไปเช็คจำนวนเครื่องจักร เครื่องใช้สำนักงาน และสต็อกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สามารถนำออกจำหน่ายได้ โดยระหว่างการตรวจสอบนั้น มีการตรวจค้นร่างกายพนักงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินอย่างเข้มงวด เนื่องจากเกรงว่า อาจจะมีการลักลอบนำทรัพย์สินออกไป ขณะที่กลุ่มตัวแทนนักธุรกิจจำนวนหนึ่ง ก็เริ่มทยอยเข้ามาติดต่อที่โรงงาน เพื่อขอประมูลทรัพย์สิน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในเบื้องต้นมีผู้ติดต่อมาขอซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์โรงงาน และอุปกรณ์สำนักงาน รวมทั้งรถหัวลาก เอาไว้แล้วในราคา 110 ล้านบาท ตามที่โรงงานประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้ แต่กลุ่มตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างกำลังรอดูก่อนว่าจะมีใครขอซื้อในราคาที่สูงกว่าหรือไม่ ส่วนเสื้อผ้าที่อยู่ในสต็อกนั้น ยังไม่มีการประเมินราคา แต่คาดว่า ทั้งหมดจะมีมูลค่าประมาณ 140-150 ล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สิน 2 ส่วนราว 250 ล้านบาท ซึ่งหากจำหน่ายได้หมด ก็จะพอจ่ายค่าแรงและค่าชดเชยให้พนักงาน

ส่วนสถานการณ์ของโรงานอื่นๆ นั้น นายวิทยา วิทยาศรัย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.เชียงใหม่ ออกเปิดเผยว่า ใน จ.เชียงใหม่ มีกิจการประเภทส่งออกหรือเกี่ยวเนื่อง เช่น กิจการเซรามิก การผลิตสินค้าการเกษตร เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า ปิดกิจการไปแล้ว 5 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 320 ราย แต่สามารถตกลงค่าชดเชยกับฝ่ายนายจ้างได้ทั้งหมด ไม่มีปัญหาการฟ้องร้องแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่คอยติดตามสถานการณ์ของสถานประกอบการแห่งต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะแห่งที่เริ่มส่งสัญญาณไม่ดี อาทิ เริ่มลดชั่วโมงการทำงาน จ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลา หรือมีเรื่องร้องเรียนปิดกิจการชั่วคราว

ส่วนที่ จ.นครราชสีมา นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เดินทางไปเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการผลิตมันป่น โดยมีผู้ประกอบการลานมันสำปะหลังและโรงแป้งใน จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เข้าร่วมกว่า 300 คน

นายเกริกไกร กล่าวว่า แม้อนาคตตลาดผลผลิตจากมันสำปะหลังจะยังมีแนวโน้มสดใส แต่ผู้ประกอบการต้องพัฒนาคุณภาพการผลิตของตัวเองให้ดีขึ้น เนื่องจากยังสู้ของเวียดนามไม่ได้ ส่วนผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่านั้น ขณะนี้ยังไม่มี เพราะอยู่ในช่วงปลายฤดูการผลิต และราคาแป้งมันส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่อาจได้กำไรน้อยลง อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินยังไม่นิ่งภายใน 1-2 เดือนนี้ ก็จะส่งผลต่อราคาผลผลิตล็อตใหม่ที่จะออกมา เนื่องจากจะทำให้เกิดการคาดการณ์ราคาหรือการตกลงซื้อขายล่วงหน้าในฤดูกาลใหม่มีความปรวนแปร ซึ่งเรื่องนี้จะเรียกผู้ส่งออกมาหารือเร็วๆ นี้