Thai / English

เสือแรงงานประสานเขี้ยวเล็บสู้ศึกเลิกกิจการ-เลิกจ้าง...ยัน! มีเลิกก็มีเปิดใหม่


กระทรวงแรงงาน
16 .. 50
กระทรวงแรงงาน

3 เสือของกระทรวงแรงงาน ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ร่วมกันแถลงข่าวแจงสถิติข้อมูลสถานประกอบการเลิกกิจการ เลิกจ้าง มีจริง เป็นไปได้ แต่ไม่มีผลโดยรวมต่อเศรษฐกิจข้างมาก เพราะเมื่อมีกิจการบางแห่งเลิกล้มไป ก็ยังมีการเปิดใหม่อยู่ตลอดเวลา

วันที่ 13 กรกฎาคม 2550 นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมกับ นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และนายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมแถลงข่าวกรณีลูกจ้างบริษัท ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ที่ได้กลับเข้าทำงานปกติตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2550 หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเพียง 2 วัน งบริษัทได้เลิกกิจการและเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้าจรนเกิดเป็นกรณีพิพาทระหว่างบริษัทฯ กับสหภาพแรงงานบริษัทฯ

นายอภัย ชี้แจงว่า การเปิดให้ลูกจ้างเข้าทำงานตามปกตินี้ จะมีการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างทั้งหมดในช่วงที่มีการปิดกิจการเป็นเวลา 2 วันด้วย โดยถือว่าเป็นวันทำงานตามปกติ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าลูกจ้างเริ่มทยอยมาทำงานตามปกติแล้ว และเชื่อว่าลูกจ้างยังคงมีความเชื่อมั่นต่อสภาพความมั่นคงของบริษัทในระดับหนึ่ง เนื่องเพราะเคยทำงานร่วมกันมานานนั่นเอง

อย่างไรก็ดี การสร้างความเชื่อมั่นจะต้องอิงอาศัยอยู่กับระบบแรงงานสัมพันธ์เข้ามาเป็นแรงเสริมด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทาง กสร.มีหน้าที่ต้องเข้าไปสนับสนุน และเป็นภารกิจปกติที่ กสร.ปฏิบัติอยู่เป็นนิจศีลอยู่แล้วหากมีสัญญาณบ่งบอกเหตุใดๆ ที่อาจส่งผลต่อการปิดกิจการ เลิกจ้าง แม้ว่ากระทรวงแรงงานจะไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดแทรกแซงไปได้มากกว่านี้ ด้วยว่าเป็นเพียงหน่วยปฏิบัติที่มีหน้าที่เพียงดูแลในเรื่องระยะต้นและระยะปลายของปัญหาเท่านั้น แต่เราไม่ละเลยด้านแรงงานสัมพันธ์อย่างแน่นอนซึ่งเป็นนโยบายหลักในอันดับแรกๆ ประการหนึ่งของเราที่จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจารอมชอมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อพูดคุยในสภาพปัญหา การร่วมใจกันเพื่อฝ่าฟันและแก้ไขให้ลุล่วงด้วยดีในที่สุด ไม่ว่าปัญหานั้นจะยากลำบากเพียงใด แต่ขอให้มีการใช้ระบบทวิภาคีสองฝ่ายระหว่างนายจ้างและลูกจ้างก่อน หากหนักหนาจริงๆ จึงจะใช้ระบบไตรภาคี คือมีคนนอกมาเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้

กระนั้นการที่จะเจรจาแรงงานสัมพันธ์ ด้วยมาตรการชะลอการเลิกจ้าง นายจ้างเองก็ต้องดูความพร้อมของลูกจ้างด้วยว่าการที่จะใช้วิธีนี้ ลูกจ้างเขาจะต้องเสียสละ ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านตำแหน่งงาน หรือการต้องรับค่าจ้างในอัตราลดลง เป็นต้น ซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่จะต้องมีความเสียสละ โดยยึดความมีเหตุมีผล เพื่อความอยู่รอดของทุกๆ ฝ่ายด้วย

ด้านเลขาธิการ สปส. ได้ให้สถิติการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของสถานประกอบการว่า การวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนนี้ต้องมองอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ว่าเมื่อมีสถานการณ์เลิกจ้าง ปิดกิจการของสถานประกอบการแล้วจะเหมารวมว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมจะย่ำแย่ เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว สปส.มีสถิติย้อนหลังไป 3 ปี ยืนยันได้ว่าตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2550 สถิติผู้ประกันตน สถานประกอบการ มีเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมีผลต่อการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ที่เพิ่มมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าในเดือนมิถุนายน 2548 มีผู้ประกันตน 8.2 ล้านคน ในสถานประกอบการ 3.5 แสนแห่ง ส่งเงินสมทบถึง 7.03 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2549 มีผู้ประกันตน 8.6 ล้านคน ในสถานประกอบการ 3.7 แสนแห่ง ส่งเงินสมทบ 7.7 ล้านบาท และในเดือนมิถุนายนปีล่าสุดนี้ มีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นถึง 9.5 ล้านคน ในสถานประกอบการ 3.79 แสนแห่ง ส่งเงินสมทบ 8.3 ล้านบาท

จึงเป็นสถิติยืนยันการเพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้าน จึงควรมีความรอบคอบในการอ้างอิงสถิติเหล่านี้ มิใช่อ้างแต่สถานประกอบการที่เลิกกิจการและเลิกจ้าง ซึ่งก็ยอมรับว่ามีอยู่บ้าง แต่เมื่อหันไปมองดูสถานประกอบการที่มีเพิ่มก็ยังมีอยู่เช่นกัน และอยู่ในสัดส่วนที่มากกว่าด้วยซ้ำ