Thai / English

พิษเงินบาทแข็ง รง.สับปะรดจ่อคิวเจ๊งอีก


เดลินิวส์
15 .. 50
เดลินิวส์

บาทแข็งพ่นพิษอีก โรงงานสับปะรดกระป๋องรายใหญ่ของประจวบฯจ่อเจ๊งอีก แบกรับภาระไม่ไหว แถมแข่งขันตลาดโลกลำบาก ส่วนกรณีบริษัทกระจกชื่อดังในชลบุรีเตรียมปิดกิจการสิ้นเดือนนี้ ทางบริษัทแจงเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี-ไม่เกี่ยวบาทแข็งตัว ด้านปลัดฯ แรงงานสั่งจัดหางานชลบุรีเตรียมตำแหน่งรองรับพนง.ที่จะตกงานกว่าพันคน ขณะที่นายกฯ ยันพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมั่งคง-นักลงทุนยังเชื่อมั่น ระบุค่าเงินบาทแข็งเป็นเพราะกระแสการลงทุนในเอเชีย ย้ำรัฐดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิด พร้อมแนะผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วย

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 14 ก.ค. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัญหาลุกลามไปถึงโรงงานต่าง ๆ ที่ต้องปิดกิจการลง ส่งผลให้คนงานต้องตกงานจำนวนมากว่า เป็นเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจโลกโดยทั่วไป เนื่องจากมีกระแสของการลงทุนมาทางเอเชียค่อนข้างมาก เพราะฐานเศรษฐกิจทางเอเชียมีการขยายตัวมาก แต่ในบ้านเราถือว่าไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่เลวร้ายอะไร ในด้านของการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็มีทุนจากต่างประเทศเข้ามา และเมื่อเข้ามามากก็ทำให้เงินบาทออกไปนอกประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ได้ดูแลมาโดยตลอด

'ตั้งแต่ที่ผมเข้ามาก็มีแนวโน้มที่ค่าของเงินจะแข็งตัวขึ้นมาตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว เราได้วางมาตรการเตรียมการต่าง ๆ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากจนเกินไปจนมีผลกระทบ เรื่องนี้ถือว่าสำคัญเหมือนกับร่างกายของคนเรา ถ้าอุณหภูมิหรือมีไข้สูงมาก ลดลงเร็วมากหรือขึ้นสูงมากในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ไม่ดี ดังนั้นต้องทำอย่างไรที่จะมีมาตรการทั้งในด้านการดูแลค่าของเงิน การดูแลองค์กรต่าง ๆ ในแต่ละภาคส่วน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบ โดยไม่ให้มีผลกระทบมากนัก เราจะพยายามรักษาตรงนี้' นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้นักลงทุนหนีไปลงทุนยังประเทศอื่น เช่นเวียด นาม และจีนหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า คิดว่าเป็นบางส่วนเท่านั้น ตนมั่นใจว่าเศรษฐกิจพื้นฐานของเรายังมั่นคงดีอยู่ อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้มีเฉพาะส่วนเดียว คือในส่วนของสิ่งทอที่เราจะต้องเข้าไปดูแล ส่วนภาคอื่น ๆ ตนคิดว่าเราได้มีมาตรการที่มารองรับค่อนข้างกว้างพอสมควร และการที่ค่าเงินแข็งตัวก็มีทั้งตัวถ่วงและตัวช่วย มีทั้งบวกและลบ ทั้งนี้ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัว

ทางด้านนายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเดินทางเข้าพบนายจ้างบริษัทสยามอาซาฮี เทคโนกลาส ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ว่าได้มาเจรจาให้นายจ้างบริษัทดังกล่าว ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ปี 2541 เนื่องจากทราบว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงาน 1,000 กว่าคน ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ จึงได้ขอร้องให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะมีการเลิกจ้าง ซึ่งนายจ้างก็รับปากจะดำเนินการ นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้จัดหางาน จ.ชลบุรี เตรียมตำแหน่งงานใหม่รองรับคนงานดังกล่าวไว้หมดแล้ว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ตนได้มีหนังสือเวียนแจ้งไปยัง 5 เสือแรงงานได้แก่ จัดหางานจังหวัด ผอ.ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ประกันสังคมจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด รวมทั้งแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ มาประชุมซักซ้อมแผนและการใช้มาตรการเชิงรุก เพื่อรับมือปัญหาการเลิกจ้างงาน อันเนื่องมาจากกรณีค่าเงินบาทแข็ง ในส่วนของข้อเรียกร้องของสภานายจ้าง ที่ต้องการให้คณะกรรมการประกันสังคม ลดตัวเลขการจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างนั้น เรื่องนี้ตนจะนำเข้าสู่การประชุมบอร์ดประกันสังคมในเช้าวันที่ 17 ก.ค.ด้วย ซึ่งแนวทางที่ใช้อาจไม่จำเป็นต้องลดเงินสมทบแต่จะชะลอการจ่ายเงินสมทบไปก่อน และหากว่าที่ประชุมมีมติให้ชะลอการจ่ายเงินสมทบก็ต้องดำเนินการในส่วนของลูกจ้างและรัฐด้วยเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

ส่วนนางภาวินี ตัญญะปัญญาชน ผู้จัดการส่วนการบุคคล บริษัทสยามอาซาฮี เทคโน กลาส กล่าวชี้แจงว่า การปิดตัวครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเงินบาทที่แข็งค่า แต่เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยหยุดสายการผลิตหลักมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งพนักงานมีความเข้าใจ และทางบริษัทได้มีการจ่ายโบนัส และให้ผลตอบแทนต่อพนักงานมากกว่ากฎหมายแรงงานในกรณีการเลิกจ้าง โดยให้เพิ่มขึ้นอีก 3 เดือน ในขณะเดียวกันได้ติดต่อชมรมผู้บริหารงานบุคคลแหลมฉบัง และโรงงานทั้งในระยองและชลบุรีให้รับทราบ เพื่อจะได้รับพนักงานไปทำงานต่อ โดยได้รับความร่วมมือที่ดีจากโรงงานต่าง ๆ ที่จะเปิดรับสมัครพนักงานต่อไป

ส่วนที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเวลา 10.30 น. วันเดียวกัน นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ ประธานหอการค้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะผู้ประกอบการโรงงานสับปะรดกระป๋องรายใหญ่ในจังหวัด ได้เข้าร้องเรียนต่อ นางอรนุช โอสถานนท์ รมช.พาณิชย์ ในขณะที่เดินทางมาตรวจราชการว่า สมาคมผู้ส่งออกอุตสาหกรรมสับปะรดไทย ได้พูดคุยกันถึงกรณีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น สับประรด ที่ประสบปัญหาหนักมากในเรื่องของ ค่าเงินบาทแข็ง ตั้งแต่ 20 เดือนที่ผ่านมาค่าเงินบาทอยู่ที่ 40 บาทเศษ แต่ขณะนี้อยู่ที่ 37 บาท คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ที่โรงงานต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันในตลาดโลกลำบากมาก หลังจากที่สัญญาส่งออกจบลงในปีนี้ เชื่อว่าโรงงานต่าง ๆ อาจต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

นางอรนุช โอสถานนท์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของสับปะรด ดูจากสถานการณ์ที่ผ่านมาราคาอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ แต่หากเงินบาทยังคงแข็งตัวขึ้นไปอีก ผู้ส่งออกอาจได้รับผลกระทบ เพราะมีการทำสัญญาล่วงหน้าไว้ในขณะที่อัตราค่าเงินบาทยังอ่อนตัว ดังนั้นผู้ส่งออกบางรายจึงต้องมากดราคาพืชผลการเกษตรกับเกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้ โดยในวันจันทร์ที่ 16 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางออกว่าจะมีมาตรการใดช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระของผู้ส่งออกได้บ้าง.