ก.แรงงานชี้ ไทยศิลป์ อาการยังน่าเป็นห่วง สั่งเช็ก รง.กทม.-ปริมณฑลส่อเจ๊งเพียบผู้จัดการ 13 .. 50 ผู้จัดการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุ แม้ว่าบริษัท ไทยศิลป์ จะเปิดตามปกติ แต่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะอาการยังน่าเป็นห่วง ย้ำไม่ได้รับปากช่วยเหลือด้านการเงิน ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โต้ยังไม่มีบริษัทใดที่นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคม ทุกอย่างยังอยู่ในเกณฑ์ที่วางไว้ นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงรายงานของสำนักงานประกันสังคม ที่ระบุว่า จะมีโรงงานอีกหลายแห่งปิดกิจการ และทำให้มีแรงงานตกงานอีกเป็นจำนวนมาก ว่า ทางกระทรวงมีเจ้าหน้าที่อยู่ทุกจังหวัดที่สำรวจข้อมูลต่าง ๆ และมีการประเมินเป็นรายเดือนอยู่แล้ว ส่วนบริษัทที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะเปิดนั้น ถือเป็นสิทธิ แต่โดยระบบสมานฉันท์ มีหลายโรงงานมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร ถ้าปิดกะทันหันหรือปิดถาวรจริง ก็ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะมีมาตรการกำหนดไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด จนไม่ต้องปิดโรงงาน ถือเป็นสิ่งที่ดี เมื่อถามว่า ข้อเรียกร้องที่บริษัทจะให้กระทรวงหาเงินช่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับกระทรวง เพราะกระทรวงทำหน้าที่ให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างกันให้ดีที่สุดเท่านั้น เช่น มาตรการช่วยเหลือคนตกงาน และเรื่องใดที่ฝากมา กระทรวงจะบอกต่อให้ เช่นเรื่องเกี่ยวกับเงินหมุนเวียน หรือสภาพคล่อง จะนำไปบอกกระทรวงอื่นให้ ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท ไทยศิลป์ ต้องจับตาดูต่อไป เพราะอาการยังน่าเป็นห่วงอยู่ สำหรับการตรวจสอบโรงงานอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายอาจปิดกิจการนั้น นายอภัย กล่าวว่า อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบอยู่ใน กทม.และ 5 จังหวัดใกล้เคียง ส่วนการวางแผนรับมือเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ต้องหมั่นออกไปตรวจโรงงาน หาอัตราว่างของแรงงาน เช่น ผู้ประกอบการตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก เป็นตัวเลขที่มีอยู่แล้วว่า มีความขาดแคลนตลาดแรงงานในฝีมือด้านนี้ ซึ่งสามารถตั้งโต๊ะรับหางานได้เลย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า โรงงานกว่า 200,000 แห่ง ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงแรงงาน กระทรวงดูแลทั้งหมด รวมถึงผู้ประกันตนจำนวน 9 ล้านคน โดยมีการตรวจสอบยอดนายจ้าง ลูกจ้าง ส่งเงินประกันตนรายเดือน ยอดสถานประกอบการในปี 2548-2550 แนวโน้มก็เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่จำนวนผู้ประกันตนในปี 2548-2550 ระยะเดือนต่อเดือนเท่ากันก็สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่มีข่าวนายจ้างไม่จ่าย หรือชะลอการจ่ายเงินสมทบ ในช่วงเวลา 30 วัน 50 วันนั้น เป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งก็มีแน่นอน ทั้งยกเว้นและขยายเวลา แต่ยอดรวมต้องอยู่ในกรอบในเกณฑ์ที่ทำได้ เมื่อถามว่า มีการพูดคุยเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายอภัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยในเรื่องนี้ แต่เมื่อเรื่องยุติแล้ว การบ้านที่ต้องทำต่อไป คือ เฝ้าระวัง ดูแลทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และหากโรงงานใดมีปัญหา ให้มาบอกทางกระทรวง เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับการย้ายฐานผลิตไปลงทุนในต่างประเทศหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การย้ายฐานการผลิตไม่ใช่ไปกันได้ง่ายๆ ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสภาคนงานในต่างประเทศว่าเป็นอย่างไร |