อาเซียนร่วมลงนามปฏิญญาณคุ้มครองต่างด้าว กรรมการสิทธิฯ เสนอตั้งศูนย์ต่อสู้คดีช่วยเหลือแรงงานถูกเอาเปรียบแนวหน้า 11 .. 50 แนวหน้า นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระมรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาไตรภาคี เรื่อง "ปฏิญญาสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว"ว่า ประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเชีย สิงคโปร์ บรูไน พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนิเชีย ได้ร่วมลงนามในปฏิญญาฉบับดังกล่าว เมือวันที่ 12 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศผู้รับแรงงานปฏิบัติต่อแรงงานที่เดินทางเข้าไปทำงานในประเทศด้วยหลักศิลธรรมและหลักมนุษยธรรม ซึ่งตนยีนยันว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทงานในประเทศอย่างถูกกฎหมายนั้น กระทรวงแรงงานได้ดูแลและให้การคุ้มครองทั้งเรื่องอัตราค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ ที่เป็นธรรมและเหมาะสม ซึ่งแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ก็ได้รับค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำด้วยซ้ำ นอกจากนี้ กระทรวงยังอำนวยความสะดวกโดยการลดขั้นตอนในการออกใบอนุญาตการทำงานของแรงงานต่างด้าวด้วย "ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 9 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ได้ลงนามร่วมกันในปฏิญญาฉบับนี้จะต้องดูแลคนงานของเราที่เดินทางไปทำงานในประเทศเขา ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูแลคนงานของเขาที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศเราภายใต้กฎหมายเดียวกัน"นายอภัยกล่าว ด้านนางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กว่า 10 ปีที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยถูกละเมิดสิทธิเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับแรงงานไทยที่ถูกหลอกลวงจากนายหน้าเถื่อนให้ไปทำงานในต่างประเทศก็มีจำนวนมากเข่นกัน โดยปฏิญญาฉบับนี้จะช่วยให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น ซึ่งตนมองว่าหากจะทำให้เรื่องดังกล่าวประสบความสำเร็จตามปฏิญญาฉบับนี้รัฐบาลจะต้องมีกลไกการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและมีกระบวนการติดตามว่านายจ้างจะปฏิบัติตามหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้กระทรวงแรงงานตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ถูกเอาเปรียบและละเมิดสิทธิ เพื่อต่อสู้คดีให้กับรงงานเหล่านี้ก่อนส่งกลับประเทศต้นทาง "อยากขอให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนยอมรับในหลักการที่ว่า เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงานในประเทศไหนแล้วถูกเอารัดเอาเปรียบ ประเทศนั้นจะต้องดูแลรับผิดชอบและให้การช่วยเหลือ ตลอดจนต่อสู้คดีและเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดให้กับพวกเขา ไม่ใช่เมื่อจับกุมได้ก็นำไปกักขังแล้วก็ส่งตัวกลับประเทศต้นทาง" นางสุนีกล่าว |