สิ่งทอเจ๊งบาทแห่ย้ายฐานหนีตายจีนทุบส่งออกFTAจ่อถล่มซ้ำเวียดนามส่งทีมดูดทุนพันล้านไทยโพสต์ 10 .. 50 ไทยโพสต์ ธุรกิจสิ่งทอระส่ำหนัก บาทโป๊กพ่นพิษหนัก จีนตีตลาดส่งออกหด เจ๊งไปแล้ว 109 ราย ที่เหลือแห่ย้ายฐานไปเวียดนาม-ลาว หาทางรอด ใช้แรงงานราคาถูกตัดต้นทุนสุดฤทธิ์ เผยต่างชาติส่งทีมดูดนักลงทุนทั้งไทย-ต่างชาติ ทุ่มสิทธิประโยชน์มากกว่าบีโอไอ เอกชนคาดเม็ดเงินลงทุนวูบแน่พันล้าน เตือนผลกระทบเอฟทีเอถล่มซ้ำ จี้ปรับตัวก่อนตายเรียบ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกำลังประสบปัญหาจากเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในอนาคตจะทำให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ไม่จำกัดโควตาและไม่มีภาษีคุ้มครอง หากไม่ปรับตัวจะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอยู่อย่างลำบาก เนื่องจากไทยยังไม่มีโอกาสเป็นผู้กำหนดตลาดและราคาสินค้า อีกทั้งหากเวียดนามตั้งโรงงานผลิตเส้นใยเอง ไทยจะส่งออกได้อีกหรือไม่นับเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมรับมือและวางแผน ล่าสุด อุตสาหกรรมปลายน้ำเริ่มมีปัญหาการส่งออก เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นเปิดโอกาสให้ประเทศคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนามเข้ามาตีตลาด ส่วนอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำ คือ เส้นด้ายและผ้าผืนยังไปได้ แต่หากเงินบาทยังแข็งอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการคงสู้ไม่ไหว แม้ระยะใกล้ยังไม่ตายแต่ระยะยาวไม่แน่ ซึ่งทางออกหนึ่งคือ ตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มในประเทศเพื่อนบ้าน ด้านนายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงปัจจุบันส่งผลให้โรงงานเสื้อผ้าขนาดเล็กและขนาดกลางปิดกิจการไปแล้ว 109 แห่ง เพราะภาคการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอเติบโตลดลง แม้มีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้น โดยการส่งออกของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงถึง 4.7% อุตสาหกรรมต้น-กลางน้ำ เช่น ผ้าผืนและเส้นด้ายโตเพียง 9-10% รวมทั้งมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น "ในอนาคตจะมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งไปตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นลาว กัมพูชา เพื่ออาศัยแรงงานและใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในการส่งออกไปสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐ" นายวิรัตน์กล่าว ทั้งนี้ สถาบันฯ จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอปี 2550-2554 มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1.พัฒนาอุตสาหกรรมเส้นด้ายและผ้าผืนให้ติดต่อซื้อขายระหว่างกันในอาเซียน 2.นำเส้นใยปีละ 1 ล้านตันมาพัฒนาสิ่งทอชนิดพิเศษ และ 3.ให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ผลิตสินค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น คาด 6 เดือนแรกของในปีหน้าจะทำให้การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวในระดับ 2 หลัก หลังจากช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเพียง 2% มูลค่า 2.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมามีตัวแทนจากเวียดนามเข้ามาชักชวนนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในไทยเข้าลงทุนในเวียดนาม โดยเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากกว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คิดเป็นเงินลงทุนมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท เช่น ยกเว้นภาษีระยะยาวกว่าการเช่าที่และอื่นๆ ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีนักลงทุนบางส่วนสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เพราะค่าแรงเวียดนามถูกกว่าไทยมาก นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มตัดเย็บได้ทยอยย้ายฐานการลงทุนไปเวียดนามหลายราย บางบริษัทย้ายไปลาว เนื่องจากค่าแรงถูกกว่าไทยมาก ส่วนที่ไม่ออกนอกประเทศจะย้ายไปเขตใกล้ชายแดน เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก เพราะมีแรงงานพม่า ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวและพยามยามลดต้นทุนที่สุดแล้วก็ต้องปิดกิจการ. |