ไทย สหรัฐฯ สานต่อขจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีอุตสาหกรรมส่งออกกุ้งกระทรวงแรงงาน 27 .. 50 กระทรวงแรงงาน หลังพบปะเจรจาข้อหารือด้านการใช้แรงงานทาสในกิจการส่งออกกุ้งไทยไปสหรัฐฯ ตัวแทนสหรัฐฯ จำนนต่อเหตุผลโดยดุษฎี ที่ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างด้าวเพียบพร้อม รวมถึงหลักฐานประกอบการพิสูจน์ว่ามีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองพยายามลักลอบเข้ามาประเทศไทยไม่เว้นแต่ละวัน !! เมื่อวันที่ 25มิถุนายน 2550 นายพรชัย อยู่ประยงค์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานกำกับดูแลและต่อต้านการค้ามนุษย์กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (Ambassador Mark Lagon) และคณะ โดยมีตัวแทนรองอธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้อำนวยการตรวจและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน ผู้แทนสำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในหัวข้อ ผลผลิตที่ได้จากการใช้แรงงานทาส : กรณีโรงงานแกะกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งตัวแทนสหรัฐฯ อ้างว่ามีข้อรายงานจากสื่อมวลชนและองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) รายงานว่ามีการใช้แรงงานพม่าทั้งชาย หญิง และเด็ก ในสภาพการทำงานรูปแบบทาส หรือแรงงานบังคับ เพื่อให้ทำงานในอุตสาหกรรมส่งออกกุ้งและการผลิตอาหารทะเลไปยังสหรัฐฯ และยังประเทศอื่นๆ เป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว จากการหารือระหว่างกันในข้างต้น ทางคณะผู้แทนสหรัฐฯ ได้สอบถามถึงกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองดูแลและป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยในการป้องกันปราบปราม ซึ่งคณะฝ่ายไทยข้างต้นได้ตอบว่ามี กฎหมายควบคุมอาชีพคนต่างด้าวที่กำลังปรับปรุงอยู่ รวมถึง กฎหมายจัดหางาน ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดหาแรงงานต่างด้าว แต่ก็ยังไม่มีข้อกำหนดในการนำเข้า และกำลังปรับปรุงอยู่เช่นกัน แต่กระนั้นประเทศไทยก็มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย ทั้งในด้านวันหยุด วันลา และค่าจ้าง ฯลฯ เพื่อไม่ให้แรงงานต่างด้าวถูกเอารัดเอาเปรียบ นอกจากนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยังได้จัดทำเอกสารเผยแพร่เป็น 3 ภาษา เพื่อเผยแพร่ให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติ ลาว พม่า และกัมพูชา ได้รับทราบสิทธิของเขาด้วย โดยที่ประชุมครั้งนี้ให้ยึดหลักตามข้อกฎหมายราชการฝ่ายไทยเป็นเกณฑ์ แล้วจึงแปลเป็นข้อความไปตามภาษาดังกล่าว รวมทั้งให้จัดส่งไปยังประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าวนั้นๆ อีกด้วย ต่อข้อซักถามเรื่องการทำงานเป็นเครือข่ายเพื่อดูแลการใช้แรงงานต่างด้าวในกรณี บริษัท แกะกุ้งส่งออก ข้างต้น ว่ามีการคัดแยกผู้ตกเป็นเหยื่อกรณีแรงงานทาส การบังคับใช้แรงงานอย่างไรนั้น ทางผู้แทนไทยชี้แจงว่าเรื่องนี้มีการทำงานร่วมกัน เรามีคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ที่รวมหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ และการเข้าตรวจสภาพการจ้างในสถานประกอบการ หากเราได้รับเบาะแสการใช้แรงงานบังคับ กระทรวงแรงงาน ก็จะร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเอ็นจีโอ เข้าไปตรวจและคัดแยกว่ามีแรงงานใด เป็นเหยื่อ หรือไม่ ในกรณี บริษัท แกะกุ้งส่งออกในจังหวัดสมุทรสาครก็มีการคัดแยกแล้ว และการที่มีแรงงานจำนวนร้อยกว่ารายที่ไม่ได้เป็นเหยื่อและได้แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากข้อกฎหมายไทยไม่สามารถอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานชั่วคราวเลือกนายจ้างใหม่ได้ ดังนั้นแรงงานที่ไม่ได้เป็นเหยื่อการใช้แรงงานบังคับเหล่านี้จึงแจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับประเทศต้นทางทั้งหมด ส่วนสาเหตุที่เราไม่สามารถสั่งปิดโรงงานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ เป็นเพราะเรายังไม่ได้รับอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกันต่อไป แต่ก็มีข้อพิสูจน์ยืนยันได้ว่าประเทศไทยมีการใช้แรงงานบังคับ การจ้างงานในภาวะลำบาก หรือการทารุณกรรมแรงงานน้อยมาก โดยมีหลักฐานผ่านการรายงานตามสื่อมวลชน หรือการรายงานการตรวจจับแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่แทบทุกวัน ชี้ให้เห็นว่ามีแรงงานต่างด้าวพยายามลักลอบเข้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และมีแรงงานต่างด้าวที่ต้องกลับประเทศต้นทางจำนวนหนึ่งที่ส่วนใหญ่ก็มักยืนยันว่ามีความประสงค์ต้องการกลับมาประเทศไทยอีก เพราะการให้การดูแลคุ้มครองที่ค่อนข้างดีของไทย แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยมากแต่ก็ให้การคุ้มครองแรงงานเหล่านี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายผู้แทนสหรัฐฯ ได้ฝากข้อคิดว่าแม้ประเทศไทยจะมีผู้ดูแลเรื่องนี้อยู่หลายหน่วยงาน แต่ท้ายที่สุดก็ควรต้องมีหน่วยงานที่ต้องเป็นเจ้าภาพหลักดูแลรับผิดชอบ เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไข และควรมุ่งเป้าหมายไปที่การดูแลด้านความมีมนุษยธรรมซึ่งก็เห็นแล้วว่าประเทศไทยมีสิ่งเหล่านี้อยู่พร้อมมูล จึงขอชื่นชม |