Thai / English

แรงงานข้ามชาติ ก็มีหัวใจ ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว


ประชาไท
06 .. 50
ประชาไท

ประชาไท – 6 มิ.ย. 50 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. คณะอุนกรรรมาธิการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) มูลนิธิพัฒนาการคุ้มครอง (FACE) International Rescue Committee (IRC) เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) และศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (CAR) จัดโครงการสัมมนา เรื่อง แรงงานข้ามชาติกับปัญหาที่ต้องจัดการ ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว จากศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (CAR) กล่าวในหัวข้อ มาตรการการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ เพื่อความมั่นคง หรือจำกัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ว่า ที่ผ่านมา กอ.รมน. ได้ขอความร่วมมือในการควบคุมแรงงานข้ามชาติ โดยอ้างเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง โดยมี 3 จังหวัดที่มีการออกประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ จ.ภูเก็ตเมื่อเดือนธ.ค. 49 และที่จ.ระนองและระยองเมื่อเดือนก.พ. 50 ทั้งนี้ ประกาศระบุชัดเจนว่า แรงงานข้ามชาติที่ต้องการควบคุมคือ แรงงานพม่า ลาว กัมพูชา ขณะที่แรงงานที่เข้ามาทำงานมีหลายสัญชาติ ทั้งเวียดนาม อินเดีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ แต่เหตุใดจึงเลือกควบคุมเฉพาะสามสัญชาตินี้ แสดงให้เห็นว่ามีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ สาระสำคัญของประกาศทั้งสามฉบับคล้ายกัน คือห้ามไม่ให้คนต่างด้าวออกจากที่พักอาศัยถ้าไม่มีความจำเป็น โดยภูเก็ตจำกัดตั้งแต่ 20.00 -06.00น. ขณะที่ระนองจำกัดตั้งแต่ 22.00 -06.00น. และระยองในช่วง 21.00น. -06.00น. ซึ่งตั้งแต่มีประกาศนี้ แรงงานข้ามชาติไม่กล้าออกมาใส่บาตรในตอนเช้า รวมถึงหากเจ็บป่วยในช่วงกลางคืนก็ต้องรอจนกว่าจะเช้า จึงจะไปหาหมอ ก่อให้เกิดความยุ่งยากอย่างมาก ซึ่งนี่ถือเป็นการกักบริเวณไม่ต่างจากนักโทษในเรือนจำ ทำให้ไม่มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว

นอกจากนี้ยังห้ามการรวมกลุ่มหรือชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป เนื่องจากอาจรวมกันเพื่อทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรืออันตรายต่อผู้อื่น ล่าสุดประกาศของจังหวัดระยอง ห้ามรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมที่ไม่ใช่ทางวัฒนธรรมหรือประเพณีทางศาสนา ทำให้มีผลต่อการรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยในปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาพ การควบคุมโรค

ทั้งยังห้ามแรงงานต่างด้าวใช้โทรศัพท์มือถือ โดยหากจะใช้นายจ้างต้องทำบัญชีรายชื่อแรงงาน และเบอร์โทร ส่งให้ทางจังหวัด โดยประกาศของจังหวัดระยอง ระบุว่า ไม่ให้ใช้เนื่องจากไม่ใช่อุปกรณ์ในการทำงาน แต่เป็นอุปกรณ์ที่ส่งข่าวสารได้สะดวกรวดเร็ว มีผลต่อความมั่นคงของชาติ

ทั้งนี้ นางสาวสุภัทรา เรียกร้องให้ยกเลิกประกาศจังหวัดและนโยบายที่ละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติทั้งหมด รวมทั้งต้องบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างจริงจัง กำหนดปฏิบัติที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและเปิดให้แรงงานข้ามชาติได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทุกระดับเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้ รัฐยังต้องส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดี ขจัดความเกลียดชังและหวาดกลัวทางชนชาติออกไปด้วย

‘นโยบายแรงงานข้ามชาติควรเป็นอย่างไร’

ในช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง ‘นโยบายแรงงานข้ามชาติควรเป็นอย่างไร’ ดำเนินการโดยนายสุรพงษ์ กองจันทึก สภาทนายความ

ทำอย่างไรแรงงานต่างด้าวจึงไม่เป็นมนุษย์ต่างดาวและไม่ใช่คนอื่น

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติ ทางการไทยใช้คำว่า ต่างด้าว หรือ alien เป็นมนุษย์ต่างดาว หมายรวมถึง การเป็นคนอื่น ไม่ถือว่าเป็นพวกเรา ถามว่าตรงนี้รึเปล่าที่ทำให้รู้สึกว่าเขาไม่เหมือนเรา ทำให้การคุ้มครองต่างๆ ได้ไม่เหมือนเรา

ขณะที่ภาคธุรกิจทั้งภาคจะไม่มีทางเป็นอย่างที่เห็น รัฐมักมองในแง่ความมั่นคง ขณะที่สิ่งที่แรงงานข้ามชาติสร้างคือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นฐานรากของความมั่นคงของชาติ แต่ความเป็นต่างด้าวกลับทำให้ขาดอำนาจต่อรองหลายอย่างทั้งด้านภาษา กฎหมาย คุณสมบัติ ที่จะเปลี่ยนแรงงานของพวกเขาเป็นมูลค่าอย่างยุติธรรม นับว่าต้นทุนของคนต่างด้าวแพงกว่า ต้องใช้ความพยายาม ความกล้ามากกว่า

นโยบายหรือปัญหาแรงงานต่างด้าวขาดอำนาจต่อรอง การได้รับการคุ้มครอง นโยบายต้องให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม ต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ต้องไม่ได้รับอะไรน้อยกว่าเพราะเป็นคนต่างด้าว เช่น กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เรื่องการจัดตั้งสหภาพที่ให้แรงงานต่างด้าวเป็นสมาชิกได้แต่ห้ามตั้งสหภาพ

ที่สำคัญคือ ควรชำระสิ่งที่เป็นแผลคาใจ ซึ่งคือการที่แรงงานไม่มีสัญชาติ แต่อยู่เมืองไทยจนลูกหลานโตแล้ว แต่ยังไม่มีสัญชาติ ซึ่งตรงนี้เอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างเอาเปรียบพวกเขา ทั้งที่เขาดำรงชีวิตเหมือนคนไทย

อย่างไรก็ตาม รศ.แล เห็นว่า ภาครัฐมีนโยบายด้านนี้ แต่การกระทำยังไม่สมบูรณ์ ต้องแก้ให้ได้ว่าทำอย่างไรแรงงานต่างด้าวจึงไม่เป็นมนุษย์ต่างดาวและไม่ใช่คนอื่น

เมื่อมีกฎหมาย สิทธิตามธรรมชาติต้องถูกตัดไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

นายวสันต์ สาทร ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กฎหมายที่ไทยใช้อยู่เหมือนที่อเมริกา หรือญี่ปุ่นใช้ เขาคิดว่าปัญหาน่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจ มองปัญหากันคนละแบบมากกว่า อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่ากระทรวงแรงงานไม่ใช่ผู้รับผิดชอบเรื่องแรงงานต่างด้าวทั้งหมด โดยเห็นว่าเป็นหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เขายอมรับว่าในเรื่องสิทธิ เขาอาจเข้าใจไม่ครบถ้วน แต่โดยทั่วไป สิทธิมีสองประเภท คือ สิทธิทางธรรมชาติและสิทธิตามกฎหมาย เมื่อมีกฎหมาย สิทธิตามธรรมชาติต้องถูกตัดไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ถ้ายอมรับตรงนิ้ ก็ต้องดูต่อไปเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ ว่าถูกละเมิดไหม

ต่อข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิของแรงงานต่างด้าวในการมีส่วนร่วมกำหนดหลักเกณฑ์นโยบาย เขากล่าวว่า ก็ต้องดูว่า โลกนี้มีประเทศไหนให้คนไทยเข้าไปกำหนดได้บ้าง การเสนอประเด็นนั้น กระทรวงแรงงานต้องการความคิดเห็นอยู่แล้ว แต่ต้องผ่านการวิเคราะห์ผลดี ผลเสียมาก่อน

สอง การเข้าถึงสิทธิ คนงานไทยในต่างประเทศ ถ้าถูกละเมิดก็ดำเนินการเอง ไม่มีรัฐไหนเข้ามาช่วยในการเข้าถึงสิทธิ อย่างไรก็ตาม รัฐไม่ได้ขัดขวางหากเอ็นจีโอจะเข้ามาช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว

ประกาศทั้งสามฉบับ (เรื่องมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าว) ถามว่า เลือกปฏิบัติไหม การเข้าเมืองมีทั้งถูกและผิด ถ้าผิดจะปฏิบัติเหมือนคนที่เข้าเมืองถูกได้หรือไม่ แต่ถ้าต้องการให้เปิดกว้างก็ทำได้ แต่ตอนนี้มีกฎหมายอยู่ โดยจำกัดเฉพาะคนที่เข้าเมืองผิด ส่วนการซื้อโทรศัพท์มือถือต้องใช้บัตรประชาชน จะขับขี่รถก็ต้องใช้ใบขับขี่

อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สังหาริมทรัพย์นั้น แรงงานสามารถซื้อครอบครองได้ตามกฎหมาย ส่วนใบขับขี่นั้นเป็นเรื่องของกรมขนส่ง ซึ่งจะพิจารณาออกให้เป็นบางพื้นที่ เช่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย หรือ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน จะให้คนบางกลุ่มที่อาศัยชั่วคราวมาทำใบขับขี่และมีสิทธิขับขี่เฉพาะบางพื้นที่ที่รัฐให้อำนาจไว้

แรงงานข้ามชาติ: พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายสาวิทย์ แก้วหวาน รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า ในอดีต ไม่มีปัญหาแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากเคลื่อนย้ายถ่ายเทโดยสะดวก แต่มาวันนี้ แค่การใช้คำ (แรงงานต่างด้าว/แรงงานข้ามชาติ-ประชาไท) ก็มีปัญหาต้องตีความ ทั้งที่ ถ้ามองว่าคนเป็นคน ก็ควรมีสิทธิต้องได้รับการุค้มครอง ต้องไม่เลือกปฏิบัติ

วันนี้เราปฏิเสธแรงงานข้ามชาติได้จริงหรือ เขาเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เรายอมรับหรือไม่? อย่างไรก็ตาม รัฐกลับมองแรงงานข้ามชาติในด้านความมั่นคง ขณะที่แรงงานไทยมองเขาเป็นเพื่อน นายจ้างมองว่าเขาช่วยให้เกิดความร่ำรวย

ด้านการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานของรัฐเลือกปฏิบัติ โดยให้แรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกสหภาพได้ แต่สหภาพเองพร้อมหรือไม่ นโยบายรูปแบบการจ้างงาน โซนค่าจ้างมีสิบกว่าโซน ได้ค่าจ้างไม่เท่ากัน เหตุใดจึงไม่ทำให้ได้เท่ากัน

นางระกาวินทร์ ลีชนะวานิชพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องทัศนคติ เมื่อปีที่แล้ว (49) มีการสำรวจโดยเอแบคโพลล์ ใน 11 จังหวัด พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม 47% ที่ยอมรับว่าควรให้(แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ) มีสิทธิเท่าเทียมกัน แรงงานข้ามชาตินั้นมีส่วนร่วมสร้าง จีดีพี 2% คิดเป็นเงินประมาณหมื่นล้านบาทขึ้นไป นี่ยังไม่รวมรายได้ของแรงงานข้ามชาติที่ใช้ในประเทศไทย โดยคิดเป็น 75%ของรายได้ของแรงงานข้ามชาติใช้ในประเทศไทย พวกเขาส่งเงินกลับน้อยเพราะช่องทางส่งกลับน้อย

จะเห็นว่าสิ่งที่แรงงานข้ามชาติทำให้สังคมไทยไม่น้อย แต่เราไม่ตระหนักและกลับรังเกียจ ขณะที่คนที่จ้างแรงงานข้ามชาติจะมีทัศนคติที่ดีกว่า เช่น นายจ้างที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานบ้าน หรือนายจ้างที่สมุทรสาคร ทั้งนี้ เธอเห็นว่า ไทยเป็นชาติที่ชาตินิยมสูง จึงไม่ยอมรับคนต่างชาติที่เข้ามา

นายจารุวัฒน์ เกยูรวรรณ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) กล่าวว่า เวลาเราไปเจรจาเรื่องแรงงานข้ามชาติกับภาครัฐ เหตุผลหลายอย่างของเรากับฝ่ายรัฐต่างกัน เช่น เมื่อธันวาคม ปีที่แล้ว เขาและคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ เรียกร้องให้แรงงานข้ามชาติ ตั้งสหภาพแรงงานได้ หลังจากนั้น ปลัดกระทรวงแรงงานได้ ให้สัมภาณ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า เรื่องนี้ทำไม่ได้เพราะติดปัญหาความมั่นคง เพราะถ้าแรงงานข้ามชาตินัดหยุดงานจะมีผลกับเศรษฐกิจไทย ขณะที่นายจารุวัฒน์เองเห็นว่าเป็นสิทธิที่แรงงานกระทำได้

เสนอสร้างนโยบายระยะยาวคำนึงเรื่องการผสมผสานกลมกลืน

นายวรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสรุปการอภิปรายว่า เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งแรงงานต่างชาติ แต่ประเด็นคือ สังคมไทยตระหนักเรื่องนี้หรือไม่ นโยบายต่อแรงงานต่างชาติ ที่แก้ปัญหาโดยการจดทะเบียน ทำให้คิดว่า ผู้ที่เข้ามาโดยไม่จดทะเบียนนั้นผิด กฎหมาย และมีการจดทะเบียนเพื่อใช้ชั่วคราว แต่เมื่อเศรษฐกิจไทยถดถอย โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการรัฐประหาร แรงงานต่างชาติเลยกลายเป็นปัญหา เพราะนายจ้างหยุดการลงทุนจึงจะส่งพวกเขากลับประเทศ

ไทยมองการใช้แรงงานด้วยสายตาที่สั้น ทั้งที่ต่อไป สังคมไทยจะมีหลายชนชาติอยู่ นโยบายจึงควรเป็นระยะยาว โดยคำนึงเรื่องการผสมผสานกลมกลืน นอกจากนี้ กฎหมายยังไม่ทันต่อสถานการณ์ รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไป เช่น งานประมงนอกเขตพื้นที่ไทย กฎหมายเข้าไปไม่ถึง สะท้อนความล้าหลังของกฎหมายและเอื้อต่อคนที่จะได้รับผลประโยชน์

ปัญหาแรงงานข้ามชาติ เป็นเรื่องเชื้อชาติและชนชั้น การแก้ปัญหา โดยเปิดคลีนิคด้านกฎหมายก็ยังเป็นการตั้งรับ เพราะฉะนั้น โดยสรุปต้องคิดกันว่าทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนจะเป็นแบบไหน ต้องทำให้การใช้แรงงานมีมาตรฐาน สังคมในอนาคตต้องการแบบไหน โดยเขากล่าวถึงประชาคมอาเซียน ที่อาจไม่มีพรมแดน เช่นเดียวกับที่ยุโรป

ข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการแรงงานข้ามชาติ

ในช่วงท้ายของการเสวนา นายอดิศร เกิดมงคล กล่าวว่า การจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยังเน้นที่กระบวนการจัดการเรื่องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความมั่นคงของรัฐ ทั้งที่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน เนื่องจากข้อจำกัดสถานะทางกฎหมาย การสื่อสารหรือการได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการเข้าถึงการคุ้มครอง ซึ่งการปราศจากมุมมองด้านสิทธิทำให้แรงงานข้ามชาติถูกเลือกปฏิบัติอันเกิดจากทัศนคติ แนวนโยบายและการปฎิบัติตามนโยบายแห่งรัฐ

ทั้งนี้ นายอดิศร ได้เสนอข้อเสนอในเบื้องต้น ด้านสุขภาพและสังคมว่า ควรสร้างกระบวนทัศน์ในเชิงความมั่นคงด้านสุขภาพและสังคม ให้เห็นความสำคัญของแก้ไขผลกระทบด้านสุขภาพและสังคม ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ทั้งให้มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) โดยเพิ่มเติมคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขผลกระทบทางสุขภาพและสังคม องค์กรและหน่วยงานในคณะอนุกรรมการแก้ไขผลกระทบทางสังคมและสุขภาพควรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในปัจจุบัน ทั้งนี้มีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การมีพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวที่สื่อภาษาเดียวกันและเข้าถึงชุมชนได้

ส่วนแนวทางการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ สร้างกลไกที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองทางกฎหมาย แก้ไขระเบียบอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือถูกละเมิดสิทธิ ให้สามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเพื่อดำเนินการร้องเรียนเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา และพิจารณายกเลิกการปิดกั้นสิทธิการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ ยังเสนอให้พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 10 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ในเรื่องระยะเวลาการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในเรือประมงทะเลที่ออกนอกน่านน้ำไทยเลยหนึ่งปีขึ้นไป

สำหรับแนวนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาตินั้น เสนอว่า นโยบายการจดทะเบียนจะต้องมีความสอดคล้องกับปรากฎการที่เกิดขึ้นจริง ควรจะมีการเปิดโอกาสให้จดทะเบียนได้ตลอดทั้งปี เพื่อสอดรับกับการหมุนเวียนแรงงานตามความต้องการแรงงาน มีการจัดทำแผนแม่บทการจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาว โดยการระดมการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในทุกฝ่าย พิจารณาทบทวนแนวทางการพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีแรงงานที่มาจากประเทศพม่า ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของแรงงานและฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต่อการกำหนดนโยบายในทุกระดับ

รวมทั้งยกเลิกประกาศจังหวัดเรื่องการจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีประกาศบางข้อที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติอย่างร้ายแรง ให้มีการทบทวนประกาศหรือแนวปฏิบัติที่อาจจะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 พ.ค.50 เรื่องการผ่อนผันให้ผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร ที่ผ่อนผันเพียงบุตรของแรงงานข้ามชาติเท่านั้น และจะต้องมีการส่งเสริมให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจอันดีต่อแรงงานข้ามชาติ ขจัดความเกลียดชัง ความหวาดกลัวอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ยอมรับและตระหนักว่าแรงงานข้ามชาติมีคุณูประการต่อการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย