Thai / English

เสียงจากนักวิชาการมธ. ทำไม?ต้องปฏิรูปสปส.


มติชน
24 .. 50
เครือมติชน

การยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศึกษาข้อมูลและเสนอให้ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นองค์กรมหาชน กำลังกลายเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

ถามว่า เหตุใดนักวิชาการส่วนใหญ่จึงต้องการให้มีการปฏิรูป สปส.เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายนิพนธ์ พัวพงศกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. อธิบายว่า ประกันสังคมเป็นภูมิคุ้มกันความเสี่ยงที่สำคัญของลูกจ้าง และเป็นการสร้างความมั่นคงในยามชราภาพในระบบทุนนิยม หากไม่มีระบบนี้ เมื่อเกิดวิกฤตจะทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า และอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้

"หลักประกันสังคมดำเนินการมานานแล้ว และขณะนี้ไม่ใช่เรื่องนโยบายของพรรคการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติให้เกิดความมั่นคง ดังนั้น บทบาทของนักการเมืองจึงต้องถูกจำกัด เพราะหากนักการเมืองเข้ามาจะคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ระยะสั้น เช่น ตัวอย่างประเทศแถบละตินอเมริกา นักการเมืองเอาเงินของระบบประกันสังคมไปใช้ในนโยบายประชานิยมให้กับลูกจ้าง เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ไม่มีเงินเหลือไว้ให้ลูกจ้าง ต้องเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่ขณะนี้คนทำงานมีน้อยกว่าคนที่เกษียณอายุ เหมือนเตี้ยอุ้มค่อม แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าตัดสินใจอะไร ดังนั้น จึงต้องจำกัดบทบาททางการเมืองออกไปจากประกันสังคม" นายนิพนธ์กล่าว และว่า หากส่วนใดได้กำหนดกติกาไว้แน่นอนแล้ว ก็ควรปลอดการเมือง และดำเนินการให้เกิดความมั่นคง ส่วนใดที่ยังมีปัญหา เช่น กรณีชราภาพ ซึ่งปัจจุบันระบบประกันสังคมของไทยยังไม่ยั่งยืนและอาจล้มละลายในระยะยาว ก็ต้องวิเคราะห์ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด แล้วให้นักการเมืองร่วมตัดสินใจ

สาเหตุที่ต้องแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อจำกัดบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองไม่ให้แทรกแซงระบบประกันสังคมนั้น

นายนิพนธ์กล่าวว่า เพื่อให้ระบบยั่งยืน เพราะปัจจุบันประกันสังคมยังถูกครอบงำจากนักการเมืองและข้าราชการประจำ ในส่วนของข้าราชการประจำนั้น ในอดีตผู้แทนของลูกจ้างและนายจ้างยังไม่มีความรู้ จึงต้องให้บทบาทนำกับระบบราชการซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้พัฒนาไปมาก ทั้งลูกจ้างและนายจ้างต่างฉลาดขึ้น ดังนั้น ข้าราชการควรคืนกรรมสิทธิ์ในกองทุนประกันสังคมให้อยู่ในอำนาจของลูกจ้างและนายจ้าง

การแก้ไขกฎหมายประกันสังคมควรยึดหลัก 2 ประการ คือ 1.ต้องทำให้ลูกจ้างและนายจ้างรู้สึกเป็นเจ้าของเงินกองทุน เพื่อที่จะได้ปกป้องและดูแลประโยชน์ในระยะยาว 2.ต้องลดการครอบงำจากระบบราชการและการเมือง ดังนั้น การคัดเลือกผู้แทนของฝ่ายต่างๆ ที่เข้ามาเป็นกรรมการจึงมีความสำคัญมาก ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งต้องไม่ใช่คนของนักการเมือง เพราะหากได้คนเช่นนั้นมาก็ต้องหาผลประโยชน์ตอบสนองนักการเมืองเหมือนเดิม ฉะนั้นมีการสร้างระบบคัดเลือกเอาผู้แทนที่แท้จริงของนายจ้างและผู้ประกันตน และหากผู้แทนเหล่านี้เข้าไปทำงานแล้วไม่เป็นที่น่าพอใจก็ต้องถอดถอนได้

การทำให้ สปส.ออกจากระบบราชการและการเมืองได้นั้น เจ้าของเงิน คือ นายจ้าง และลูกจ้าง ต้องรวมตัวกันเรียกร้องให้จริงจัง ต้องร่วมกันทำฉันทามติเพื่อดูแลผลประโยชน์ระยะยาว เนื่องจากหากปล่อยไปเช่นทุกวันนี้แล้ว อนาคตอาจเป็นอันตราย เพราะกรรมการในบอร์ดบางส่วนเป็นคนที่นักการเมืองแต่งตั้ง ขณะที่ในส่วนของข้าราชการนั้นก็พยายามรักษาประโยชน์ของตัวเองไว้ โดยเสนอร่างแก้ไขอีก 1 ฉบับ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้าง

นายนิพนธ์กล่าวถึงผู้ประกันตนซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่ไม่ใส่ใจสิทธิของตัวเองในระบบประกันสังคมว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกวันนี้คนกลุ่มนี้บางส่วนมีระบบประกันของบริษัทดูแลอยู่ด้วย แต่อย่าลืมว่าในระยะยาวเขาต้องใช้ประกันชราภาพ ซึ่งไม่ใช่เงินน้อยๆ ดังนั้น สปส.จำเป็นต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้คนเหล่านี้รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของเงิน ทุกวันนี้การจ่ายเงินประกัน 2 ทาง คือประกันของบริษัท และประกันสังคม ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ดังนั้นควรมีการแก้ไขในลักษณะซื้อประกันเสริม คือบริษัทจ่ายเงินให้กับประกันสังคมทางเดียว แต่ผู้ประกันตนต้องได้รับบริการที่ดีไม่น้อยกว่าเดิม สปส.ควรศึกษาเรื่องนี้ว่าควรทำอย่างไร ซึ่งจะทำให้ต้นทุนไม่ซ้ำซ้อน และบริษัทก็จ่ายเงินน้อยลง แต่ประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ประกันตนได้รับต้องไม่น้อยลง ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยให้ความสนใจในประเด็นนี้ เพราะยิ่งผู้ประกันตนไปใช้บริการน้อยเท่าไหร่ ก็ทำให้มียอดเงินกองทุนสะสมเพิ่มขึ้น อย่าลืมว่าในแต่ละปีข้าราชการสามารถเอาเงินดอกผลไปใช้จ่ายได้

หน้า 10