Thai / English

ผู้ใช้แรงงานขู่ประท้วงหากแก้ไขมาตรา 83 (8)


ผู้จัดการ
20 .. 50
ผู้จัดการ

ที่โรงแรมบางกอก พาเลซ คณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ได้สัมมนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้อะไรกับผู้ใช้แรงงาน โดยมีองค์กรและผู้แทนผู้ใช้แรงงานกว่า 500 คน เข้าร่วมสัมมนา ทั้งนี้ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ถ้าดูภาพรวม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเช่นสัญญาจ้าง ประชาชนเป็นนายจ้าง ว่าจ้างนักการเมืองให้มาเป็นลูกจ้าง การเขียนรัฐธรรมนูญจะต้องทำให้ลูกจ้าง คือ นักการเมือง หรือรัฐบาลในอนาคต ทำงานให้กับนายจ้างอย่างดีที่สุด ที่ผ่านมา นักการเมืองมักไม่ได้ทำอะไรให้ประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง แต่ยังคงหาประโยชน์ ดังนั้น ประชาชนทุกคนจะต้องเอาใจใส่ต่อรัฐธรรมนูญใหม่ให้มากขึ้น

นายพิสิฐ กล่าวว่า หลักใหญ่ของร่างรัฐธรรมนูญมี 3 ประการ คือ 1.สิทธิมนุษยชน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนื้ถือว่าให้สิทธิให้เสียงแก่ประชาชนมากขึ้น ดูจากกรณีที่ประชาชนสามารถลงชื่อเพียง 20,000 ชื่อ ก็แก้ไขกฎหมายได้ และรัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบยืดหยุ่น เพราะเราไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้ง รวมถึงยังให้ประชาชนลงชื่อ 100,000 ชื่อ ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และรัฐบาลสามารถเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาส ไม่ให้เป็นเงื่อนไขที่ถูกระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบและที่เกรงกันคือ นักการเมืองอาจจะแอบแฝงเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของกลุ่มและพวกพ้องได้ แต่เชื่อว่า ถ้าให้สิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างเต็มที่ คงไม่มีนักการเมืองคนใดกล้าที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง เพราะประชาชนคงไม่ยอมแน่นอน หรือถ้ามีนักการเมืองทำเช่นนั้น ประชาชนนับหมื่นนับแสนคนคงออกมาเดินกลางถนน

กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า หลักที่ 2.สถาบันทางการเมือง ขณะนี้ค่อนข้างที่จะเขียนไว้แบบหลวม ๆ พร้อมให้มีการปรับแก้จำนวน ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. เชื่อว่าจะมีการถกเถียงกันอีกมาก และคงจะมีการปรับปรุงตรงจุดนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญพร้อมรับฟัง และสะท้อนความเห็นของประชาชน รวมถึงเรื่องที่มาของ ส.ว.ที่ต้องมาจากการแต่งตั้งนั้น อาจจะต้องปรับปรุง และดูว่าเรื่องการเลือกตั้ง ส.ว.เราจะดูอย่างไร ไม่ให้มีสภาผัวเมีย ไม่ปิดกั้นการหาเสียง ตรงนี้ต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนหลักที่ 3 องค์กรตรวจสอบนั้น นายพิสิฐ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่าเรื่องดังกล่าวมีความล้มเหลวอย่างมาก เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ร่างมองโลกอีกอย่างหนึ่ง โดยเห็นว่า รัฐบาลไม่มีความมั่นคง รัฐบาลมีหลายพรรค จึงร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมาก โดยคิดว่าจะสามารถนำพาประเทศชาติให้เข้มแข็ง เหมือนเช่นสิงคโปร์ หรือมาเลเซียได้ แต่ในพื้นฐานของความเป็นจริง รัฐบาลพรรคเดียวทำให้นายกรัฐมนตรีที่ได้คะแนนท่วมท้น เหิมเกริม ขาดองค์ประกอบในการตรวจสอบ สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 ผู้ร่างจึงต้องการให้เกิดการตรวจสอบ และมีการถ่วงดุลให้มากขึ้น

ด้านนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์กรลูกจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง ว่า ขณะนี้เห็นได้ชัดว่า นับวันลูกจ้างจะเสียเปรียบมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญไม่ได้คุ้มครองลูกจ้างอย่างแท้จริง ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สภาองค์กรลูกจ้าง จึงชุมนุมเรียกร้องให้คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้เพิ่มเติมถ้อยคำแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ให้สามารถคุ้มครองลูกจ้าง และแก้ไขปัญหาของลูกจ้างได้อย่างแท้จริง

ประธานสภาองค์กรลูกจ้างฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดกับลูกจ้างขณะนี้ คือ ลูกจ้างเหมาช่วง ซึ่งเป็นเครื่องมือของนายจ้าง และพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อเอาเปรียบ โดยเฉพาะการจ้างเหมาช่วง และไม่สามารถเอาผิดกับบริษัทที่รับเหมาช่วงได้ จึงได้เสนอถ้อยคำในมาตรา 83 (8) เพื่อเป็นการคุ้มครองให้ผู้ทำงานอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ คือ ลูกจ้างที่รับเหมาช่วงจะต้องได้รับสิทธิ เช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างในบริษัทเดียวกัน มาตรานี้ ทางสภาองค์กรลูกจ้างฯ ได้เสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว และหากมีการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าลูกจ้างส่วนใหญ่คงไม่ยอม และหากใครขอแปรญัตติ แก้ไขมาตรา 83 (8) ทางองค์กรลูกจ้างฯ จะเคลื่อนไหวประท้วง