Thai / English

สปส.ยกระดับรพ.6พันแห่ง ดึงกทม.-สธ.ร่วมเหมาจ่าย


กรุงเทพธุรกิจ
12 .. 50
กรุงเทพธุรกิจ

สปส.ผนึก กทม. และ สธ. ยกระดับโรงพยาบาลกว่า 6 พันแห่ง ให้บริการผู้ประกันตน ชี้ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลตามบัตร ระบุ คนงานเข้ามากขึ้นประหยัดทั้งเงินและเวลา เริ่มกรกฎาคม นี้ ขณะที่ "สุรินทร์" เผย 3 เดือนคนงานเจ็บ-ตายในงานแล้วกว่า 50,000 คน จ่ายเงินทดแทนไปแล้ว 360 ล้านบาท

นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการหารือร่วมกับ กรุงเทพมหานคร(กทม.)และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ถึงแนวทางการดำเนินการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ประกันตนในโรงพยาบาลในสังกัด โดยได้ตกลงร่วมกันว่า กทม.ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัด 9 แห่ง มีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และสาขาอีก 78 แห่ง และกระทรวงสาธารณสุขที่มีโรงพยาบาลในสังกัด 117 แห่ง โรงพยาบาลประจำอำเภอจำนวน 800 แห่ง สถานีอนามัยอีกกว่า 5,000 แห่ง จะรับหน้าที่ไปกวดขันโรงพยาบาลให้รักษาผู้ประกันตนอย่างไม่มีข้อแม้ และผู้ประกันสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ในสถานที่ใกล้เคียงที่สุด และที่สำคัญไม่จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลตามบัตร

"สปส.เหมาจ่ายค่าหัวให้กับ กทม.หรือ สธ.โดยตรง ซึ่งคิดในอัตราเหมาจ่ายหัวละ 1,284 บาทในปี 2550 กทม.และ สธ.ก็จะไปแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลเอาเอง โดยอาศัยฐานข้อมูลจาก สปส.ซึ่งจะคอยสนับสนุนฐานข้อมูลผู้ประกันตน ผมคิดว่ามันสะดวก ทำให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงการบริการได้เต็มที่ ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา และคิดว่ายังเป็นการง่ายต่อการควบคุมและสามารถยกระดับการให้บริการผู้ประกันตนไปเรื่อยๆ ในอนาคต

เพราะหากพบว่ามีโรงพยาบาลใดปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ไม่อำนวยประโยชน์อย่างเต็มที่ให้กับผู้ประกันตน สปส.ก็จะจี้ไปยัง สธ. หรือ กทม.เพื่อให้ลงโทษโรงพยาบาลนั้นเอง "นายสุรินทร์ กล่าวและว่า ระบบดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดระบบข้อมูล คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในเดือนกรกฎาคม นี้

นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม ปี 2550 มีลูกจ้างได้รับบาดเจ็บและตายในขณะทำงานทั้งสิ้น จำนวน 48,485 ราย โดยมีลูกจ้างตาย 212 ราย ทุพพลภาพ 3 ราย สูญเสียอวัยวะบางส่วน 177 ราย หยุดงานเกิน 3 วัน 12,516 ราย และหยุดงานไม่เกิน 3 วัน 35,577 ราย ซึ่งสปส.จ่ายเงินทดแทนไปแล้ว 360 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 35,000 บาท และหากเจ็บป่วยรุนแรงสามารถเบิกจ่ายเพิ่มได้ตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 200,000 บาท กรณีที่ลูกจ้างต้องหยุดพักรักษาตัว จะได้รับเงินค่าทดแทน ซึ่งคิดจาก 60% ของค่าจ้างต่อเดือนตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด แต่ไม่เกิน 12 เดือน