Thai / English

ILO เผย "แรงงานหญิง" ถูกกดขี่ทางแรงงานสูงสุด


ผู้จัดการ
10 .. 50
ผู้จัดการ

ไอแอลโอนำเสนอรายงานเกี่ยวกับความเสมอภาคในที่ทำงาน ซึ่งแม้ว่าจะก้าวหน้าขึ้น แต่การเลือกปฏิบัติในที่ทำงานยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แรงงานสตรียังเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะโอกาสการทำงาน ค่าแรง และอัตราจ้างงาน เผยพบการเลือกปฏิบัติรูปแบบใหม่ อันเนื่องมากจากอายุ รสนิยมทางเพศ เอดส์ และความพิการด้วย

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เปิดตัวรายงาน “ความเสมอภาคในการทำงาน การเผชิญหน้ากับความท้าทาย” นำภาพโดยรวมของสถานการณ์โลกเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน โดยนายทิม เดอร์ เมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานแรงงาน กล่าวว่า อัตราส่วนกำลังแรงงานหญิงทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 56.6 ในปัจจุบัน แต่ในเอเชียแปซิฟิกบางประเทศช่องว่างระหว่างเพศเป็นปัญหาที่น่าวิตก ในอินเดียมีหญิงเพียงร้อยละ 26 ที่มีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เมื่อเทียบกับชายร้อยละ 84.1 ซึ่งเป็นช่องว่างถึง 58 จุด ในประเทศบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ช่องว่างระหว่างกำลังแรงงานชายหญิงต่างกัน 30 จุด เป็นที่น่าวิตกว่าการประเมินการสำหรับปี พ.ศ. 2558 และ 2568 แสดงว่าความแตกต่างนี้จะลดน้อยลงไม่มาก ทั้งในอินโดนีเซีย และบรูไน ช่องว่างระหว่างเพศจะสูงขึ้นมากกว่า 30 ในปี 2563

รายงานระบุว่า อัตราการว่างงานของหญิงและชายก็แตกต่างกันในปี 2549 อินโดนีเซีย มีอัตราการว่างงานของหญิงร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับชายร้อยละ 8.6 ในปี 2547 มาเลเซียมีอัตราหญิงว่างงานร้อยละ 3.8 ชายร้อยละ 3.4 อินเดียมีหญิงว่างงานร้อยละ 5.3 ชายร้อยละ 4.9 เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานหญิงและชายเท่ากันคือร้อยละ 1.7 และบางประเทศมีอัตราหญิงว่างงานต่ำกว่าชาย เช่น ในฟิลิปปินส์หญิงร้อยละ 6.8 เทียบกับชายร้อยละ 7.6 จีนหญิงร้อยละ 2.8 และชายร้อยละ 3.6 และญี่ปุ่นหญิงร้อยละ 3.9 ชาย ร้อยละ 4.3 ขณะที่รายได้ก็เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญ ในเอเชียใต้มีจำนวนหญิงที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างมากที่สุดในโลก กล่าวคือร้อยละ 60 ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก หญิงที่ทำงานร้อยละ 11 ไม่ได้ค่าจ้าง และร้อยละ 12 เป็นผู้ประกอบการอิสระ ส่วนความเหลื่อมล้ำทางเพศในรายได้ แรงงานหญิงภาคการผลิตในเกาหลีและญี่ปุ่น ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายร้อยละ 60 ในสิงค์โปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง แรงงานหญิงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายร้อยละ 30-40

ปัจจัยสำคัญในการวัดความก้าวหน้าในสถานภาพของหญิงที่ทำงานคือ คุณภาพของงานที่พวกเขาได้ทำ เช่น จำนวนหญิงที่ได้ทำงานในตำแหน่งที่สำคัญที่มีหน้าที่ออกกฎหมาย เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือระดับบริหาร โดยทั่วไปภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หญิงที่มีงานระดับผู้บริหารมีจำนวนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกร้อยละ 28.3 ในเอเชียตะวันออกหญิงร้อยละ 24.8 ได้ทำงานในระดับผู้บริหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.9 ในปี 2538 เอเชียใต้มีอัตราต่ำสุดในภูมิภาคคือร้อยละ 8.6 ถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.6 ในปี 2538

เป็นที่น่าสังเกตว่า โดยภาพรวมบุคคลบางกลุ่มจะตกอยู่ในระดับล่างของอาชีพและรายได้ ไม่ว่าประเทศนั้นจะพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจมากแค่ไหน หรือระบบเศรษฐกิจจะเปิดกว้างแค่ไหนและมีพลังมากเพียงใด รายงานนำเสนอตัวอย่างการเลือกปฏิบัติแบบใหม่อันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ศาสนา เชื้อสายต้นกำเนิด อายุ ชั้นวรรณะ ชนเผ่าท้องถิ่น รสนิยมทางเพศ เอชไอวี/เอดส์ ความพิการ และแรงงานข้ามชาติ กลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อย ในเอเชียมีคนจำนวน 290 ล้านคนในวัยทำงานที่ทุพพลภาพ ซึ่งการไม่ให้บุคคลเหล่านี้เข้าร่วมในการทำงานจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้แนะนำขั้นตอนในการต่อสู้การเลือกปฏิบัติ โดยการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศด้วยความร่วมมือในการปฏิบัติงานอย่างดี เพื่อให้มาตรการการส่งเสริมการต่อต้านการเลือกปฏิบัติและความเสมอภาค ถูกนำไปประสานเข้ากับแผนงานเพื่อการส่งเสริมงานที่มีคุณค่าของประเทศในแต่ละประเทศ ส่งเสริมให้มีกฎหมายมากขึ้น และการบังคับใช้มาตรการที่ไม่ใช่กฎหมาย เช่น การซื้อของของภาครัฐ นโยบายการให้กู้ยืมเงินและการลงทุน และการช่วยคนงานและนายจ้างในการตกลงเรื่องแนวปฏิบัติงานมาตรฐานและการเจรจาต่อรองร่วม