ประชาไท - วานนี้ (8 พ.ค.50) เวลา 10.30 น. สมาชิกสหภาพแรงงานอัลมอนด์ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี ร่วมกับองค์กรแรงงานพันธมิตร เดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการถูกนายจ้างปิดงาน หลังจากได้ยื่นหนังสือให้รัฐบาลช่วยเหลือไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 เม.ย. แต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาใดๆ
การชุมนุมครั้งนี้ สมาชิกสหภาพแรงงานอัลมอนด์ ร่วมกับเครือข่ายแรงงาน เช่น สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ศูนย์บริการข้อมูลแรงงาน และสหภาพแรงงานในย่านต่างๆ รวมกันประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันชูแผ่นป้ายเรียกร้องสิทธิแรงงาน เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่รักษาสิทธิแรงงาน มีการกล่าวปราศรัยบนรถกระจายเสียง และมีสมาชิกองค์กรเครือข่ายผลัดกันขึ้นพูดแสดงความคิดเห็นเป็นระยะ รวมถึงมีการร้องเพลงเพื่อปลุกขวัญกำลังใจของผู้ชุมนุมด้วย
สหภาพแรงงานอัลมอนด์ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า บริษัท อัลมอนด์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานอัลมอนด์มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 เม.ย. โดยให้เหตุผลว่าการเจรจาข้อเรียกร้องของสหภาพที่เรียกร้องการจัดสวัสดิการต่างๆ ทำให้เกิดผลกระทบกับบริษัทฯ อย่างมาก และเกิดความไม่ปลอดภัยในการควบคุมกิจการต่างๆ จึงใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 12 ปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพ
แต่เมื่อปิดงานไปแล้ว ทางบริษัทฯ ได้ปรับสวัสดิการ เช่น เบี้ยขยันให้กับพนักงานภายในที่ยังคงทำงานให้บริษัทฯ จึงขัดแย้งกับเหตุผลที่บริษัทฯ อ้างกับสหภาพว่าไม่สามารถปรับสวัสดิการให้ได้โดยอ้างเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งได้มีการแทรกแซงการดำเนินงานของสหภาพ เช่น การให้ลาออกจากการเป็นสมาชิก การให้พนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมกับสหภาพออกจากงาน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้างด้วย
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า แม้ทางรัฐบาลจะให้กระทรวงแรงงานเข้าไปแก้ไขก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับนายจ้างได้ เพราะมีอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเป็นที่ปรึกษานายจ้างด้วย จึงเร่งให้รัฐบาลหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากไม่มีผลคืบหน้า จะมีมาตรการขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรพันธมิตรต่อไป
นายสมพงศ์ พัฒภูมิ แกนนำสหภาพแรงงานอัลมอนด์ กล่าวว่า พวกตนมาทวงสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่สมาชิกสหภาพถูกปิดงาน และสหภาพถูกกดดัน ทำลาย จากกลุ่มนายจ้าง แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทางสหภาพจึงหวังจะได้คำตอบจากรัฐบาลว่าจะหาข้อยุติปัญหานี้ได้เมื่อไร และหวังให้มีการยกเลิกการปิดงานที่มีต่อลูกจ้างโดยเร็วที่สุด
ด้านนายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงปัญหานี้ว่า มีการเจรจาตกลงกันเองในระดับทวิภาคี รวม 6 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และทางเจ้าหน้าที่ของสำนักแรงงานสัมพันธ์ พร้อมกับเขตพื้นที่ได้เข้าไปร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย อีก 10 ครั้ง สภาพทั่วไปของข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ อาทิ เงินโบนัส ค่าพาหนะ สามารถตกลงกันได้ มีเพียงบางเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ คือเรื่องเบี้ยขยัน ซึ่งฝ่ายลูกจ้างเรียกร้องขอเพิ่มอีก 1 แรง จากเดิมที่ได้รับ 1 แรง ซึ่งก็ขอให้ฝ่ายตัวแทนนายจ้างพิจารณาทบทวนในเรื่องนี้ เพื่อเห็นแก่ลูกจ้างที่กำลังได้รับความเดือดร้อน
ปัญหาขณะนี้คือ ผู้มีอำนาจโดยตรงของบริษัทฯ เป็นชาวอเมริกัน อยู่ต่างประเทศ เราพยายามเจรจากับผู้รับมอบอำนาจ เพราะนายจ้างใช้สิทธิปิดงานตามขั้นตอนกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. จะครบ 1 เดือนวันพรุ่งนี้ ลูกจ้างก็เดือดร้อนไปขอความเป็นธรรมตามที่ต่างๆ เช่น สถานทูตอเมริกา ก็อยากขอให้เห็นใจกัน การเจรจาติดอยู่นิดเดียว อย่าเอาชนะคะคานกัน ลูกจ้างเองก็ยินยอมในหลายเรื่องแล้ว นายจ้างเองก็ค่อนข้างจะแข็ง อยากขอความเห็นใจเรื่องนี้ คุยกันด้วยเหตุผล อธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าว