ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อแรงงานไทยและเครือข่าย แถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา คัดค้านและให้ยกเลิกประกาศของจังหวัดระนอง เรื่อง กำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวบางจำพวก และประกาศจังหวัดภูเก็ต เรื่อง การจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว เช่น ห้ามแรงงานข้ามชาติใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ห้ามมิให้แรงงานข้ามชาติออกนอกที่พักอาศัยหลังเวลา 20.00 น. ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของแรงงานข้ามชาติ และจะเป็นช่องทางทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบได้นั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง)
นายวสันต์ สาทร ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ว่า กรณีดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับส่วนกลาง เป็นนโยบายที่ขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดสามารถออกประกาศข้อบังคับหรือมาตรการในการควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าวได้ เมื่อจังหวัดใดเห็นว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวในจังหวัดหนักข้อขึ้นทุกวัน หรือหน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดเห็นพ้องกันว่าเกิดปัญหา ก็สามารถออกข้อห้ามต่างๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันมีหลายจังหวัดแล้วที่ห้ามไม่ให้แรงงานต่างด้าวใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะมีปัญหามาก โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำให้เกิดปัญหาการโยกย้ายงานของแรงงานต่างด้าวได้ง่าย การนัดแนะไปพบ ตลอดจนผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงต่างๆ
ด้าน นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ก่อนที่ทางจังหวัดจะออกประกาศได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องของแรงงานกันมาหลายครั้ง ทั้งนี้ เพราะแรงงานที่เข้ามาทำงานในพื้นที่นั้นมีหลายกลุ่ม และบางกลุ่มบางคนก็ออกมาสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และหากมีการลุกฮือขึ้นมาก็ไม่สามารถที่จะควบคุมดูแลได้ ทางคณะกรรมการจึงได้เรียกร้องให้ออกขึ้นมาเพื่อควบคุมดูแล และการออกประกาศนั้นก็ยึดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และเป็นการดำเนินการตามกฎหมายไทย ที่จะจัดให้มาอยู่ในระเบียบต่างๆ ซึ่งคิดว่าทำได้หมด
แต่อย่างไรก็ตามการออกประกาศดังกล่าว ก็ไม่ได้บังคับเด็ดขาด ในเรื่องของการใช้โทรศัพท์มือถือนั้นมีการผ่อนปรนในส่วนของแรงงานที่ต้องการใช้มือถือ แต่จะต้องได้รับการรับรองจากนายจ้าง และนายจ้างจะต้องรับผิดชอบในเรื่องของการใช้โทรศัพท์ของแรงงานต่างด้าว และคิดว่าไม่เป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนแน่นอน
ส่วนกรณีที่กล่าวว่า การออกประกาศนั้นจะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการหาเงินหรือบีบบังคับแรงงานต่างด้าว ตนเชื่อว่าคงไม่มีข้าราชการที่ไม่ดี ไปเรียกรับค่าเสียหายจากแรงงานต่างด้าว เพราะทางจังหวัดมีกฎหมายเอาผิดอย่างชัดเจน ส่วนคดีต่างๆ ที่เกิดจากการกระทำของแรงงานต่างๆ ด้าว ในจังหวัดภูเก็ต มีเป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของฉกชิงวิงราว ทำร้ายร่างกาย ทะเลาะกันเอง เล่นการพนัน และอื่นๆ
นายนิรันดร์กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดภูเก็ต มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และ กัมพูชา ที่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานกับนายจ้างในกิจกรรมต่างๆ ในปี 2549 2550 (มิ.ย.49-มิ.ย.50) จำนวน 32,070 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน ความปลอดภัยในชีวิต และ ทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงความมั่นคงของสังคมด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่สืบเนื่องมาจากแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างมีระเบียบ และ เป็นระบบจังหวัดภูเก็ตจึงได้ดำเนินมาตรการทางปกครองขึ้น โดยออกเป็นประกาศจังหวัดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 จำนวน 10 ข้อ โดยการห้ามแรงงานต่างด้าวออกนอกสถานที่พักอาศัย หลังเวลา 20.00 น. และหากมีความจำเป็นที่จะต้องออกนอกสถานที่พัก ก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง
ส่วนในเรื่องของการใช้โทรศัพท์มือถือของแรงงานต่างด้าวให้ถือปฏิบัติตามนโยบาย ด้านความมั่นคงของจังหวัด คือ ให้นายจ้างจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวผู้ใช้โทรศัพท์พร้อมหมายเลขทะเบียน และ ชื่อนามสกุลเจ้าของเครื่อง และซิมการ์ดส่งให้จังหวัดทุกคน ให้นายจ้างจัดที่พักอาศัยให้กับแรงงานต่างด้าวโดยคำนึงถึงความสะอาด และความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ มีห้องน้ำ ห้องส้วม เพียงพอกับจำนวนคน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด นายนิรันตร์กล่าว
ขณะที่นางกาญจนาภา กี่หมัน ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า ผู้ที่คัดค้านเรื่องดังกล่าว พูดเพียงสองประเด็นเท่านั้น คือ เรื่องของการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ และการห้ามออกจากที่พักอาศัยหลังเวลา 22.00 น. ส่วนในประเด็นอื่นๆ ไม่ออกมาพูดถึง เช่น ให้นายจ้างเคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว และให้นายจ้างดูแลในเรื่องของสุขอนามัย ความสะอาดในที่พักอาศัย
ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวด้วยว่าก่อนที่จังหวัดระนองจะออกประกาศดังกล่าว มีผู้ประกอบการหรือนายจ้าง มาบ่นให้ฟังว่า ลูกจ้างต่างด้าวมีการใช้โทรศัพท์มือถือคุยกัน เป็นภาษาพม่า ซึ่งนายจ้างไม่มีสิทธิรู้เลยว่าคุยกันเรื่องอะไร และหลังจากที่ได้ออกประกาศดังกล่าวไปแล้ว ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ก็พอใจในมาตรการดังกล่าว การควบคุมเป็นการให้ใช้โทรศัพท์มือถือในข้อจำกัด ไม่ได้ควบคุมเสียทีเดียว และไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย แต่จะคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ
ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า การที่จังหวัดออกประกาศฉบับดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ว่าจะห้ามแรงงานต่างด้าวใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด แต่จะห้ามในบางกรณีเท่านั้น ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาถูกต้อง และมีใบอนุญาตทำงาน สามารถมีและใช้โทรศัพท์มือถือได้ทุกเวลา ไม่มีใครว่าอะไร แต่จะห้ามเฉพาะแรงงานที่เข้ามาไม่ถูกต้องและรอการส่งตัวกลับเท่านั้น
แต่หากจำเป็นต้องใช้ก็ให้นายจ้างแจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือให้จังหวัดทราบ เพื่อจะได้ควบคุมได้ และแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ยังสามารถใช้โทรศัพท์สาธารณะได้ ตามปกติ ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดระนองมีปัญหาเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ หรือชนกลุ่มน้อยอาระกัน หรือโรฮิงญา เมื่อมีการจับกุมและตรวจสอบลงไป พบว่า มีการใช้โทรศัพท์มือโทรติดต่อกันไปหาผู้กระทำความผิด
ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวอีกว่า ในส่วนของการห้ามออกนอกสถานที่พักหลัง 22.00 น. นั้น ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่มีความจำเป็นต้องออกไปทำงานในโรงงาน หรือสถานประกอบการต่างๆ ก็สามารถเดินทางได้ตามปกติเช่นกัน หรือกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ เช่น เจ็บไข้ ก็ออกไปหาหมอได้ หากองค์กร หรือหน่วยงานใดยังไม่เข้าใจ ทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พร้อมที่จะชี้แจง เพื่อให้เกิดความกระจ่างในกรณีดังกล่าว
ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, เว็บไซต์คมชัดลึก และ ผู้จัดการออนไลน์