Thai / English

นักวิชาการแนะตั้ง ‘ธนาคารลูกจ้าง’ ดันปล่อยกู้ กระตุ้นกำลังซื้อ


ประชาไท
19 .. 50
ประชาไท

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยว่า หากรัฐบาลต้องการรักษากำลังซื้อของประชาชนไว้ควรจะแบ่งเงินจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 10% ของเงินที่มีอยู่ประมาณ 400,000 ล้านบาท หรือเป็นเงินประมาณ 40,000 ล้านบาทมาปล่อยกู้ให้กับกลุ่มลูกจ้างทุกประเภทซึ่งมีอยู่เกือบ 17 ล้านคน เป็นกำลังซื้อที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็น 43% ของกำลังซื้อของคนทั้งหมดในประเทศ ขณะที่ภาคธุรกิจมีกำลังซื้อคิดเป็นสัดส่วน 17% ส่วนภาคชนบทมีกำลังซื้อ 21% เท่านั้น

ทั้งนี้ สาเหตุที่กำลังซื้อของกลุ่มลูกจ้างทั้งหมดมีสัดส่วนสูง เนื่องจากกลุ่มลูกจ้างเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากกว่าอาชีพอื่นๆ โดยคนไทยประมาณ 65 ล้านคน เป็นกลุ่มคนที่เป็นกำลังแรงงานประมาณ 36 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มลูกจ้างเกือบ 17 ล้านคน ขณะที่เกษตรกรมีประมาณ 12 ล้านคนเท่านั้นและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนอาวุโส

จำนวนเงิน 40,000 ล้านบาทที่แบ่งมาจากกองทุนประกันสังคม จะเป็นเหมือนเงินทุนประเดิมที่เอามาปล่อยกู้ให้กับลูกจ้างและข้าราชการ โดยรัฐบาลจะต้องคิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมประมาณ 7-7.5% บวกกับเงินที่หักไว้เป็นเงินกองทุนในการทำธนาคารลูกจ้างอีก 10% รวมเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายในการกู้ยืมประมาณ 17% ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอัตราที่สูง แต่หากเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของหนี้ส่วนบุคคลที่กลุ่มลูกจ้างได้กู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ ก็ยังถูกกว่า และเงินที่ได้มาสุดท้ายก็จะเข้าไปสู่กองทุนประกันสังคมที่จะได้อัตราดอกเบี้ยประมาณ 6-6.5%

ส่วนธนาคารของรัฐที่ดำเนินการปล่อยกู้ ก็อาจจะได้ค่าดำเนินการประมาณ 1% ส่วนเงินที่หักไว้อีกประมาณ 10% ก็จะเก็บไว้ในธนาคารลูกจ้างซึ่งลูกจ้างเป็นเจ้าของเองไม่ใช่ภาคเอกชน

ทั้งนี้เงินที่แบ่งมาจากกองทุนประกันสังคมจำนวนประมาณ 40,000 ล้านบาทดังกล่าว สุดท้ายกองทุนก็จะได้เงินคืน โดยรัฐบาลจะต้องขอให้นายจ้างๆ ต่างๆ ทำหน้าที่ในการหักเงินกู้ยืมคืนผ่านระบบการจ่ายเงินเดือน

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่าธนาคารลูกจ้างที่จัดตั้งจากเงินที่หักไว้จากเงินที่ให้กู้ยืมนั้น เพื่อเป็นการรองรับภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพราะจะเป็นแหล่งกู้ยืมและฝากเงินของกลุ่มลูกจ้าง โดยลูกจ้างจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่จัดการบริหารและเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างที่กู้ยืมเงินหรือไม่ก็ตาม ทำให้ธนาคารดังกล่าวเป็นเหมือนฐานเงินทุนของกลุ่มลูกจ้างทั่วประเทศซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องการมีภูมิคุ้มกัน

รศ.ดร.ณรงค์ ชี้ว่าประโยชน์ของการทำธนาคารลูกจ้างนั้น นอกจากการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงเพราะทำให้ลูกจ้างมีเงินมาใช้จ่ายเพิ่มและส่งให้กับพ่อแม่ในต่างจังหวัดได้ใช้เงินด้วย แล้วเงินดังกล่าวยังเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้างกู้ยืมได้ด้วย เพราะปกติลูกจ้างทั่วไปจะกู้ยืมธนาคารได้ค่อนข้างยากทำให้ต้องหันไปกู้นอนแบงก์ต่างๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง

ขณะเดียวกัน นายจ้างเองก็อาจจะได้ประโยชน์ในแง่ของการกู้ยืมเงินจากธนาคารลูกจ้างไปสร้างที่อยู่ให้กับคนงานหรือกู้ไปพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นต้นซึ่งจะช่วยในเรื่องการพัฒนาขีดความแข่งขันให้กับลูกจ้างได้อีกทางหนึ่งด้วย

สาเหตุที่ รศ.ดร.ณรงค์เสนอให้ใช้วิธีการนำเงินประกันสังคมมาปล่อยกู้ให้กับลูกจ้างโดยตรง เพราะหากใช้เงินภาษีอาจจะมีปัญหา เนื่องจากปัจจุบันรายรับภาษีก็มีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และในอนาคตยังอาจจะต้องปรับลดภาษีลงอีก ขณะเดียวกัน ในส่วนของกองทุนประกันสังคมเองหากนำเงินไปลงทุนพันธบัตร ก็ได้ผลตอบแทนไม่ถึง 5% การนำมาปล่อยกู้ดังกล่าวจึงได้ผลตอบแทนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในการนำวิธีการดังกล่าวไปใช้นั้น รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่าทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องมีวิสัยทัศน์มองให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระจายรายได้จึงจะยอมรับให้ธนาคารประเภทดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้วิธีคิดดังกล่าว คล้ายกับประเทศในยุโรปที่เกษตรกรเป็นเจ้าของธนาคารเกษตร 100% หรืออย่างบางประเทศก็เอาเงินจากสหภาพแรงงานมาตั้งธนาคาร แต่เนื่องจากประเทศไทยมีสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 3 แสนคน แต่มีสมาชิกประกันสังคมถึง 9 ล้านคน การนำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า

นอกจากวิธีการดังกล่าว รศ. ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังยังต้องลงทุนในโครงการต่างๆ ที่จะทำให้ภาคเอกชนลงทุนตาม เช่นการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ซึ่งจะทำให้มีการก่อสร้าง และการจ้างงานต่อเนื่องจากการลงทุน รวมทั้งควรใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วย เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยจูงใจให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ขณะนี้ไม่มีเงินในการพัฒนาธุรกิจสามารถกู้ยืมไปลงทุนได้ แต่การลดอัตราดอกเบี้ย หากลดมากเกินไปก็ไม่ดีเพราะหากดอกเบี้ยต่ำ พันธบัตรของ ธปท.ที่ใช้ดูดสภาพคล่องในระบบการเงินจะขายได้ยาก อีกทั้งคนที่ฝากเงินที่ต้องการผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยก็จะได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมด้วยดังนั้นจึงควรปรับลดในระดับที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป โดยการลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.5-0.6% ถือเป็นระดับที่ไม่มากเกินไป

ที่มา : เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น

โดย : ประชาไท วันที่ : 19/4/255