Thai / English

จัดการต่างด้าวเหลวทะลักลงใต้ดินปีละ 2แสนคน


เดลินิวส์
15 .. 50
เดลินิวส์

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายวสันต์ สาทร ผอ.สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว(สบต.) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีนักวิชาการระบุว่านโยบายการขึ้นทะเบียนการทำงานของแรงงานต่างด้าวแบบปีต่อปีประสบความล้มเหลวเนื่องจากทำให้แรงงานต่างด้าวไม่มาขึ้นทะเบียนส่งผลให้จำนวนแรงงานต่างด้าวหายไปปีละ 2 แสนรายจากเดิมที่มีอยู่ 8 แสนรายว่า ปัญหานี้เกิดจากระบบการบริหารจัดการที่ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กรมการปกครอง และกรมการจัดหางาน ยังมีรูปแบบการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ส่งผลให้สถิติจำนวนแรงงานต่างด้าวในระบบหายไปโดยหลบไปอยู่ใต้ดินเฉลี่ยปีละ30%ของยอดแรงงานต่างด้าวทั้งหมดและในปี 50นี้จำนวนแรงงานต่างด้าวได้หายไป30%หรือประมาณ 2 แสนราย

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นจะต้องมีระบบการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวตามชายแดนที่ชัดเจนเพื่อหาคำตอบว่าแรงงานต่างด้าวที่หายไปยังอยู่ในประเทศไทยหรือเดินทางกลับแล้วและที่อยู่ในประเทศได้มีการเปลี่ยนนายจ้างใหม่หรือเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ทำให้นายจ้างเดิมต้องเสียโอกาสการใช้งานแรงงานต่างด้าว ขณะเดียวกันนายจ้างใหม่ก็ไม่สามารถรับแรงงานกลุ่มนี้เข้าทำงานได้เพราะไม่มีโควตาและไม่ทราบว่าจะแจ้งย้ายออกนอกจังหวัดอย่างไรส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบเมื่อไม่มีกลไกตรวจสอบที่ชัดเจนก็นับว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคง

“บอกตามตรงว่า ขณะนี้ไม่ว่าหน่วยงานไหนก็พูดไม่ได้ว่า แรงงานต่างด้าวที่หายไปเกิดลูกหลานมากสักเท่าสไหร่ มันยากต่อการตรวจสอบ ในแง่ของกฎหมายจะให้ออกกฎหมายห้ามแรงงานต่างด้าวเปลี่ยนนายจ้างก็ไม่ได้ เพราะถ้าเกิดกรณีถูกกดขี่ หรือนายจ้างเลิกกิจการ คนเหล่านี้ก็จะหลบอยู่ใต้ดิน สิ่งที่จะดำเนินการได้คือ กระทรวงแรงงานกำลังเร่งรัดออก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.... เพื่อให้เข้าครม.มีผลบังคับใช้ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้จะอนุญาตให้บริษัทจัดหางาน เข้ามาดำเนินการดูแลแรงงานต่างด้าวทั้งการจดทะเบียน การควบคุม ทำให้ลดภาระของรัฐบาล ที่สำคัญกฎหมายยังอนุญาตให้เรียกเก็บเงินค่าออกโควตา รวมไปถึงการให้คำจำกัดความครอบคลุมกับแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มชายแดน กลุ่มที่ต้องทำเอฟทีเอ ทั้งหมดนี้จะทำให้การตรวจสอบการจัดการแรงงานต่างด้าวมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น”นายวสันต์ กล่าว

อนึ่งปี 2548 มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชามาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน จำนวน 926,185 คน เป็นการออกใบอนุญาตใหม่สำหรับแรงงานที่มี ทร.38/1 จำนวน 220,892 คน ต่อใบอนุญาตทำงาน 705,293 คน แยกเป็นพม่า 131,347 คน ลาว 8,617 คน และกัมพูชา 7,150 คน มีแรงงานในภาคเกษตรมากที่สุด 37,374 คน รองลงมาคืองานรับใช้ในบ้าน 27,250 คน กิจการก่อสร้าง 25,582 คน เป็นลำดับ และในปี 2549 มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติมาขึ้นทะเบียนทั้งสิ้นจำนวน 746,358 คน แบ่งเป็นพม่า 568,878 คน กัมพูชา 48,362 คน และ ลาว 51,336 คน ดังนั้นตั้งแต่ปี 2548 จึงมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติหายไปจากระบบปีละกว่า 2 แสนคน