Thai / English

แรงงานไทยในฟาร์มนอร์ธคาโรไลน่า ฟ้องบริษัทนายหน้าผิดสัญญา


ประชาไท
29 .. 50
ประชาไท

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเมืองลาลีห์ รัฐนอร์ธ คาโรไลน่า รายงานเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ถึงคดีการฟ้องร้องโดยสำนักงานกฎหมายเพื่อประชาชน (Legal Aid) ในนามของแรงงานสัญชาติไทยจำนวน 22 คน เรียกค่าเสียหายจากอดีตเจ้าของบริษัทมิลเลี่ยน เอ็กเพรส แมนพาวเวอร์ ในเมืองเมาท์ โอลีฟ รัฐนอร์ธ คาโรไลน่า และเจ้าของฟาร์มอีกสองแห่ง โดยคำฟ้องระบุว่าจำเลย “ยักยอกเงิน-ฉ้อโกง-ไม่จ่ายค่าแรง” ที่แรงงานไทยสมควรได้รับจากการทำงานในฟาร์ม รวมถึงกักขังและข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย โดยคำฟ้องร้องดังกล่าว เรียกร้องเงินค่าแรงย้อนหลัง ค่าแรงชดเชย บวกกับค่าเสียหายเป็นเงินที่ไม่เปิดเผย

เนื้อข่าวยกเรื่องราวของแรงงานไทยคนหนึ่งชื่อ เมืองมล อาสานก วัย 28 ปี เคยมีรายได้เพียงไม่ถึงปีละ 500 ดอลลาร์ในประเทศไทย ดังนั้นเมื่อทราบว่างานฟาร์มในอเมริกาจ่ายค่าแรงมากกว่า 8 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง จึงยอมจำนองที่นาเพื่อนำเงินจำนวน 11,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 385,000 บาท) มาจ่ายให้บริษัทนายหน้าชื่อ มิลเลี่ยนเอ็กเพรส แมนพาวเวอร์ ให้วิ่งเต้นขอวีซ่าแรงงานเกษตรตามฤดูกาล (H2A) อายุสามปีให้ ก่อนจะจากภรรยาและบุตรวัยทารกมาทำงานอเมริกา และต่อมาพบว่าเสร็จจากงานหนักในฟาร์มแล้ว ตัวเองตกอยู่ในสภาพเหมือนนักโทษในอาคารเก็บของแห่งหนึ่งข้างทางด่วนในจอห์นตัน เคาน์ตี ร่วมชะตากรรมกับเพื่อนแรงงานจากประเทศไทยอีกหลายคน

กรมแรงงานของรัฐนอร์ธ คาโรไลน่า ระบุว่า รัฐนี้ก็เหมือนรัฐกสิกรรมอื่นๆ ทั่วประเทศที่ตกอยู่ในสภาพขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ที่ผ่านมา แรงงานในฟาร์มต่างๆ เป็นแรงงานจากประเทศแม็กซิโก ซึ่งมีสหภาพแรงงานคอยดูแลสวัสดิการของแรงงานอย่างเข้มแข็ง แต่ในช่วงระหว่างปี 2004-2006 ได้เกิดมีบริษัทนายหน้าแรงงานขึ้นหลายแห่ง ยื่นข้อเสนอแรงงานจากต่างด้าวจากเอเชีย ในราคาที่ถูกกว่า

ข่าวได้อ้างคำสัมภาษณ์ของ ลิบบี้ ไวท์ลีย์ ผู้บริหารบริษัทนายหน้าแรงงานชื่อ เอ็มเอสเลเบอร์ ในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งกล่าวว่า บริษัทนายหน้าของแรงงานจากเอเชียเหล่านั้น ให้สัญญากับเจ้าของฟาร์มว่าจะนำคนงานมาให้ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรนอกจากค่าแรงของคนงาน เพราะบริษัทนายหน้าจะหักค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งค่าเดินทางมาอเมริกาจากคนงานเอง นั่นทำให้บริษัทนายหน้าลักษณะนั้นได้รับความนิยม และเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในรัฐนี้

ในช่วงระหว่างปี 2004-2006 นั้น ทนายความเคท วูเมอร์ ดีเตอร์ แห่งสำนักงานกฎหมายเพื่อประชาชนของรัฐนอร์ธ คาโรไลน่า กล่าวว่ามีการนำเข้าแรงงานจากเอเชียมาทำงานในรัฐนี้อย่างน้อย 115 คน แต่ส่วนใหญ่ไม่อยากออกมาฟ้องร้อง เพราะยังอยากจะทำงานต่อไป และว่าทางสำนักงานของตน เป็นตัวแทนฟ้องร้องเรียกความยุติธรรมให้กับแรงงานไทย 22 คนและแรงงานจากอินโดนีเซียอีก 3 คน ที่บอกว่าพวกตนถูกเก็บเงินคนละ 6,000 ดอลลาร์เพื่อเป็นค่านายหน้าในการเดินทางมาทำงานฟาร์มในอเมริกา ก่อนจะถูกส่งไปทำงานโรงงานในเมืองชาร์ลอต

เนื้อข่าวยังอ้างคำสัมภาษณ์เจ้าของบริษัทมิลเลี่ยนเอ็กเพรสแมนพาวเวอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลย ที่กล่าวว่า ฟาร์มบางแห่งไม่พอใจแรงงานแม็กซิกันที่เก็บเกี่ยวพืชผลให้เขา จึงมองหาแรงงานจากที่อื่น

ข่าวระบุว่า แรงงานชั่วคราวจากประเทศแม็กซิโก ซึ่งเป็นแรงงานที่มีปริมาณมากที่สุดนั้น ทุกคนอยู่ภายใต้การปกป้องของสหภาพแรงงาน ซึ่งสามารถเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ สูงกว่าที่รัฐบาลกำหนด โดยข่าวระบุว่าค่าแรงของผู้ถือวีซ่าแรงงานชั่วคราว H2A ในรัฐนอร์ธ คาโรไลน่านั้น ปัจจุบันสูงกว่า 9 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง นั่นทำให้เจ้าของฟาร์มในรัฐนี้ พยายามหาทางออก เช่น รวมตัวก่อตั้งเป็นสมาคมผู้เพาะปลูกแห่งนอร์ธ คาโรไลน่า (เอ็นซี โกรวเวอร์ เอสโซซิเอชั่น) ดำเนินการเปิดรับสมัครแรงงานจากประเทศแม็กซิโกเข้ามาทำงานในฟาร์มของสมาชิก โดยรับผิดชอบค่าเดินทางและค่ายื่นเอกสารต่างๆ ให้กับแรงงานทั้งหมด จนปี 2004 สมาคมผู้เพาะปลูกฯ อยู่ในสภาพอ่อนแอ เพราะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหลายคดี เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้ในปีนั้น สมาคมผู้เพาะปลูกฯ ต้องหันมาใช้บริการแรงงานในฟาร์มจากสหภาพแรงงานฯ อีกรอบ โดยคราวนี้ต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย

ดังนั้นเมื่อได้รับข้อเสนอจากบริษัทนายหน้าแรงงาน เรื่องแรงงานจากเอเชีย ซึ่งราคาถูกกว่าแรงงานจากแม็กซิโก ฟาร์มต่างๆ จึงนิยมใช้บริการ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายสุขภาพและความปลอดภัย ของกระทรวงแรงงานรัฐนอร์ธ คาโรไลน่า กล่าวว่า ฟาร์มควรตรวจสอบนายหน้าจัดหาแรงงานที่ยื่นข้อเสนอเรื่องแรงงานจากประเทศไกลๆ ด้วยราคาต่ำๆ ให้ดี เพราะกฎหมายกำหนดว่า เจ้าของฟาร์มจะต้องรับภาระค่าเดินทางให้แรงงาน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ค่าเดินทางเพียงอย่างเดียวก็จะทำให้ฟาร์มต้องจ่ายเป็นพันเหรียญขึ้นไปต่อแรงงานหนึ่งคน.

ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เอพีรายงานข่าวความต้องการแรงงานภาคเกษตรในรัฐวอชิงตัน ที่กำลังพุ่งขึ้นสูงในฤดูเก็บเกี่ยวแอ็ปเปิลและเชอร์รี่ที่กำลังจะมาถึง โดยระบุว่าแรงงานจากประเทศไทย ที่ทำงานเก็บเกี่ยวอยูในฟาร์มเมืองยาคิม่าแวลเล่ย์เมื่อปีที่ผ่านมา มี 170 คน และในปีนี้ความต้องการจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็น 1,000 คน

ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ทำให้เจ้าของฟาร์มหลายรายเกิดความกังวล เพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังเข้มงวดกับการปราบปรามแรงงานผิดกฎหมาย ขณะเดียวกัน มาตรการต่างๆ สำหรับผ่อนคลายปัญหาแรงงาน เช่นโปรแกรมแรงงานชั่วคราว หรือ Guest-worker program ก็ยังคงไม่มีวี่แววว่าจะผ่านสภา เพราะถูกกดดันจากหลายๆ ฝ่าย รวมถึงนักล็อบบี้จากกลุ่มนักกฎหมายที่ยืนอยู่ข้างแรงงานท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าหากโปรแกรมแรงงานชั่วคราวมีผลบังคับใช้ จะทำให้ความต้องการแรงงานท้องถิ่นหมดความสำคัญ

รวมทั้งระบุว่าแรงงานจากเอเชียในภาคเกษตรของสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐฯ มายาวนาน โดยอ้างคำกล่าวของอีริค นิโคลสัน แห่งสหภาพแรงงาน ยูไนเต็ตฟาร์มเวิร์คเกอร์ ภูมิภาคแปซิฟิกนอร์ธเวสท ที่ระบุว่า ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา แรงงานจากประเทศจีนคือแรงงานหลักในฟาร์มต่างๆ ก่อนจะถูกทดแทนโดยแรงงานจากญี่ปุ่น ที่ถูกมองว่าขยันและทำงานหนักกว่า จากนั้นก็เป็นยุคของแรงงานจากฟิลิปปินส์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นแม็กซิกัน

“เรากำลังเห็นวัฎจักรเดิมอีก ขณะที่แรงงานแม็กซิกันเริ่มรวมตัวกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือความพยายามทดแทนแรงงานกลุ่มนี้ด้วยแรงงานจากประเทศไทย” อีริค นิโคลสัน กล่าว

ไม่ว่าท่าทีจากกลุ่มที่คัดค้านเกสต์เวิร์คเกอร์โปรแกรม จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะแรงงานท้องถิ่นมีไม่เพียงพอ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรในสหรัฐฯ กำลังเผิชญหน้า โดยเอพี อ้างข้อมูลจากซีแอตเติลไทมส์ ซึ่งสัมภาษณ์ จอห์น เวอร์เบิร์ค ผู้จัดการฟาร์มกล้วยไม้แห่งหนึ่งว่า เขาคิดว่าแรงงานจากต่างประเทศคือคำตอบของปัญหาเฉพาะหน้า จนกว่าสิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้น และว่าบริษัทนายหน้าแรงงานของไทย เช่นบริษัทโกเบิลเฮอร์ไรซ่อน ในลอส แอนเจลิส นั้น คงจะนำเข้าแรงงานจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นหลายร้อยคนในปีนี้

ไทยทาวน์ฯ ระบุว่า ได้ติดต่อไปยังปรานี ทับชุมพล ฝ่ายประสานงานต่างประเทศของบริษัทโกเบิลเฮอร์ไรซ่อน ถึงความคืบหน้าเรื่องการนำเข้าแรงงานไทยภายใต้วีซ่าเกษตร หรือวีซ่า H2A ซึ่งในช่วงเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา กงสุลสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้ระงับการให้วีซ่าชนิดนี้อย่างสิ้นเชิง หลังจากพบว่าแรงงานไทยส่วนมากหลบหนีสัญญาหลังจากเดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯ แล้ว โดยได้รับคำตอบว่า กงสุลอเมริกันประจำประเทศไทย ยังไม่เปลี่ยนท่าทีในเรื่องนี้

นอกจากนี้ เอพียังระบุข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติในสหรัฐฯ อีกหลายประเด็น เช่นความต้องการแรงงานในปีนี้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐวอชิงตันมีแผนจะปลูกเชอร์รี่เพิ่มขึ้น และระยะเวลาเก็บเกี่ยวจะตรงกับฤดูเก็บเกี่ยวของแคลิฟอร์เนีย อีกทั้งชาวลาติโน่รุ่นใหม่ มีงานให้เลือกมากขึ้น และให้ความสนใจงานด้านเกษตรน้อยลงกว่าชาวลาติโน่รุ่นก่อน

ที่มา ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์

โดย : ประชาไท วันที่ : 29/3/2550