Thai / English

218 โรงพยาบาลเอกชนจี้สปส. ไม่เพิ่ม 4 พันล้านเลิกรักษาลูกจ้าง


มติชน
29 .. 50
เครือมติชน

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซอยศูนย์วิจัย พญ.ประภา วงศ์แพทย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงพร้อมด้วย นพ.นพดล นพคุณ รองประธานชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบงานพัฒนาประกันสังคม นพ.พิพัฒน์ พงศ์รัตนามาน ที่ปรึกษาชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบงานพัฒนาประกันสังคม ว่า โรงพยาบาลเอกชน 218 แห่ง จะไม่สมัครเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เพราะสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไม่มีคำตอบเรื่องการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวที่ชัดเจน ทั้งที่เสนอมาหลายครั้งจนกว่า สปส.จะแจ้งว่าอัตราค่าบริการในปี 2551 ว่าจะปรับเพิ่มเป็นเท่าใดเพราะพยาบาลรับภาระเพิ่มสูงถึง 40% จึงต้องการให้ สปส.เร่งพิจารณาเพราะผู้ประกันตนที่มาใช้บริการจำนวน 6 ล้านคนจะเดือดร้อน "งบฯค่ารักษาพยาบาลรายหัวของประกันสังคมจ่ายให้ 1,250 ต่อคนต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับงบฯรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จ่ายให้ถึง 2,096 บาทถือว่าแตกต่างกันมาก" พญ.ประภากล่าว

นพ.พิพัฒน์แถลงว่า สมาคมโรงพยาบาลและชมรมสุดทนกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยที่ประกันสังคมไม่มีความชัดเจนและออกข่าวเสมือนว่า โรงพยาบาลเป็นผู้ร้ายชอบถลุงเงิน สปส.ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิดทั้งเพ อยากให้เข้าใจว่าเรารับภาระไม่ไหวจริงๆ ซึ่งการทำงานของผู้บริหาร สปส.ที่ผ่านมาไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน ใช้อารมณ์มากกว่า โรงพยาบาลจึงอยากได้รับความยุติธรรม

ทางด้านนายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สปส.ไม่ได้ละเลยข้อเสนอของโรงพยาบาลเอกชน คณะกรรมการการแพทย์ได้เสนอขอเพิ่มงบฯรายหัวบวกค่าใช้จ่ายโรคร้ายแรงให้เพิ่มเป็นหัวละ 40 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณประมาณ 400 ล้านบาท แต่เรื่องนี้ตัวแทนของโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ด้วยไม่พอใจต้องการให้ปรับงบฯรายหัวเพิ่มจาก 1,250 บาท เป็น 1,537 บาท บวกกับเงินภาระเสี่ยงอีกรายละ 384 บาท เท่ากับว่า สปส.ต้องใช้งบฯเพื่อการนี้ถึง 4 พันล้านบาท ทำให้ต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิประโยชน์ของ สปส. โดยเสนอให้ปรับลดวงเงินรายหัวจาก 1,250 เป็น 1,358 พร้อมกับเงินภาระเสี่ยง หัวละ 339 บาท ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่เป็นข้อยุติ ต้องตั้งคณะกรรมการกลางเข้ามาศึกษาวิจัยเพื่อตัวเลขค่าหัวที่เหมาะสม

"หากสิ้นปี 2550 ปัญหาเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติก็เป็นสิทธิที่โรงพยาบาลเอกชนจะไม่เข้าร่วม สปส.คงต้องให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบาล ขณะนี้โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลวชิรพยาบาลมีความต้องการผู้ประกันตนอีกเยอะ ทั้งนี้ สปส.ขอยืนยันว่าค่าใช้จ่ายรายหัวของ สปส.กับ สปสช.มีความแตกต่างกัน เนื่องจาก สปส.นอกจากจะให้งบฯค่าใช้จ่ายรายหัวแล้วยังมีเงินค่าภาระเสี่ยงให้ด้วย ขณะที่ สปสช.รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้แค่ก้อนใหญ่ก้อนเดียว" นายสุรินทร์กล่าว

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10610 หน้า 10