Thai / English

สหภาพฟอร์ดมาสด้า ยื่นหนังสือ ‘บิ๊กแอ้ด’ กรณี ‘ไทยซัมมิท’ เลิกจ้างสมาชิกสหภาพ 260 คน


ประชาไท
15 .. 50
ประชาไท

ประชาไท – 15 พ.ค. เวลาประมาณ 10.30 น. สมาชิกสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย และ สมาชิกสหภาพแรงงานภาคตะวันออก จำนวนกว่า 50 คน เดินทางมาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาพนักงานบริษัทไทยซัมมิท อีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี จำกัด จำนวน 260 คน ซึ่งถูกสั่งเลิกจ้างงานตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2549เพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองกับบริษัทมากขึ้นหากมีสหภาพแรงงาน

นอกจากนี้ กลุ่มผู้เรียกร้องยังได้ชี้แจงปัญหาการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงาน, นายจ้างไม่ปฏิบัติตาม พรบ. ประกันสังคม, การเลิกจ้าง, การกดดันให้พนักงานลาออก, การทำลายการรวมตัวของคนงาน ฯลฯ ซึ่งกรณีต่างๆนั้น ทางสหภาพแรงงานฯได้เรียกร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็น นายอำเภอปลวกแดง, ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน, สหพันธ์แรงงานยานยนต์ แห่งประเทศไทย ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานดังกล่าว พร้อมกันนั้นยังมีการแจก ‘แถลงการณ์กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก’ ด้วย

ต่อมา ประมาณ 11.15 น. กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งใส่เครื่องแบบพนักงานสีฟ้ากว่า 50 คน เคลื่อนขบวนจากหน้าทำเนียบรัฐบาลไปหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมชุมนุมกับกลุ่มองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) และกระจายกำลังกันไปตามทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลหลายประตู

นายสมศักดิ์ ศุขยอด ประธานสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย กล่าวว่า จะมีการสลายการชุมนุมเมื่อได้รับคำตอบจากนายกรัฐมนตรี

แถลงการณ์กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

The Eastern Union Group

ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานนำไปสู่การเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงาน

เรียน เพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ประชาชน และสื่อมวลชนทุกท่าน

เนื่องด้วยกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันตกซึ่งมีสมาชิกเป็นสหภาพแรงงานฯและเป็นองค์กรของลูกจ้างที่ทำงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และใกล้เคียง ได้รับความเดือนร้อนจากการที่ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งเนื่องจากการจัดตั้งสหภาพแรงงานฯ ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ลูกจ้างสามารถกระทำได้ และมีการละเมิดสิทธิแรงงานต่างๆมากมายโดยเฉพาะแรงงานลูกจ้างเหมาค่าแรงในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์

ตามที่รัฐบาลได้นโยบายสนับสนุนการลงทุน นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกมากมายโดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ได้มีการย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆในเขตภาคตะวันออก เมื่อมีการจ้างงานมากขึ้นปัญหาที่ตามมาคือ การเอาเปรียบและขูดรีดแรงงานมากขึ้น

ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายอื่น เช่น การที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตาม พรบ.ประกันสังคม โดยที่นายจ้างมีการหักประกันสังคมแล้วแต่ไม่มีการนำจ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม หรือการไม่ได้รับสิทธิตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 เช่น การลาป่วยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้างควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และปัญหาที่สำคัญคือ การละเมิดสิทธิแรงงานในการรวมตัวกันของลูกจ้างในการจัดตั้งสหภาพฯ โดยใช้วิธีการกลั่นแกล้งแกนนำสหภาพแรงงานต่างๆ ด้วยการขออนุญาตศาลแรงงานลงโทษหรือด้วยการกลั่นแกล้งโดยการโยกย้ายหน้าที่งานหรือเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เพื่อให้ผู้นำสหภาพแรงงานฯไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้ เช่น สหภาพแรงงานมิกาซ่าซึ่งส่วนมากเป็นพนักงานหญิงทำลูกฟุตบอล ให้ประธานและกรรมการสหภาพฯพักงานโดยที่ไม่มีความผิดแต่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ และมีอีกหลายสหภาพแรงงานฯที่พบกับปัญหาไม่แตกต่างกัน

จากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากทางภาคตะวันออก เช่น เมื่อเดือนตุลาคม 2549 นายจ้างบริษัทเกียรติพิบูล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา ย้ายกิจการหนีทำให้ลูกจ้างหญิง 40 กว่าคนต้องตกงาน

และต่อมาเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2549 พนักงานบริษัทเซิงลิมโดไทย จำกัด ทำรองเท้าไนกี้ ที่ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ถูกปิดโรงงานลอยแพลูกจ้างโดยอ้างว่าบริษัทฯขาดทุน พนักงานหญิงกว่า 450 คน ซึ่งปัจจุบันพนักงานยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย

ในเดือนธันวาคม 2549 บริษัทซัมมิทอีสเทิร์น ซีบอร์ด อินดัสตรี จำกัด ได้ปิดงานเฉพาะส่วนสมาชิกสหภาพแรงงานโดยไม่ยอมรับการมีสหภาพแรงงานเนื่องจากพนักงานได้ไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย ขณะที่ประกาศปิดงาน นายจ้างก็ใช้วิธีการต่างๆเพื่อเป็นการบีบคั้นให้พนักงานต้องได้รับความเดือดร้อนจนสุดท้ายต้องพาคนงานเข้าไปที่กระทรวงแรงงานแต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข และสุดท้ายสหภาพแรงงานต้องพาพนักงานมาที่ศาลากลางจังหวัดระยองแต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลาร่วมเดือนจนสุดท้ายคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้นายจ้างเปิดงานและชี้ขาดประเด็นพิพาทแรงงาน แต่ในปัจจุบันนายจ้างก็ยังไม่ให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ประมาณ 260 คน เข้าทำงาน และยังได้เลิกจ้างแกนนำและสมาชิกสหภาพแรงงานอีก 11 คน

และต่อมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 บริษัท เวิร์นพรีซีซั่น ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมชลบุรี (บ่อวิน) เลิกจ้างลูกจ้างหญิงกว่า 650 คน โดยอ้างเหตุผลว่าขาดทุนทั้งที่ในความเป็นจริงตลอดปี 2549 ที่ผ่านมานายจ้างเปิดให้พนักงานทำงานล่วงเวลามาโดยตลอดแสดงว่าบริษัทไม่ได้ขาดทุนอย่างแท้จริง และต่อมาหลังจากนั้นนายจ้างได้มีการจ้างงานพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานแทนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างไปโดยเป็นการลดต้นทุนอย่างหนึ่งของนายจ้าง นี่เป็นเพียงบางส่วนของปัญหาเท่านั้นที่เกิดขึ้นแต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ ซึ่งแตกต่างจากพนักงานของไอทีวี ซึ่งเมื่อถูกเลิกจ้างกลับไม่มีหน่วยงานต่างๆของรัฐยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ รัฐไม่ได้ให้ความสนใจลูกจ้างระดับรากหญ้าซึ่งเป็นฐานทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติให้เห็นอย่างชัดเจนถ้ารัฐยังเลือกปฏิบัติอย่างนี้จะเรียกได้ว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตยได้อย่างไร และที่ยิ่งเลวร้ายไปกว่านั้น เดือนมกราคม 2550 พนักงานในโรงงานเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นมือขาดแต่นายจ้างกลับไม่เหลียวแลและบริษัทฯไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆเลย

ในวันที่ 12 มีนาคม 2550 สมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นอนุกรรมการสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย ถูกเลิกจ้างโดยอ้างเหตุผลว่าทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายโดยใช้คำพูดว่าพนักงาน “ก่อวินาศกรรม” โดยจากการสอบสวนของบริษัทฯนั้นไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าพนักงานได้ทำความผิดจริงหรือไม่อย่างไร และการสอบสวนก็เป็นการสอบสวนแต่เพียงพยานของบริษัทฯแต่เพียงฝ่ายเดียวทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรม

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 สหภาพแรงงานไทยออโต้เพรสพาร์ท ซึ่งนายจ้างเป็นชาวไทยคือบริษัทไทยรุ่งยูเนียนคาร์ถือหุ้น 100% ได้มีการเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างทั้งคณะโดยไม่ขออนุญาตศาลแรงงานแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลในการเลิกจ้างว่า “กรรมการสหภาพแรงงานพูดจาเสียงดัง” เป็นการละเมิดกฎหมายชัดเจนและนายจ้างได้มีการเกลี้ยกล่อมให้พนักงานลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และได้บอกกับกรรมการสหภาพฯที่ถูกเลิกจ้างว่า “ไม่สามารถที่จะยอมรับสหภาพแรงงานได้ถ้ามีสหภาพแรงงานไทยออโต้เพรสพาร์ทก็จะไม่มีบริษัทฯ ถ้าบริษัทฯก็ต้องไม่มีสหภาพแรงงานไทยออโต้เพรสพาร์ท” ทั้งที่ผ่านมานั้นสหภาพฯพยายามใช้หลักแรงงานสัมพันธ์แบบทวิภาคีมาโดยตลอด ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2550 สหภาพแรงงานฯได้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่และได้จัดสรรตำแหน่งและแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อประธานสหภาพฯคนใหม่กลับเข้าไปทำงานในกะกลางคืน นายจ้างได้เรียกประธานสหภาพแรงงานคนใหม่ไปพบและบอกเลิกจ้างโดยเหตุผลว่าเพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างขององค์กร และในเช้าของวันต่อมาก็ได้เรียกร้องประธานสหภาพฯเข้าพบและกดดันจนรองประธานสหภาพฯต้องลาออกจากงานในที่สุด

จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการรวมตัวของนายจ้างเพื่อที่จะล้มล้างสหภาพแรงงานอย่างเป็นขบวนการโดยมีที่ปรึกษาของนายจ้างจากส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอดีตหัวหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรืออดีตวุฒิสมาชิกซึ่งอดีตเคยเป็นแกนนำของลูกจ้างมาก่อน และที่ปรึกษานายจ้างอีกหลายคนที่เคยทำงานในกระทรวงแรงงานก็ร่วมเข้ามาหากินกับนายจ้างในภูมิภาคนี้ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งบริษัทเหมาค่าแรงหรือขายอุปกรณ์ความปลอดภัยและอุปกรณ์สำนักงานต่างๆให้กับบริษัทที่เข้าไปให้คำปรึกษา ดังนั้นกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเจ้าหน้าที่ของรัฐควรดูแลผู้ใช้แรงงานและประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียมกัน

ด้วยจิตคารวะ

กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก