รุดช่วย 2 หนุ่มบุรีรัมย์เหยื่อแก๊งค้ามนุษย์-ถูกมอมยาอุ้มไปเป็นทาสเรือประมงผู้จัดการออนไลน์ 12 .. 50 ผู้จัดการ ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมฯ บุรีรัมย์ รุดให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน 2 หนุ่มวัยรุ่นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์ หลังโดนมอมยาสลบอุ้มขึ้นรถตู้ไปฟื้นอีกทีอยู่บนเรือประมงกลางทะเล ถูกกดขี่แรงงานนานกว่า 7 เดือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างก่อนจะถูกนำขึ้นฝั่งมาทิ้งไว้ที่สถานีรถไฟ พร้อมประสานตำรวจติดตามสาวถึงขบวนใหญ่มาดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันนี้ (12 มี.ค.50) นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ พร้อม นายสุริยัณห์ อภัยจิตต์ นักพัฒนาสังคม 7 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้เดินทางไปตรวจสอบและช่วยเหลือ นายวิรัตน์ หรือ ต่อ ก้อนเงิน อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 130 และ นายพงษ์เทพ หรือ ท็อป ไกรสร อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 117 ทั้งสองอยู่หมู่ 7 บ.คูบัว ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์
ทั้งนี้ เนื่องจากได้รับแจ้งจากครอบครัวว่า เด็กหนุ่มทั้ง 2 ถูกแก๊งค้ามนุษย์วางยาสลบหลังลงจากรถโดยสารประจำทางขณะเดินไปเข้าห้องน้ำที่สถานีขนส่งหมอชิต กรุงเทพมหานคร เมื่อเช้ามืดวันที่ 23 มิ.ย.2549 ที่ผ่านมา แล้วลักพาตัวขึ้นรถตู้ ไม่ทราบยี่ห้อ หมายเลขทะเบียนไป และรู้สึกตัวอีกครั้งเมื่ออยู่บนเรือประมงลอยลำอยู่กลางทะเลระหว่างน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ถูกกดขี่แรงงานมานานกว่า 7 เดือน ค่อยส่งขึ้นฝั่งกลับบ้านเกิดท่ามกลางความสลดใจของญาติพี่น้อง ซึ่งก่อนหน้านี้คิดว่าทั้งสองได้หายสาบสูญไปอย่างไม่หวนกลับแล้ว
นายพงษ์เทพ ไกรสร เล่าว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2549 ได้นั่งรถโดยสารประจำทางไปกับนายวิรัตน์ ก้อนเงิน ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกันเพื่อจะไปทำงานกับ นายสง่า ไกรสร พ่อ ซึ่งทำงานก่อสร้างอยู่กรุงเทพฯ เนื่องจากอยู่บ้านไม่มีงานทำ หลังจบ ม.3 ไม่ได้เรียนต่อเพราะครอบครัวมีฐานะยากจน แต่พอลงจากรถที่สถานีขนส่งหมอชิต กรุงเทพฯ ช่วงประมาณ 05.00 น. ก็พากันเดินเข้าห้องน้ำ โดยมีกลุ่มชายฉกรรจ์เดินสวนมาแต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร
หลังจากนั้นตนกับนายวิรัตน์ก็หมดสติ ไปรู้สึกตัวอีกครั้งอยู่บนเรือประมงกลางทะเลอย่างไม่คาดฝันและหวาดกลัว โดยภายในเรือมี ใต้ก๋งเรือ 1 คน ช่างเครื่อง 1 คน คนทำกับข้าว 1 คน รวมทั้งคนที่ถูกวางยาลักพาตัวมา ขณะนอนพักอยู่สนามหลวงอีก 2 คน เป็นชาว จ.เชียงราย และ กรุงเทพ อายุประมาณกว่า 30 ปี รวมกับตนและนายวิรัตน์ทั้งหมด 7 คน
ขณะอยู่บนเรือถูกสั่งให้ทำงานกู้อวน จับปลา คัดปลา หากเป็นช่วงเดือนมืดจะปล่อยอวน 2 ครั้งตอน 5 โมงเย็น และ 2 ทุ่ม ช่วงเดือนหงายจะต้องทำงานหนักปล่อยอวนจับปลาทั้งกลางวันกลางคืน ได้กินข้าวเพียงวันละ 2 มื้อ เช้าและเย็นเท่านั้น อยากจะกลับบ้านแต่ก็ไม่กล้าร้องขอใต้ก๋งเรือ เพราะกลัวจะถูกทำร้ายหรือฆ่าทิ้ง ตนทั้งสองจึงจำต้องทนรับชะตากรรมยอมทำงานหนักทุกอย่างตามคำสั่ง เพื่อให้มีชีวิตรอดหวังเพียงจะได้กลับบ้านมาพบหน้าพ่อแม่อีกสักครั้ง
จนเวลาผ่านไปนานกว่า 7 เดือน เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2550 ที่ผ่านมา ใต้ก๋งได้พาขึ้นฝั่งและไปส่งทิ้งไว้ที่สถานีรถไฟ จ.นครศรีธรรมราช และให้เงินคนละ 3,000 บาท พร้อมอ้างว่านายหน้าที่นำมาส่งได้เบิกเงินค่าตัวไปหมดแล้ว จากนั้นจึงได้พากันเดินทางกลับบ้านที่ จ.บุรีรัมย์ ดังกล่าว
ด้าน นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ กล่าวว่า จากที่ลงมาตรวจสอบในพื้นที่พบว่าเด็กที่หายตัวไปได้ถูกลักพาตัวไปเพื่อเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และเด็กทั้งสองต้องตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงานในเรือประมงนานถึง 7 เดือน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งจะได้ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น
ส่วนเรื่องการดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำความผิด หรือการดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายกับกลุ่มกระบวนการดังกล่าว เบื้องต้นจะได้นำข้อมูลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ไปประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนกลางในการที่จะสืบหาเบาะแส และติดตามดูพฤติการณ์ของกลุ่มแก๊งที่ยังวนเวียนอยู่ตามสถานีขนส่งต่างๆ หากมีความคืบหน้าก็จะประสานงานกับผู้เสียหาย เพื่อจะได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือชี้เบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป
จากสถิติข้อมูลพลว่า ขณะนี้ทางศูนย์ข้อมูลคนหายได้รับแจ้งเหตุคนหายจำนวน 750 ราย สามารถติดตามตัวกลับมาได้ประมาณ 70 % ส่วนมากจะเป็นการลักพาตัว การล่อลวงเพื่อทางเพศ และการล่อลวงเพื่อแรงงาน ซึ่งถือว่าขณะนี้เป็นภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนหายเป็นอย่างมาก
ทางด้าน นายสุริยัณห์ อภัยจิตต์ นักพัฒนาสังคม 7 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวคาดว่าเด็กทั้ง 2 คน ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ ส่วนด้านการให้ความช่วยเหลือ ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนประกอบอาชีพ หรือเงินฉุกเฉินไปแล้วรายละ 1,900 บาท พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น จากนั้นก็จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์
ส่วนการช่วยเหลือระยะยาวนั้นทางพัฒนาสังคมฯ ก็พร้อมจะให้การสนับสนุนทั้งสองไปฝึกอาชีพที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีความรู้ด้านการประกอบอาชีพและมีงานทำ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มกระบวนการดังกล่าวต่อไป นายสุริยัณห์ กล่าว |