สปส.ไฟเขียวเพิ่ม"สิทธิเงินทดแทน"คุ้มครองค่ารักษา 3 แสน-ทำศพ 3 หมื่นมติชน 28 .. 50 เครือมติชน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (เลขาธิการ สปส.) เปิดเผยว่า สปส.ได้พิจารณาแก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินทดแทน โดยปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลขั้นต้นให้ผู้ประกันตน จาก 35,000 บาท เป็น 45,000 บาท เพิ่มค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยในการทำงาน จาก 2 แสนบาท เป็น 3 แสนบาท ปรับค่าทดแทนให้ลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันแรก จากเดิมที่จ่ายให้กับลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานได้เกิน 3 วัน ปรับเพิ่มค่าทดแทนรายเดือนให้ลูกจ้างจาก ร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน ปรับเพิ่มเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้างไม่เกิน 15 ปี เป็นจ่ายตลอดชีวิตในกรณีที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ "ส่วนการปรับเพิ่มค่าทดแทนกรณีตาย จากเดิมจ่าย 8 ปี เป็น 12 ปี สำหรับค่าทำศพ ปรับเพิ่มจาก 19,100 บาท เป็น 3 หมื่นบาท ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฎหมายของกระทรวงแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นจะเสนอร่างกฎหมายไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป" นายสุรินทร์กล่าว และว่า สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนเงินทดแทน สปส.ในปี 2549 จัดเก็บเงินสมทบได้ 2,814.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 จำนวน 300.74 ล้านบาท และจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่เจ็บป่วย/ประสบอันตรายสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพและเสียชีวิต เป็นจำนวนเงิน 1,702.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 จำนวน 64.09 ล้านบาท สำหรับแผนการลงทุนของกองทุนเงินทดแทนในปี 2550 จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 55 หุ้นกู้เอกชน ร้อยละ 25 และเงินฝากธนาคาร ร้อยละ 20 น.ส.นิรมล กีรติสิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนทดแทน สปส. กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนเงินทดแทนมี 21,371 ล้านบาท ในปี 2549 ได้จ่ายเงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย ประสบอันตราย สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตให้กับลูกจ้าง 204,257 ราย เป็นเงิน 1,702 ล้านบาท หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว คาดว่าต้องนำเงินกองทุนทดแทนไปจ่ายเพิ่มอีกกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ยืนยันว่าไม่กระทบต่อกองทุนมากนัก "สปส.ต้องการให้นายจ้างใส่ใจปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน หากนายจ้างสถานประกอบการใด ไม่เข้มงวดหรือจัดการลดความเสี่ยงในการทำงาน สปส.จะดำเนินการเก็บเงินสมทบจากเดิมที่จ่ายร้อยละ 0.2-1 เป็นเพิ่มตามความเสี่ยงแต่ไม่เกินร้อยละ 2.5" น.ส.นิรมลกล่าว และว่า กรณีนายจ้างไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทนนั้น หากนายจ้างไม่แก้ไขจะใช้วิธีอายัดทรัพย์นายจ้างแทน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10581 หน้า 10 |