Thai / English

เปิดรายงานแฉอุตสาหกรรมไฮเทคในไทย ปล่อยสารพิษปนเปื้อนแหล่งน้ำ


ประชาไท
24 .. 50
ประชาไท

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.50 กรีนพีซเปิดรายงานชิ้นใหม่ “มลพิษจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์: การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสิ่งแวดล้อมระหว่างการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งหักล้างความเชื่อที่ว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมสะอาด ข้อมูลในรายงานดังกล่าวแสดงชัดว่าบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยี่ห้อดัง รวมถึงบริษัทในเครือต่างกำลังก่อปัญหามลพิษทางน้ำในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น มีการปนเปื้อนสารพิษจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในแม่น้ำและบ่อน้ำใต้ดินในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยสารเคมีอันตรายหลายชนิด

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บจากนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมทั้งน้ำเสียและตัวอย่างอื่นๆ ที่เก็บจากโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์ 4 แห่ง พบว่ามีการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายจำนวนมากในน้ำเสียจากโรงงานเหล่านี้ซึ่งท้ายสุดก็ไปจบที่แม่น้ำลำคลอง โรงงานดังกล่าวประกอบด้วย โรงงาน Elec & Eltek (EETH) ในจังหวัดปทุมธานี โรงงาน CKL Electronics ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน โรงงาน KCE Technology ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และโรงงาน PCTT ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

น้ำเสียจากโรงงาน EETH ในไทย ปนเปื้อนทองแดงในปริมาณสูงที่สุด เมื่อเทียบจากตัวอย่างที่เก็บจากแหล่งอื่นทั้งหมด โดยมีปริมาณสูงเกือบสองเท่าของค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงงานในไทย ตัวอย่างน้ำใต้ดินที่เก็บจากบริเวณใกล้นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค พบว่ามีปริมาณการปนเปื้อนนิกเกิล สูงกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และสูงกว่าค่ามาตรฐานของคุณภาพน้ำใต้ดินของไทยเกือบ 5 เท่า

นอกจากนี้ยังพบว่า โรงบำบัดน้ำเสียรวมของนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งในไทยที่มีโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์ตั้งอยู่ ยังไม่สามารถกำจัดสารพิษออกไปได้ทั้งหมด

“ในช่วง 2-3 มานี้ เราได้เห็นความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ความสนใจมักมุ่งไปที่การปนเปื้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการกำจัด หรือ ‘การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์’ การที่เราพบว่ามีการปนเปื้อนเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการผลิต ทำให้เห็นชัดว่า เราจะสามารถเข้าใจถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ได้นั้น ก็ต่อเมื่อมีการศึกษาตลอดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์” ดร. เควิน บริกเดน นักวิทยาศาสตร์จากกรีนพีซกล่าว

การวิจัยยังได้ครอบคลุมถึงการปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดินหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ ซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยประเภทคลอรีน (VOCs) และโลหะเป็นพิษหลายชนิดรวมทั้งนิกเกิล การปนเปื้อนสารเคมีในน้ำใต้ดินเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะชุมชนในพื้นที่หลายพื้นที่ใช้น้ำใต้ดินสำหรับทำน้ำดื่ม

“ในขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มักอ้างตัวว่าเป็นอุตสาหกรรมสะอาด แต่จากสถานการณ์จริงที่พบในโรงงานหลายแห่ง รวมทั้งที่อยู่ในประเทศไทยกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย อุตสาหกรรมนี้กำลังก่อปัญหามลพิษทางน้ำในประเทศเพิ่มมากขึ้น และหากพิจารณาจากปริมาณแหล่งน้ำสะอาดที่กำลังลดลงแล้ว ปัญหานี้จะรอต่อไปไม่ได้” กิตติคุณ กิตติอร่าม ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมระดับโลก มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนเฉพาะต่างๆ ตั้งอยู่ทั่วโลก ซึ่งมักมีกระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรและสารเคมีจำนวนมาก และมีการปล่อยของเสียอันตรายซึ่งก็ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบเท่าที่ควร

“มันน่าตกใจที่มีข้อมูลเปิดเผยน้อยมาก ที่สามารถระบุชัดว่าโรงงานผลิตชิ้นส่วนแห่งใดส่งให้กับบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยี่ห้อใด บริษัทยี่ห้อสินค้าต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการปนเปื้อนในแหล่งน้ำพอๆ กับโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้เหล่านั้น และจำเป็นต้องมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อที่บริษัทยี่ห้อสินค้าจะได้ถูกบังคับให้รับผิดชอบต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตสินค้าของพวกเขา” กิตติคุณกล่าวเสริม

การใช้สารพิษจำนวนมากในกระบวนการผลิต ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อคนงานจากการสัมผัสในที่ทำงาน

“การปนเปื้อนที่น่าเศร้าและไม่ได้รับการกล่าวถึงที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ซึ่งซ่อนเร้นภายใต้ระบบซัพพลายเชนที่ไม่เปิดเผยต้องหมดไป โรงงานผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านี้และบริษัทยี่ห้อสินค้าที่รับชิ้นส่วนมาจะต้องถูกตรวจสอบโดยละเอียด และต้องหยุดก่อมลพิษ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังคงอยู่ในตำแหน่งที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุดและมีอนาคตในเชิงเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง จึงไม่มีเหตุผลว่าเหตุใดอุตสาหกรรมนี้จะไม่ควรจะเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ไร้สารพิษ การทดแทนด้วยวัสดุที่ปลอดภัยกว่า การปกป้องสุขภาพคนงานที่ดีขึ้น และการป้องกันการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่แหล่งกำเนิด” กิตติคุณ สรุป

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้ออกกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น ในเรื่องการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยน้ำทิ้งที่มีในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ระบุในรายงานชิ้นนี้ ซึ่งก็ยังหละหลวมเกินไปที่จะลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้

รายงานฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) สามารถดาว์นโหลดได้ที่ http://www.greenpeace.org/raw/content/international/press/reports/cutting-edge-contamination-a.pdf

โดย : ประชาไท วันที่ : 24/2/2550