Thai / English

"อภัย" จี้นายจ้างจ่ายชดเชยคนงานโรงงานยางใต้


กรุงเทพธุรกิจ
23 .. 50
กรุงเทพธุรกิจ

กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยลูกจ้างโรงงานยางเหยื่อโจรใต้ จี้นายจ้างจ่ายชดเชยตามกฎหมายหากเลิกจ้าง ฟุ้งตีทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่-อุดหนุน 400 ล้านช่วยผู้ประกอบการกระตุ้นเศรษฐกิจใต้

นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงแนวทางการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุคนร้ายบุกเผาโรงงานรมยางของ บริษัทเซาท์ แลนด์ รับเบอร์ จำกัด สาขายะลา จ.ยะลา ว่า ได้รับรายงานว่ามีลูกจ้างได้รับผลกระทบจำนวน 314 คน ซึ่งคงต้องรอผลของการดำเนินการจากบริษัท ว่าจะจ้างงานต่อไปหรือจะเลิกจ้าง ทั้งนี้ตนได้สั่งให้สวัสดิการแรงงานจังหวัด เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยโดยใช้หลักแรงงานสัมพันธ์ และหากมีการเลิกจ้างนายจ้างก็จะต้องรับผิดชอบ โดยต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ซึ่งอายุงาน 1 ปีแต่ไม่ถึง 3 ปีจะได้รับเงินค่าชดเชยจำนวน 3 เดือนของค่าจ้างเดือนสุดท้าย และทำงาน 3 ปีแต่ไม่เกิน 6 ปี จะได้รับเงินชดเชยจำนวน 6 เดือน ทำงานมาแล้ว 6 ปีแต่ไม่เกิน 10 ปีจะได้รับค่าชดเชย 8 เดือน ทำงานเกินกว่า 10 ปีจะได้รับ 10 เดือน เป็นต้น

นอกจากนี้คนงานเหล่านี้ก็จะได้รับเงินค่าช่วยเหลือตามสิทธิกรณีว่างงาน จากสำนักงานประกันสังคมอีกคน 50% ของค่าจ้างเป็นระยะเวลา 6 เดือน อีกทั้งลูกจ้างจะได้รับเงินจากกองทุนสวัสดิการลูกจ้างเป็นจำนวนเงินคนละ 1 เดือน

นายอภัย กล่าวด้วยว่า แนวทางในการช่วยเหลือสนับสนุนระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เบื้องต้นได้สนับสนุนเงินจำนวน 400 ล้านบาท เพื่อให้สถานประกอบการนำไปเป็นทุนประกอบการโดยขณะนี้มีสถานประกอบการใน จ.ยะลาแจ้งความจำนงขอมาแล้ว 12 ราย จ.ปัตตานี 5 ราย นอกจากนี้ยังจะเพิ่มมาตรการขยายเวลาส่งเงินสมทบประกันสังคม ซึ่งนายจ้าง ลูกจ้างหากมีความต้องการ ก็เสนอเข้ามาได้ สปส.พร้อมที่จะดำเนินการ

นอกจากนี้การดำเนินการแก้ไข ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น ขณะนี้กำลังเปิดให้ต่ออายุการทำงานแรงงานต่างด้าวและจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่เฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีระยะเวลาการดำเนินการภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมาตรการทั้งหมดเชื่อว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคใต้ได้เป็นอย่างดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นขณะนี้มีผู้ใช้แรงงานประมาณ 56,702 คน สถานประกอบการ 4,928 แห่ง โดย จ.ยะลา มีผู้ใช้แรงงาน 19,617 แห่ง สถานประกอบการ 1,516 แห่ง ปัตตานี ผู้ใช้แรงงาน 22,108 คน สถานประกอบการ 1,749 แห่ง และจ.นราธิวาส ผู้ใช้แรงงาน 14,977 คน สถานประกอบการ 1,663 แห่ง