Thai / English

'ยูเอสซีอาร์ไอ' จัดเสวนาเปิดตัวในไทยชี้แรงงานข้ามชาติยังได้การคุ้มครองน้อย


ประชาไท
26 .. 50
ประชาไท

ประชาไท – 26 ม.ค. 2550 สำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอสซีอาร์ไอ) ประจำประเทศไทย จัดการเสวนาเรื่อง ‘สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย: ปัจจุบันและอนาคต’ ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสเปิดสำนักงานประจำประเทศไทย

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งสำหรับผู้ลี้ภัยมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามฝิ่นที่คนจีนทะลักเข้ามาในไทยเป็นแสนๆ คน หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งคนที่ถูกกดดันทางการเมือง หลายคนที่อยู่ในประเทศก็ไม่ใช่คนไทยแท้ๆ มีทั้งคนที่ไทยไปต้อนมาก็มีมาจากทั้ง จำปา เขมร มอญ คนเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของประเทศไทย ไม่เคยมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแต่ไทยแท้ๆ เพียงอย่างเดียว และไทยเองก็เริ่มคุ้นกับการอยู่กับคนชาติอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐไทยเริ่มนิยาม คนที่เข้ามาจากต่างประเทศว่าเป็นผู้ลี้ภัย ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือหากหาได้ก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ จะเป็นคนไทยก็ไม่ได้ และลูกหลานก็ไม่ได้สัญชาติไทยและไม่ได้สิทธิขั้นพื้นฐานใดๆ ไปด้วย

นอกจากนี้เวลาไปเยือนค่ายลี้ภัย พบว่า คนแสนกว่าคนยังย่ำอยู่กับที่ ทั้งที่อยู่ในไทยมา 20กว่าปี บางคนเกิดในไทยแต่พูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่ได้รับการสอนภาษาไทย ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปไหน ทำไมรัฐไทยจึงไม่ให้คนกะเหรี่ยงมีชีวิตนอกค่าย มีอาชีพและมีเสรีภาพมากกว่านี้

ทั้งนี้ นโยบายเรื่องผู้ลี้ภัยนั้นขึ้นกับนโยบายของแต่ละรัฐบาล ที่แย่ที่สุดคือ รัฐบาลทักษิณที่แลกชีวิตของประชาชนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจล้วนๆ และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยทะเลาะกับ UNHCR โดยกล่าวว่า UNHCR ทำตัวเป็นรัฐเอกเทศ ทำอะไรไม่เคยปรึกษารัฐบาล ทั้งที่มีการประชุมกันทุกเดือนกับสภาความมั่นคง

นายไกรศักดิ์ กล่าวอีกว่า การที่ทักษิณป่าวประกาศอย่างนั้น เพราะต้องการมีธุรกิจโทรคมนาคมกับลูกชายของนายขิ่นยุ้น โดยนโยบายที่เหี้ยมโหดของทักษิณทุกวันนี้ยังคงอยู่ ทั้งที่เศรษฐกิจไทยจะไม่ทำงานหากขาดชาวพม่าในไทยที่ไม่ได้อยู่ในค่ายกว่าล้านคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน หรือสมุทรปราการ

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า คลีนิคหมอซินเทียซึ่งรักษาผู้ป่วยพม่า ที่แม่สอด จ.ตาก จะถูกไล่ออกไปพม่า ซึ่งเมื่อได้ลงพื้นที่แล้วพบว่า ทุกโรงพยาบาลล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่มีคลีนิคนี้จะมีโรคระบาดไปทั้งจังหวัด นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องคงไว้

นายบรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้นายทุนส่วนใหญ่พยายามไปตั้งโรงงานบริเวณชายแดน เพราะปลอดสหภาพแรงงาน แรงงานข้ามชาติก็ไม่มีปากเสียง ค่าแรงถูก และยังได้รับการส่งเสริมการลงทุน

โดยแรงงานพม่าที่ทำงานในโรงงานนั้นส่วนใหญ่ทำงานตั้งแต่ 8.00-17.00 น. บางครั้งมีงานเร่งด่วนก็ทำตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อทำงานล่วงเวลา 6 ชั่วโมงกลับได้เพียงมาม่าหนึ่งห่อ ทั้งที่ค่าแรงขั้นต่ำกำหนดอยู่ที่ 140 กว่าบาท แต่เดือนหนึ่งผู้หญิงพม่าที่ทำงานเย็บผ้า หรือเฟอร์นิเจอร์จะได้เงินเดือน 1200-1400 บาท

สำหรับความปลอดภัยในการทำงานนั้น เมื่อจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวถูกต้องแล้ว นายจ้างมักยึดบัตรไว้ ทำให้แรงงานออกนอกพื้นที่ไม่ได้ เมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงานก็ไม่สามารถใช้เงินจากกองทุนเงินทดแทนได้ เพราะไม่มีบัตร หรือเมื่อออกนอกพื้นที่ ก็ถูกจับหรือรีดไถจากเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ยังขาดอำนาจต่อรอง เพราะพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์กำหนดให้คนไทยเท่านั้นที่ตั้งสหภาพได้แรงงานต่างด้าวจึงไม่สามารถตั้งสหภาพ หรือเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพได้

ขณะนี้ ทางสภาฯ เองก็พยายามผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานให้คุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติมากขึ้น เพราะเราเองก็ไม่อยากเจอปัญหาแบบนี้เวลาไปทำงานในประเทศอื่นเช่นกัน